Lifestyle

สิ้นตำนาน "ไทดำรำพัน" เพลงดังสองฝั่งโขง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อาลัย ครูเพลง "ไทดำรำพัน" ที่สมัยหนึ่งโด่งดังแบบไม่คาดฝัน วันนี้เขาจากไปแล้ว แต่ผลงานยังคงความอมตะที่ไม่มีวันตาย!

         

          คนไทยในช่วงวัย 60 ปี ยังคงจดจำเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคสงครามเย็นได้เป็นอย่างดี เพราะรัฐบาลไทยส่งทหารอาสาสมัครไปสู้รบในเวียดนามใต้ เพื่อปกป้องโลกเสรีให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ และยังส่งทหารเสือพรานข้ามโขงไปทำ “สงครามลับ” ในลาว

 

          ปี 2511 สถานีวิทยุกระจายเสียง ททท. ได้นำเอาเพลงลาวชื่อ “ไทดำรำพัน” มาเผยแพร่ทางคลื่นเอเอ็มส่งกระจายเสียงไปทั่วประเทศ ด้วยมีคำร้องขึ้นต้นว่า “สิบห้าปี..ที่ไทเฮาห่างแดนดินจงเอ็นดูหมู่ข้าน้อยที่พลอยพรากบ้าน” ทำให้โฆษกนักจัดการรายวิทยุบ้านเรา ได้ขยายความทำนองว่า ถ้าไม่อยากให้บ้านเมืองลุกเป็นไฟเหมือนเมืองลาว คนไทยเราก็อย่าแตกแยก แบ่งไทยเหนือไทยใต้

 

 

สิ้นตำนาน  "ไทดำรำพัน"  เพลงดังสองฝั่งโขง

ก.วิเสส ผู้ขับร้อง เพลงลาวไทดำรำพัน

 

         

          เพลงลาวไทดำรำพัน โด่งดังแบบไม่คาดฝัน แฟนเพลงถามไถ่กันให้ระเบ็งเซ็งแซ่ว่า อยากเห็นหน้านักร้องชื่อ “ก.วิเสส” มาร้องกันสดๆบนเวทีดนตรีลูกทุ่งสักครั้ง

 

          “ก.วิเสส” เป็นนักร้องสังกัดวงดนตรี “กรมราบอากาศวังเวียง” ซึ่งเป็นคณะดนตรีของกรมราบอากาศวังเวียง เมืองวังเวียง ที่มี พ.อ.แพงเกี้ยว สุวัต เป็นผู้บังคับบัญชา โดยผู้ประพันธ์เพลงไทดำรำพันคือ “หมีดำ” หรือ ร.ท.สะหนอง อุ่นวง โฆษกประจำวง

 

 

สิ้นตำนาน  "ไทดำรำพัน"  เพลงดังสองฝั่งโขง

ร.ท.สะหนอง อุ่นวง  ผู้ประพันธ์เพลง

 

          ความดังของเพลงไทดำรำพัน ทำให้ พ.อ.แพงเกี้ยว ยกวงดนตรีราบอากาศวังเวียง มาเปิดการแสดงในไทย โดย ก.วิเสส กลายเป็นนักร้องยอดนิยมแถวหน้า พ.ศ.โน้น จนได้รับการชักชวนให้ไปแสดงหนังไทยหลายเรื่อง

 

          บริษัทหนังไทยรายหนึ่ง ได้เกาะกระแสเพลงลาวร้อนแรง สร้างหนังเรื่อง “ไทดำรำพัน” และนำเอา ก.วิเสส ไปร่วมแสดงด้วย

 

สิ้นตำนาน  "ไทดำรำพัน"  เพลงดังสองฝั่งโขง

 

          สำหรับ ร.ท.สะหนอง เป็นชาวเมืองโพนทอง แขวงจำปาสัก เมื่อเรียนจบชั้นประถมที่เมืองปากเซ ก็ย้ายเข้ามาเรียนต่อชั้นมัธยมที่ ม.ปาวี นครหลวงเวียงจันทน์ เด็กๆชอบอ่านวรรณคดีไทย โดยเฉพาะกลอนสุนทรภู่

 

          "หมีดำ" เป็นชื่อเล่น พ่อแม่คงเห็นว่าตัวดำเหมือนหมี เลยตั้งชื่อให้ว่าหมีดำ (เมื่อโตขึ้นเป็นนักแต่งเพลง จึงใช้เป็นนามแฝงในการเขียนเพลง)

 

          เมื่อ ร.ท.สะหนอง เรียนจบชั้นประถมที่เมืองปากเซ ก็ย้ายเข้ามาเรียนต่อชั้นมัธยมที่ ม.ปาวี นครหลวงเวียงจันทน์

 

          ครั้นเรียนจบแล้วเขาไปทำงานกับบริษัทแอร์ลาว ซึ่งเป็นสายการบินที่องค์การซีไอเอ จัดตั้งขึ้นมาเป็นหน่วยส่งกำลังบำรุงในการดำเนินสงครามลับบนดินแดนลาว หลังจากนั้นเขาก็สมัครเป็นทหาร จึงรู้จักกับ พ.อ.แพงเกี้ยว ผู้บัญชาการกรมราบอากาศวังเวียง และชักชวนกันมาตั้งวงดนตรี

 

สิ้นตำนาน  "ไทดำรำพัน"  เพลงดังสองฝั่งโขง

 

          เบื้องหลังเพลงไทดำรำพัน เกิดจาก ร.ท.สะหนองไปเที่ยวหมู่บ้านชาวไทดำ และเกิดหลงรักสาวไทดำ จึงเก็บเอาความรู้สึกดีๆ นั้นไว้ และแต่งเป็นเพลงไทดำรำพัน โดยใช้ทำนองพื้นถิ่นไทดำและขับทุ้มหลวงพระบาง ผสมผสานกัน

 

          นอกจากเพลงไทดำรำพัน ร.ท.สะหนอง ยังแต่งเพลงให้ ก.วิเสส ร้องจนโด่งดังอีกหลายเพลง อาทิซังคนหลายใจ, นี้หรือรักจริง และ บ้านแม้ว

         

          หลังการเปลี่ยนแปลงในลาว ร.ท.สนอง จึงพาครอบครัวมาปักหลักอยู่ที่ อ.ศรีเชียงใหม่ ระยะหนึ่ง ก่อนจะเดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ที่ถิ่นลุงแซม ในฐานะอดีตทหารราชอาณาจักรลาวครอบครัวของ “อุ่นวง” ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากรัฐบาลสหรัฐ

 

          ปี 2532 สปป.ลาว เปิดประเทศ พร้อมเปิดโอกาสให้นำเอาเพลงลาวสมัยราชอาณาจักรหรือ “ระบอบเก่า” มาบันทึกเสียงใหม่ได้ ก็มีข่าวว่าทางกระทรวงแถลงข่าวฯ สั่งห้ามนำเพลงไทดำรำพันมาร้องใหม่ เพราะเป็นเพลงปฏิกิริยา แต่เมื่อสอบถามกันไป ก็ไม่มีใครทราบเหตุผลแท้จริงปัจจุบัน ไม่มีใครสั่งห้ามแล้ว นักร้องลาวรุ่นหลังได้นำผลงานเพลงของ ร.ท.สะหนอง อุ่นวง มาขับขานกันหลายเวอร์ชั่น

 

สิ้นตำนาน  "ไทดำรำพัน"  เพลงดังสองฝั่งโขง

 

          เมื่อวันที่ 18 ม.ค.2561 ร.ท.สะหนอง ได้เสียชีวิตด้วยโรคชราในวัย 79 ปี ที่บ้านพักในเมืองโอกลาโฮมา ซิตี้ มลรัฐโอกลาโฮมา สหรัฐฯ และมีพิธิฌาปนกิจศพในวันที่ 25 ม.ค.นี้

 

          เพลงไทดำรำพันคือ บันทึกทางประวัติศาสตร์การเมืองและวัฒนธรรม ยุคสงครามเย็น ขอไว้อาลัยครั้งสุดท้ายแด่..เจ้าของตำนานเพลงดังสองฝั่งโขง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ