Lifestyle

พลเมืองฝรั่งเศส "จรัล ดิษฐาอภิชัย" จากภูพยัคฆ์ถึงปารีส

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จัก  จรัล ดิษฐาอภิชัย คลังสมองของฝ่าย "ต้านอำมาตย์" และเป็น "นักทฤษฎี" ของฝ่ายคนเสื้อแดง

         

          เมื่อเช้าวันที่ 26 ม.ค.2561 นักข่าวอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว Sa-nguan Khumrungroj แจ้งข่าวของคนไทยที่ชื่อ “จรัล ดิษฐาอภิชัย” โดยมีข้อความว่า "ชาวฝรั่งเศสเชื้อสายไทย คนล่าสุด--ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสาบานตนเรียบร้อยแล้ว" พร้อมกับภาพวันสาบานตนเป็นพลเมืองชาวฝรั่งเศส

 

 

พลเมืองฝรั่งเศส  "จรัล ดิษฐาอภิชัย"  จากภูพยัคฆ์ถึงปารีส

 

         

          ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 มิ.ย.ปีที่แล้ว จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้โพสต์เฟซบุ๊คระบุว่า “ข่าวร้าย ผมไม่ได้เป็นผู้ลี้ภัยการเมืองแล้ว ข่าวดี ได้สัญชาติฝรั่งเศส เป็นพลเมืองของสาธารณรัฐฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์”

 

          “จรัล” เดินทางออกจากเมืองไทย ก่อนหน้าที่จะเกิดรัฐประหาร 2557 โดยเขาประเมินสถานการณ์จากการชุมนุม กปปส. และเชื่อว่า มันจะตามมาด้วยการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร เขาจึงหลบหนีผ่านกัมพูชา และมีปลายอยู่ที่ฝรั่งเศส

 

          สองปีแรก จรัลร่วมกับ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการ องค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย และสื่อสารถึงคนเสื้อแดงในเมืองไทย 

 

พลเมืองฝรั่งเศส  "จรัล ดิษฐาอภิชัย"  จากภูพยัคฆ์ถึงปารีส

 

          แต่กระแสต้าน คสช.จุดไม่ติด ทั้งในและนอกประเทศ จรัลจึงถอยห่างจากองค์กรเสรีไทย และเมื่อได้เป็นพลเมืองฝรั่งเศส จรัลก็แทบจะไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ 

 

          จรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นคนพัทลุง เรียนคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่นใกล้เคียงกับ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มอิสระที่ชื่อ “สภาหน้าโดม” ซึ่งโด่งดังมากในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516

 

          ระหว่างปี 2517-2519 จรัลได้เข้าเป็นสมาชิก พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) รับผิดชอบการจัดตั้งเยาวชน นิสิตนักศึกษาในเมือง จรัลเป็นคนที่สัตย์ซื่อต่อลัทธิมาร์กซ์เลนิน และความคิดเหมาเจ๋อตง

 

          หลัง 6 ต.ค.2519 จรัลเข้าป่าทางเขตงานฐานที่มั่นเขาค้อ-หินร่องกล้าไปได้สัก 1 ปี ในปี 2521 ก็ถูกพรรคส่งไปนำเพื่อนฝูงโดยมีตำแหน่งเป็นถึงหัวสำนัก 61 แห่งฐานที่มั่น ภูพยัคฆ์ จังหวัดน่าน

 

          สำนัก 61 ภูพยัคฆ์ เป็นศูนย์รวมปัญญาชนปฏิวัติไทย การที่จรัลได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าสำนัก ย่อมบ่งชี้ถึงความไว้เนื้อเชื่อใจของคณะกรรมการกลาง พคท.

 

          ปี 2527 จรัลหอบความผิดหวังต่อการปฏิวัติไทย กลับลงมาจากภูพยัคฆ์ น่านเหนือ และไปเรียนต่อปริญญาโทประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส และเรียนปรัชญาการเมือง มหาวิทยาลัยปารีส (ซอร์บอน)

 

          จรัลถือว่าเป็นนักทฤษฎีปฏิวัติระดับแถวหน้าคนหนึ่งในยุคก่อน 14 ตุลา เมื่อมีโอกาสใช้ชีวิตในประเทศฝรั่งเศส จึงใช้เวลาส่วนหนึ่งให้หมดไปกับการศึกษาการปฏิวัติฝรั่งเศส

 

          ปี 2532 ในวาระครบรอบ 200 ปี ของการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นช่วงที่จรัลไปเรียนปรัชญาการเมือง และเรียนD.E.A.ทางประวัติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยปารีส โดยมีวัตถุประสงค์เรียนวิชาประวัติศาสตร์การปฏิวัติฝรั่งเศส เขาใช้เวลา 2 ปี ศึกษาค้นคว้าอยู่ในห้องสมุดของสถาบันศึกษาการปฏิวัติฝรั่งเศส

 

          ปี 2533 เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปี 2541 เป็นประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และปี 2544 เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

          หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 จรัลในนามปากกา “อภิชัย ภราดร” ลงมือเขียนเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศส ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ใน นสพ.ผู้จัดการรายวัน และสำนักพิมพ์ผู้จัดการ ได้จัดพิมพ์ “การปฏิวัติฝรั่งเศส..จากวันยึดคุกบาสตีล ถึงวันสถาปนาสาธารณรัฐ” ออกมา 2 เล่ม

 

          เมื่อเกิดการรัฐประหาร 2549 จรัลเป็นปัญญาชนคนแรกๆที่ออกมาแสดงตัวต่อต้านการยึดอำนาจ และเรียกร้องให้คนเดือนตุลาเลือกข้าง ว่าจะเอา “ประชาธิปไตย” หรือ “เผด็จการ”

 

 

พลเมืองฝรั่งเศส  "จรัล ดิษฐาอภิชัย"  จากภูพยัคฆ์ถึงปารีส

 

 

          ช่วงที่มีการรณรงค์ต้านรัฐประหารช่วงปี 2549 - 2550 เขาเป็นที่ปรึกษาของกลุ่มต้านรัฐประหาร ได้รับเชิญให้ไปปราศรัยในเวทีที่สนามหลวงหลายครั้ง ต่อมา เขาเป็นแกนนำชุดแรกของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ขณะที่ยังมีตำแหน่งกรรมการสิทธิฯ จึงถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง

 

          นับแต่นั้นมา จรัลก็เป็น “คลังสมอง” ของฝ่ายต้านอำมาตย์ และเป็นนักทฤษฎีของฝ่ายคนเสื้อแดง

 

          เมื่อสองปีก่อน เขาให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงแข็งแกร่งและควบคุมประชาชนได้ ส่วนฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยยังคงไม่ได้ยกระดับการเคลื่อนไหวมากนัก

 

          "โอกาสที่พวกผมจะได้กลับเมืองไทยคงยาก เตรียมใจอยู่ที่นี่จนตายแล้ว"

 

พลเมืองฝรั่งเศส  "จรัล ดิษฐาอภิชัย"  จากภูพยัคฆ์ถึงปารีส

 

         

          ปลายปีที่แล้ว นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยคนหนึ่งที่ลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศส ได้สรุปสถานการณ์ในปี 2561 ว่า 

 

          “คสช.เสื่อมอำนาจ แต่คงไม่ถึงกับพัง” พร้อมชี้ว่า คสช.มีทางเลือกอยู่ 3 ทางคือ

 

          1.ปล่อยให้กลไกในรัฐธรรมนูญกำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 2.มีการเลือกตั้ง มีพรรคสนับสนุนให้ตัวแทน คสช.เป็นนายกรัฐมนตรี 3.เลื่อนโรดแม็พ เลื่อนเลือกตั้ง

 

          มาในชั่วโมงนี้ คสช.เลือกทางที่ 3 คือเลื่อนเลือกตั้ง!!!

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ