Lifestyle

ราชันฟองสบู่ “กำพล เดอะลอร์ด” บนเส้นทางธุรกิจโรงนวด

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จัก กำพล เดอะลอร์ด ในวันก่อน วิคตอเรียซีเคร็ท จะถูกเผยความลับ!

 

          20 ปีที่แล้ว คนในยุทธจักรจะเรียกเขาว่า “เสี่ยโนอาร์” หรือ “กำพล โนอาร์” เพราะเป็นผู้บริหารโรงนวดยุคใหม่ชื่อโนอาร์ ทางฝั่งพระราม 9 

          สำหรับแวดวงพระเครื่อง ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา เซียนพระก็เรียกขานเขาว่า “กำพล เดอะลอร์ด” และมาถึงนาทีนี้ คนทั้งประเทศรู้จักชื่อ “กำพล วิระเทพสุภรณ์” เป็นอย่างดี

          เมื่อศาลได้อนุมัติหมายจับ กำพล วิระเทพสุภรณ์ และภรรยา-นิภา วิระเทพสุภรณ์ ในข้อหาค้ามนุษย์ อันเนื่องมาจากการบุกตรวจค้นอาบอบนวดวิคตอเรียซีเคร็ท และเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้พบเด็กสาวต่างชาติอยู่ในสถานนี้ด้วย

          จริงๆแล้ว ในวันนี้ “เสี่ยกำพล” เป็นประธานกลุ่มเดอะลอร์ดกรุ๊ป ที่มีอัครสถานบันเทิงครบวงจร ประกอบด้วยลองบีช, โคปาคาบานา, วิคตอเรียซีเคร็ท และเดอะลอร์ดเอ็นเทอร์เทนเม็นท์

          เดอะลอร์ดฯ เป็นสถานบริการระดับห้าดาว สำหรับลูกค้าไฮเอนด์ ทั้งไทยและเทศ ไม่ต่างจากโพไซดอนของตระกูล “เสี่ยเม้ง” ที่อยู่บนถนนรัชดาฯ เหมือนกัน

          กว่า 40 ปีแล้ว ชีวิต “เสี่ยกำพล” โลดแล่นอยู่ในยุทธจักรโรงนวด ตั้งแต่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ จนมาถึงถนนรัชดา-พระราม 9 โดยเขาทำงานอยู่ที่อาบอบนวดอะตามิ ดาวเด่นบนถนนเพชรบุรีฯ และเป็นสถานบริการรุ่นเดียวกับวิลันดา, นิวยอร์ค, สายฝน, คริสติน่า, แนนซี่, บีวา โซเฟีย, เมรี และฮูหยิน

          ยุคทองอาบอบนวด ถ.เพชรบุรีฯ “กำพล” ไม่ใช่เสี่ยใหญ่เจ้าของสถานบริการ ต่างจาก “เสี่ยศูภชัย” , “เสี่ยเกียรติ” และ “เสี่ยเม้ง” ที่ครอบครองอาบอบนวดอยู่รายละ 3-4 อ่าง

          ปี 2530 บนถนนรัชดาภิเษก ได้มีธุรกิจอาบอบนวดรูปแบบใหม่ ดูทันสมัย มีคลาสเรียกว่าเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ และ“วิคทอเรีย ซีเคร็ท” เป็นต้นแบบของเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ที่สนองตอบกับชนชั้นกลางรุ่นใหม่

          ผู้บุกเบิกอาบอบนวดยุคเอนเตอร์เทนฯ คือ Davis ที่มีกิจการอาบอบนวด 6 แห่ง ในเครือเดวิสกรุ๊ป ซึ่งเวลานั้น “ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์” ยังหลบอยู่ในเงามืด ไม่ยอมปรากฏกายต่อสาธารณชนเหมือนปัจจุบัน

          ความสำเร็จของเดวิสกรุ๊ป จึงทำให้กลุ่มโรงนวดห้องแถวอพยพจากถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ข้ามคลองแสนแสบมายังถนนรัชดาภิเษกและถนนพระราม 9 

          เจ้าพ่อโรงนวดห้องแถวยุคแรกๆ หลายคนเลิกรา และหันไปทำธุรกิจอื่น เหลือแต่ “เสี่ยเม้ง” ที่ยังยืนยงอยู่ในเส้นทางสายนี้ บวกกับได้ซื้อที่ดินย่านถนนพระราม 9 และรัชดาฯไว้จำนวนมาก เสี่ยเม้งจึงตัดสินใจสร้างเอนเตอร์เมนท์คอมเพล็กซ์ชื่อ “โพไซดอน” โดยเปิดบริการแก่ลูกค้าระดับบน เมื่อปี 2540 (เสี่ยเม้ง เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อปลายปี 2560)

          ปลายปี 2540 กลุ่มอะตามิ ก็เคลื่อนทุนมาเปิดอาบอบอวดแบบใหม่ในชื่อ “โนอาร์” ย่านพระราม 9 เพื่อบริการลูกค้าชาวไทย เนื่องจากอะตามิ(เก่า) จับตลาดลูกค้าต่างประเทศ 

          นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ (ฉบับวันที่ 16-22 เม.ย.2541) ทำสกู๊ปปกเรื่อง “ทุนฟองสบู่(เก่า) ยึดรัชดา-พระราม 9” ก็ได้ไปสัมภาษณ์ “กำพล วิระเทพสุภรณ์” ในฐานะผู้บริหารโนอาร์ ซึ่งตอนนั้น มีการซื้อสื่อโฆษณาอาบอบนวดครึกโครม

          ดูเหมือนว่า อาบอบนวด พ.ศ.โน้นจะโตสวนกระแสเศรษฐกิจตกต่ำหรือเศรษฐกิจฟองสบู่แตก อันเป็นผลมาจากการลอยตัวค่าเงินบาท และภาพจริงมันเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจคาดไม่ถึง เพราะมีการลงทุนก่อสร้างมาแต่ช่วงเศรษฐกิจบูม

          "ฝั่งเพชรบุรีตัดใหม่ที่เคยรุ่งเรือง ก็มอดดับไปเยอะ หากจะอัพเกรด ต้องไปฝั่งรัชดาฯ ซึ่งย่านนั้นจะเป็นแขกอีกระดับหนึ่ง" นี่คือเหตุผลที่ "กำพล" แจงกรณีกลุ่มอะตามิ ข้ามคลองแสนแสบมาเปิดอาบอบนวดฝั่งพระราม 9 

          "อาบอบนวดแห่งหนึ่ง กำไรต่อเดือน 10 กว่าล้าน...ธุรกิจนี้มีเงินก็ใช่ว่าจะทำสุ่มสี่สุ่มห้าลงทุน หากจะร่ำรวยจากกิจการนี้จริงๆ ต้องมีมือทำงาน" เป็นคำบอกเล่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และคำว่า "มือทำงาน" นั้น หมายถึงคนเชียร์แขก และคนจัดหาสาวงาม 

          เคล็ดลับการทำอาบอบนวดให้เจริญรุ่งเรือง กำพลบอกว่า "หัวใจของการทำธุรกิจนี้อยู่ที่วันเปิด อาบอบนวดไม่ว่าที่ไหนเปิดตัวใหม่ คนจะพากันมาดูเยอะ ว่าสถานที่ดีมั้ย แต่จุดขายที่ดีที่สุดคือ พนักงานหมอนวด หลังจากนั้น กลุ่มลูกค้าที่เคยเที่ยวที่ไหน เขาก็เที่ยวที่นั่นประจำ"

          การคัดสรรพนักงานหมอนวดเป็นเรื่องที่ต้องใช้มืออาชีพบริหารจัดการ แต่เมื่อ “กำพล” เป็นเจ้าอาณาจักรเดอะลอร์ด กลับไม่สามารถควบคุมดูแลให้ทั่วถึง จึงต้องมาเจอวิกฤตของชีวิตด้วยการนำเด็กสาวต่างด้าวมาเป็นพนักงานหมอนวด

          อุบัติเหตุบาร์เบียร์ ทำให้ชูวิทย์ ต้องออกมาจากเงามืด และกลายเป็น “เซเลบ” ที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ วันที่ชูวิทย์ต้องไปเล่นการเมือง เขาตัดสินใจขายกิจการอาบอบนวดทั้งหมด เพื่อลบล้างภาพลักษณ์ “เจ้าพ่ออ่าง” 

          ปี 2547 มีข่าวกอสสิปใน นสพ.ผู้จัดการรายวัน ว่า ชูวิทย์ ขายอาบอบนวด 3 แห่งคือ ฮอนโนลูลู, โคปาคาบานา และบาร์บาร่า ราคา 380 ล้านบาท โดยผู้ซื้ออย่างเป็นทางการชื่อ กำพล วิระเทพสุภรณ์ หรือเสี่ยโนอาร์ (บ้างก็ว่าราคา 700 ล้านบาท)

          เวลานั้น มีการเปิดเผยตัวละครนักการเมืองคนหนึ่งชื่อ สุชาติ ตันเจริญ ที่เกี่ยวโยงกับกำพล ในฐานะคนแปดริ้วบ้านเดียวกัน และกำพลเคยเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้สุชาติ (นัยว่าอาชีพดั้งเดิมของกำพล เป็นทนายความ)

          เมื่ออาณาจักรเดวิสกรู๊ปปิดฉาก ก็ถึงยุคทองของ "เดอะลอร์ด กรุ๊ป" ภายใต้การนำของเสี่ยกำพล และเขายังแตกไลน์ธุรกิจไปสู่อสังหาริมทรัพย์ และการเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้น

          อีกฉากชีวิตหนึ่งของกำพลคือ “นักสะสมมือหนัก” ของวงการพระเครื่องประเทศไทย และเป็น 1 ใน 10 สุดยอดนักสะสมพันล้าน!!

          ฉะนั้น หากส่องไปตามคอลัมน์สนามพระของหนังสือพิมพ์รายวัน และนิตยสารเกี่ยวกับพระเครื่อง ก็จะเห็นชื่อ "กำพล โนอาร์" หรือ "กำพล เดอะลอร์ด" พร้อมคำบรรยายสรรพคุณ "เจ้าสัวผู้มากด้วยบารมีดี ทั้งเงินทั้งน้ำใจ ไม่มีใครเกินท่านนี้" 

          การเป็นนักสะสมมือหนัก ทำให้กำพลได้รู้จักมักคุ้นกับ “ข้าราชการระดับสูง” ทั้งทหาร ตำรวจ และมหาดไทย ไม่ว่างานการกุศลของหน่วยราชการไหน ก็มักจะมีชื่อกำพล ในฐานะผู้บริจาครายใหญ่ 

          นอกจากนี้ กำพลยังเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ มากกว่า 10 บริษัท อาทิบริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AQUA ,บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EPCO, บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG, บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด (มหาชน) หรือ MK ฯลฯ 

          บริษัทมหาชนเหล่านี้ ก็มีนักธุรกิจชื่อดัง ,อดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และนักการเมืองถือหุ้นอยู่ ซึ่งเป็นวิถีปกติของนักลงทุน

          ทางชีวิตธุรกิจอาบอบนวดของกำพลนั้นต่างจากชูวิทย์ ตรงที่ฝ่ายหลังชิงล้างมือในอ่างทองคำโดยอุบัติเหตุ กำพลเองก็เตรียมตัวจะปลดพ้นธุรกิจสีเทาๆ และผันตัวเองไปจับธุรกิจบันเทิงระดับบน แต่ไม่ทันได้พลิกเกมก็เจอแจ็คพ็อต

          ด้านหนึ่ง สถานการณ์การเมืองพิเศษอันเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย ก็เป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้กำพล ต้องกลายเป็นหมากตัวหนึ่งบนกระดานอำนาจ!!

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ