Lifestyle

“จิตนภา"สาวภูไทสานต่อไหมแพรวา จาก“บ้านโพน”สู่ห้างดัง 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

  แพรก็คือผ้าไหม คนภูไทเขาจะเรียกแพรวา แพรวาดั้งเดิมมาจากแพรและวา แต่ละผืนมีความยาวแค่วาเดียว นิยมใส่ในงานมงคล

            หนึ่งในไฮไลท์สำคัญการลงพื้นที่ตรวจราชการภาคอีสานคราวนี้ของ “นายกฯ ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ คือการเยือน “หมู่บ้านโพน” ต.บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ แหล่งกำเนิด "ไหมแพรวา" ได้ชื่อว่าสุดยอดผ้าไหมทอมือของชนเผ่าภูไทที่ผ่านการสานต่อมาหลายชั่วอายุคน จนปัจจุบันได้มีการนำลวดลายอันทันสมัย ผ่านคนรุ่นใหม่ลูกหลานชาวชนเผ่า 

“จิตนภา"สาวภูไทสานต่อไหมแพรวา จาก“บ้านโพน”สู่ห้างดัง 

            จิตนภา โพนะทา หรือนก สาวภูไท ทายาทครูช่าง วรรณภา โพนะทา หรือป้าตุ๊ เจ้าของร้าน "ตุ๊ แพรวา” (TUH PRAEWA) ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวา ที่รับสินค้าวัตถุดิบมาจากชาวบ้านที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายแห่งหมู่บ้านโพน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีการผลิตผ้าไหมแพรวามากที่สุดและเป็นแห่งเดียวของจังหวัด ก่อนแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ สไบแพรวา ผ้าคลุมไหล่แพรวา ผ้าถุงซิ่นไหมแพรวา เสื้อแพรวา และอีกมากมาย ส่งจำหน่ายที่ ดิโอลด์สยาม และคิง เพาเวอร์ 

              “แพรก็คือผ้าไหมนี่แหละ คนภูไทเขาจะเรียกแพรวา แพรวาดั้งเดิมมาจากแพรและวา แต่ละผืนมีความยาวแค่วาเดียว นิยมใส่ในงานมงคล เช่นงานบวช งานแต่ง ผู้หญิงจะใช้เป็นสไบพาดไหล่ ส่วนผู้ชายใช้คาดเอว มีที่กาฬสินธุ์ที่เดียว หมู่บ้านโพน อ.คำม่วง จะทอกันมากที่สุด ส่วนที่อื่นก็จะไม่ใช่ผ้าไหมแพรวา”

“จิตนภา"สาวภูไทสานต่อไหมแพรวา จาก“บ้านโพน”สู่ห้างดัง 

              เธอย้อนอดีตไหมแพรวาที่ปัจจุบันกลายเป็นแพรหลายวาที่ถักทอขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ใช้เป็นผ้าสไบหรือผ้าคาดเอวเท่านั้น จุดเด่นของไหมแพรวา นอกจากเป็นผ้าทอมือที่ประณีตสวยงามแล้ว ลวดลายก็เป็นปัจจัยสำคัญในการทำตลาดให้ได้รับความสนใจจากลูกค้า

              จากอดีตที่มีแค่ลายข้าวหลามตัด แต่ปัจจุบันมีให้เห็นลวดลายที่หลากหลายมากขึ้น หลังเด็กสาวจากหมู่บ้านโพน แหล่งผลิตผ้าไหมแพรวาแห่งเดียวในประเทศไทยได้มุ่งมั่นในการศึกษาออกแบบลวดลายสมัยใหม่เพื่อนำเอาไปพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่บ้านเกิด

              หลังจบมัธยมศึกษา จิตนภาก็เข้าศึกษาต่อที่คณะคหกรรมศาสตร์ สาขาผ้าและเครื่องแต่งกาย ที่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นคณะวิศวกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ก่อนจบปริญญาโทด้านการตลาดที่มหาวิทยาลัยรังสิต โดยได้ใช้ความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาช่วยในการออกแบบลวดลายผ้าให้ทันสมัยผสมผสานกับลายโบราณ พร้อมกับหาช่องทางการตลาดเพื่อจำหน่าย โดยรับสินค้ามาจากชาวบ้านทีี่เป็นสมาชิกในเครือข่ายจากหมู่บ้านโพน ใน อ.คำม่วง ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังมีอาชีพทอผ้าไหมแพรวาหารายได้เลี้ยงครอบครัว

             “เมื่อก่อนผ้าไหมแพรวาจะเป็นลายเรขาคณิต สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม ข้าวหลามตัด พอเราเรียนเรื่องผ้า เห็นลวดลายของต่างประเทศเยอะ อย่างอินเดียมันดูโค้งๆ สวยๆ ทำไมของบ้านเราข้าวหลามตัด ก็ลองนำมาประยุกต์กับลายโบราณดั้งเดิมของบ้านเราดู ก็ออกมาสวยดี ดูทันสมัยขึ้น" สาวภูไทคนเดิมเผย

“จิตนภา"สาวภูไทสานต่อไหมแพรวา จาก“บ้านโพน”สู่ห้างดัง 

             จากนั้นเธอก็มุ่งมั่นในการเรียนรู้การออกแบบลาย โดยออกแบบใส่กระดาษกราฟ ก่อนนำไปแกะส่งต่อให้ชาวบ้านนำไปทอผ้าตามลายที่กำหนด โดยเริ่มจากลายดอกไม้ ลายพุ่มดอกไม้ ลายก้ามปู ลายดอกผักแว่น เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 10 ลายที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า

            “ที่ผ่านมามีฟีดแบ็กจากลูกค้าว่าทำไมผ้าไหมแพรวาใส่แล้วดูอ้วน ก็เพราะลายเป็นข้าวหลามตัด ก็คือเหตุผลที่เราพยายามให้มีลายที่หลากหลายมากขึ้น”

           ไม่เพียงแค่การออกแบบลายผ้าเท่านั้น แต่เธอยังพยายามหาช่องทางตลาดเพื่อจำหน่ายสินค้าผ้าไหมแพรวา โดยมุ่งเป้าไปที่ห้างสรรพสินค้าดังเพื่อสนองลูกค้าในระดับไฮเอนด์ ในที่สุดก็เปิดร้านจำหน่ายไหมแพรวาที่ ดิ โอลด์สยาม ภายใต้ชื่อ ตุ๊ แพรวา พร้อมทั้งส่งให้แก่คิงเพาเวอร์ ซึ่งได้รับการต้อนรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี สนนราคาตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักแสน 

            “ผ้าบางผืนที่ราคาหลักแสน เพราะต้องใช้ระยะเวลาการทอเป็นปีๆ สินค้าที่นำมาขาย เราไม่ได้ผลิตเอง ชาวบ้านโพน อ.คำม่วง เป็นผู้ผลิตทั้งหมด เราเพียงเป็นผู้ออกแบบและหาตลาดให้เขา รายได้จากการขายก็จะลงไปสู่ชาวบ้าน เป็นรายได้ของคนในชุมชน” จิตนภา เจ้าของรางวัลทายาทเชิดชูหัตถศิลป์ ปี 2558 กล่าวทิ้งท้ายอย่างภูมิใจ

                                                           000000000000000000000000000000000

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ