Lifestyle

BNK48 แฟรนไชส์นี้ ขายอะไร?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

    ถามถึงวิธีการสร้างรายได้ แน่นอนการทำธุรกิจไม่ใช่ทำมูลนิธิ วิธีการหาเงินจากธุรกิจนี้ ดูแล้วเหมือนจะเป็น “แฟรนไชส์ขายของผ่านไอดอล”นั่นเอง

          อะไรที่ทำให้ฝั่งไทยคิดเดินตามรอยธุรกิจ “ไอดอล” ของแดนปลาดิบ ตามหลังเขาถึง 13 ปี ! ถ้าไม่ใช่เพราะความแรงที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่า ปังแน่ !!

          ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง วง “BNK48” ไอดอลไทย วง “น้องสาว” ของ “AKB48” ไอดอลสาวจากประเทศญี่ปุ่น

 

BNK48 แฟรนไชส์นี้ ขายอะไร?

ภาพจากhttp://disney.wikia.com/wiki/File:AKB48.jpg

 

          แต่ถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ ในพื้นที่จำกัด ขอคัดเนื้อๆ มาเล่าสู่กันฟัง

          13 ปีก่อน นักลงทุนญี่ปุ่น ยาสุชิ อะกิโมโตะ (ผู้ก่อตั้ง) เกิดหัวใสตั้งวงไอดอลสาวในชุดนักเรียนกระโปรงสั้นขึ้นมา ในคอนเซปต์ “ไอดอลในชุดนักเรียน ที่ทุกคนสามารถพบปะได้ทุกวัน”

          โดยมีการรับสมัครและเฟ้นหาจนสามารถเปิดตัว สมาชิก AKB48 รุ่นแรก 21 คน ในเดือนตุลาคม 2548

          วิธีการเข้าถึงไอดอลสาวเหล่านี้คือ พวกเธอจะมีการแสดงที่ “โรงละคร” หรือ “เธียเตอร์” ในตึก “ดอนกิโฆเต้” ย่านอากิฮาบาระ มีการแสดงหมุนเวียนทุกวันให้แฟนๆ ได้เข้ามาชื่นชมตัวจริง

          แต่ด้วยความแปลกใหม่ ช่วงแรกจึงไม่ปังอย่างที่คิด ซิงเกิลแรกขายได้สี่หมื่นกว่าแผ่น แต่ทั้งทีมงาน และสาวๆ ก็อดทนฟันฝ่ามาจนเริ่ม “ซึมลึก” และประสบความสำเร็จในที่สุดหลังจากเปิดตัวครั้งแรกถึง 4 ปี!

          โดยเพลง RIVER ที่เดิมทีนักแต่งเพลงของทีม ตั้งใจแต่งวัดดวง ก่อนที่ทางต้นสังกัดจะยุบวงทิ้ง แต่ปรากฏว่า “รุ่งสุดๆ”

 

BNK48 แฟรนไชส์นี้ ขายอะไร?

          เพราะวางขายครั้งแรก 21 ตุลาคม 2552 ทำยอดขาย 179,000 แผ่นในสัปดาห์แรก กระชากวงให้ขึ้นมาจากหลุมดำขึ้นมาจนได้และสวยสดงดงามยิ่ง จน AKB48 เป็นที่ขานรับไปทั่ว และธุรกิจยังคงดำเนินต่อเนื่องมาได้จนถึงปัจจุบัน

          หันมามาดูฝั่งไทย ในภาพรวม BNK48 ซึ่งออกเสียงว่า “บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต” ก็ถือกำเนิดเกิดขึ้นตามรอยพี่สาวฟากโน้นเป๊ะ! โดยคงคอนเซปต์ “ไอดอลที่คุณสามารถไปพบได้”

          หลังเปิดออดิชั่นในปี 2559 หลายรอบจนพอใจ วันที่ 2 มิถุนายน 2560 ได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการกับสาวๆ ทั้ง 29 คน ในงาน “บีเอ็นเคโฟร์ตีเอตเดอะเดบิวต์” ศูนย์การค้า ดิ เอ็มควอเทียร์

          พร้อมซิงเกิลแรก “อยากจะได้พบเธอ” มี 3 เพลง คือ “อยากจะได้พบเธอ”, “ก็ชอบให้รู้ว่าชอบ” และ “365 วันกับเครื่องบินกระดาษ” แต่เพลงที่ปังสุดๆ คือ “คุกกี้เสี่ยงทาย” ที่เปิดตัวครั้งแรก ในคอนเสิร์ต “2017 โฟร์วันวัน แฟนดอมปาร์ตี้อินแบงคอก” ที่รอยัลพารากอนฮอลล์ ที่ออกวางจำหน่ายเมื่อ 20 ธันวาคม 2560

 

BNK48 แฟรนไชส์นี้ ขายอะไร?

ขอบคุณภาพจากเฟซบุค  BNK48

          เพราะจุดขาย ไม่ใช่หน้าตาดี หรือร้อง เล่น เต้นเก่ง แต่ต้องเป็นคนที่มีเสน่ห์ดึงดูดที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นก่อนจะมีวันนี้ สาวๆ ทั้งหมด (ปัจจุบันมี 28 คน) ต้องเก็บตัวฝึกฝนการร้อง และเต้น รวมไปถึงการสร้างบุคลิก เพื่อให้เหมาะสมกับความเป็น “ไอดอล”

          สมาชิกในทีม BNK48 24 คนแรกที่เป็นหลัก คือ เฌอปราง, ตาหวาน, ปัญ, อร, มิวสิค, เนย, แก้ว, แจน, เจนนิษฐ์, ปูเป้, ไข่มุก, โมบายล์, น้ำหนึ่ง, เคท, เจน, มิโอริ, จ๋า, แคน, มายด์, น้ำใส, อิสึรินะ, ซัทจัง ,จิ๊บและ ก่อน ส่วนสมาชิกที่เหลือ อีก 4 คนคือ เมษา เปี่ยม นิ้ง และ น้ำหอม จะเป็น “เคงคิวเซย์” หรือ “เด็กฝึกหัด” ที่ต้องฝึกฝนเตรียมพร้อมเผื่อได้มีซิงเกิลกับเขาบ้าง

          นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งเป็นสมาชิกที่เรียกว่า “เซ็นบัตสึ” อีก 16 คน ซึ่งก็เป็นคนในทีมหลักนั่นเอง

 

BNK48 แฟรนไชส์นี้ ขายอะไร?

ขอบคุณภาพจากเฟซบุค  BNK48

 

          และยังมีทีม BIII หรือ “บีทรี” ที่จะมีการแบ่งสถานะ เป็น “เมมเบอร์หลัก” และ “ตัวสำรอง” หรือที่เรียกว่า “อันเดอร์เกิร์ล” โดยในทีมยังมีการแบ่งเป็น “กัปตันทีม” “รองกัปตัน” อีกด้วย

          ทุกคนจะทำหน้าที่ตามหมายที่กำหนดขึ้น ใครติดภารกิจก็ให้ตัวแทนทำหน้าที่แทน ขณะที่หากใครจะต้องออกจากวง ก็จะเรียกว่า “จบการศึกษา” เช่นไปเรียนต่อ ฯลฯ

          ถามถึงวิธีการสร้างรายได้ แน่นอนการทำธุรกิจไม่ใช่ทำมูลนิธิ วิธีการหาเงินจากธุรกิจนี้ ดูแล้วเหมือนจะเป็น “แฟรนไชส์ขายของผ่านไอดอล”

          เพราะที่จริงไทยก็เป็นเหมือนอีกสาขาของญี่ปุ่น โดยยังมีไต้หวัน อินเดีย อินโดนีเซีย ที่ต่างก็มีวงไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปแบบเดียวกันเป๊ะ!

 

BNK48 แฟรนไชส์นี้ ขายอะไร?

ขอบคุณภาพจากเฟซบุค  BNK48

 

          ของไทยดำเนินการโดย “บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ” โดยเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท โรส อาร์ทิสท์ เมเนจเม้นท์ (90%) มี จิรัฐ บวรวัฒนะ เป็นประธานบริษัท และ บริษัท เอเคเอส จำกัด สัญชาติญี่ปุ่น (10%)

          และ ณัฐพล บวรวัฒนะ (น้องชาย) เป็นผู้จัดการวง โดยสาวๆ จะได้รับสัญญา 6 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาใหม่ได้

          จิรัฐ ในฐานะประธานบริษัทบีเอ็นเคโฟร์ตีเอต ออฟฟิศ เคยให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทลงทุนเป็นจำนวนเงิน 200 ล้านบาท ภายในปี 2560 และ 2561 โดยคาดหวังว่าจะคืนทุนได้ในปี 2562

          และการประชาสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย รายได้หลักมาจากการขายสินค้า การปรากฏตัวตามงานกิจกรรม และผู้สนับสนุนหลัก

          สำหรับ “ตู้ปลา” ของไทยอยู่ที่ “เอ็มควอเทียร์” ที่กิจกรรมจะยังมีผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กและยูทูบ

 

BNK48 แฟรนไชส์นี้ ขายอะไร?

ขอบคุณภาพจากเฟซบุค  BNK48

 

          นอกจากนี้ยังมี “เธียเตอร์” ชื่อว่า “บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต เดอะแคมปัส” ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 เดอะมอลล์บางกะปิ ไว้จัดกิจกรรม และจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการกุมภาพันธ์ นี้

          อย่างไรก็ดี ภายใต้ความสนุกสนานของการแสดงต่างๆ และการร่วมทุน แต่เนื้อหาคอนเทนต์ต่างๆ จะต้องอ้างอิงออริจินัลหมด

          ขนาดชื่อวง BNK48 แน่นอน BNK คือ Bangkok แต่ 48 ก็มาจาก ชื่อของประธานบริษัทฝั่งญี่ปุ่นคือ “ชิบะ โคทาโร่” โดยชิ คือ 4 และ บะ คือ 8

          นอกจากนี้ งานใดก็ตามที่อนุญาตให้สมาชิกวงไปปรากฏตัวสู่สาธารณะ งานนั้นต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ เกม หรือสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวกับญี่ปุ่น

          นี่ยังมีบรรดาของที่ระลึก ภาพถ่าย แม้แต่การขอจับมือ ทุกอย่างต้นสังกัดสั่งมาว่า ต้องนับเป็นเงินหมด!!

          หรือในรายการทีวี เช่น บีเอ็นเคโฟร์ตีเอต เซ็มไป ก็ยังมีรายการท่องเที่ยวญี่ปุ่นมาแทรกในช่วงท้าย ฯลฯ

          ส่วนเพลงต่างๆ ของทุกวง ไม่ว่าประเทศไหน จะต้องทำเพลงที่มีใน AKB48 หรือทางต้นฉบับญี่ปุ่นส่งมาให้ แล้วใส่เนื้อของภาษานั้นๆ

          หากจะทำเพลงเอง จะต้องทำหนังสือขออนุญาตจากต้นสังกัดญี่ปุ่นเท่านั้น

          อย่างเพลง “คุกกี้เสี่ยงทาย” ที่เราชอบกันนักหนาก็มาจากเพลงต้นฉบับชื่อ “Koisuru Fortune Cookie”

          บอกเลย...เห็นความปังตอนนี้แล้ว อาจต้องยอมใจ ให้แก่กระแสสื่อออนไลน์ และโนว์ฮาวจากฝั่งญี่ปุ่น ที่ทำให้ดูมีอนาคตสดใส !

          แต่ยังมีมุมที่เหลือคือ “จริตของคนไทย” ว่าจะชอบ “เจ-ป๊อป” แบบนี้ไปอีกนานแค่ไหนกัน!

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ