Lifestyle

'วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ กับความหวังของเกษตรกรในตำแหน่ง“เสนาบดี”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 30ปีเดินตามรอยเท้าพ่อ'วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ กับความหวังของเกษตรกรในตำแหน่ง“เสนาบดี”

             กว่า 30 ปีที่ “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรือที่รู้จักในนาม "อ.ยักษ์ มหา'ลัยคอกหมู" ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง  ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้นำแนวพระราชดำริเกษตรทฎษฎีีใหม่มาปรับใช้จนประสบความสำเร็จ ก่อนขยายผลสู่เครือข่ายทั่วประเทศ หวังเพียงให้เกษตรกรนำศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหาพ้นจากความจน พร้อมประกาศชัดเจนว่าเกษตรกรรายย่อยนั้นจะต้องเดินตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 เท่านั้นจึงจะอยู่รอดได้ 
             แนวคิดนี้บรรเจิดขึ้นเมื่อครั้งที่เขายังถวายงานรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งรับราชการอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงานกปร.) เมื่อ 30 ปีก่อน
             ในครั้งนั้น อ.ยักษ์ เคยฝันว่าอยากจะทดลองลงมือทำอย่างจริงจังเพื่อให้เห็นกับตา แม้จะรู้ว่าสิ่งที่พระองค์ท่านรับสั่งนั้นได้รับการพิสูจน์ให้เห็นมาแล้วทีี่สวนจิตรลดาและพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ในที่สุดความฝันของเขาก็เริ่มเห็นเงาร่างแห่งความเป็นจริง เมื่อเนรมิตพื้นที่ร้างที่มีสภาพเป็นดินดานกว่า 40 ไร่ ของพี่ชายที่รับราชการครู ที่บ้านมาบเอื้อง  โดยเริ่มจากมาปลูกหญ้าแฝก ใช้เครื่องระเบิดดินดาน ขุดสระน้ำ ทดลองปลูกพืชผัก ทำนา มาตั้งแต่ปี 2527  ก่อนจะตั้งเป็น “ชมรมกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง” เมื่อปี 2539
              ต่อมายกฐานะอีกครั้งเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้องในปี 2541 และจดทะเบียนเป็นมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติในปี 2544 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นสถานที่ฝึกอบรมเกษตรกรทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน เสมือนหนึ่งของศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง เป็นกองบัญชาการของ อ.ยักษ์ ที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรตามแนว “ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 นั่นเอง
                 “เมื่อครั้งที่ผมรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 เวลาผมไปบรรยายให้เกษตรกรฟังเกี่ยวกับการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง เกี่ยวกับประโยชน์ของป่าไม้ ก็ไม่มีใครเชื่อ หาว่าผมมีเงินเดือนกิน มีน้ำมันหลวงให้ใช้ก็พูดได้ ระดับผู้บริหารองค์กร ข้าราชการก็ไม่สนใจ หาว่าทฤษฎีของอ.ยักษ์ จะให้คนอยู่อย่างลำบาก  ขณะที่ผู้คนในสังคมต้องการรวย ต้องการความสบาย พูดไป ทำให้เลือดขึ้นหน้า เลยคิดว่าผมจะทำให้ดู ผมเลยทดลองทำก่อนในพื้นที่ร้างของพี่ชาย 40 ไร่ ที่ตรงนั้นปลูกอะไรไม่ขึ้น ผมลองใช้ทุนเองเท่าที่มีอยู่ลงมือพัฒนาเรื่อยๆ กะว่าจะปลูกป่าและทำนา เลี้ยงปลา พอมีเวลาวันหยุดผมก็ไปที่มาบเอื้อง กระทั่งผมลาออกจากราชการในปี 2539 จึงลงมือทำอย่างจริงจัง เพื่อนฝูงที่สนิทสนมมาเห็นหาว่าผมบ้า แนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลบ้า แม้พี่ชายผมเองไม่เชื่อว่าผมจะทำได้” อ.ยักษ์ เคยกล่าวกับ “คม ชัด ลึก” เมื่อครั้งไปเยี่ยมชมศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง

'วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ กับความหวังของเกษตรกรในตำแหน่ง“เสนาบดี”
               เวลาผ่านไป 3 เดือนเมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงดิน เริ่มงอกงาม จนล่วงเลยไป 6 เดือน เพื่อนฝูงที่เคยสบประมาทกลับมาชื่นชม ทำให้เขามีกำลังใจมากขึ้น เกษตรกรใกล้เคียงที่เห็นผลงานต่างไปศึกษาและสอบถามว่าสามารถปลูกพืชบนดินดานได้อย่างไร ไม่นานนักผู้คนทยอยเข้าไปดูงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ อ.ยักษ์ ตัดสินใจจัดอบรมทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่เศรษฐกิจพอเพียง ครั้งแรกในปี 2541 ในจำนวนนี้มีผู้บริหารของชุมพรคาบาน่า รีสอร์ท อ.เมือง จ.ชุมพร มาอบรมเป็นชุดแรก และนำไปปฏิบัติสามารถให้กิจการรีสอร์ทฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในปี 2540 ได้ จนกลายเป็นข่าวใหญ่โตในเวลาต่อมา
           ช่วงแรกนั้น อ.ยักษ์ บอกว่า มีการพัฒนาขึ้นทีละอย่างสองอย่างเท่าที่มีกำลัง ต่อมามีลูกศิษย์แต่ละรุ่นมาช่วยแรง ใครมีเงินก็มาสมทบ จนสามารถจัดการภายในศูนย์อย่างมีระบบและสัดส่วนเพื่อให้สอดคล้องในการปฏิบัติของแต่ละหลักสูตรอย่างลงตัว ประกอบด้วยพื้นที่ส่วนที่เป็นป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง คือปลูกไม้ยืนต้นใช้ทำบ้าน-ทำฟืน ปลูกไม้ผลไว้กิน และพืชผักสวนครัวไว้ประกอบอาหารและสมุนไพร ไม้ทั้ง 3 ชนิดจะให้ประโยชน์อย่างมหาศาลอีกอย่างหนึ่งคือสร้างความสมดุลให้ระบบนิเวศ หรือความร่มรื่นแก่ผิวโลกด้วย
            นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ใช้สำหรับแหล่งน้ำเป็นสระขนาดใหญ่ราว 6 ไร่ สร้างเป็นลำธารยาวอีก 4 ไร่ ภายในสระมีการเลี้ยงปลากินพืชหลายชนิด ที่เหลือเป็นส่วนของอาคารที่ใช้เป็นสำนักงาน ห้องประชุม ห้องฝึกอบรม โรงเรือน ร้านค้าที่ขายผลิตภัณฑ์ของศูนย์ รวมถึงเรือนพักของผู้ที่มาอบรมด้วย ในแต่ละรุ่นไม่ต่ำกว่า 100 คน กระจัดกระจายไปอยู่ตามส่วนต่างๆ และทุกพื้นที่จะมีถนนตัดผ่านคดเคี้ยวไปสู่จุดต่างๆ อย่างสวยงาม
          ปัจจุบันศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อยู่ภายใต้การดูแลและดำเนินการโดยมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ที่มี อ.ยักษ์ เป็นประธาน และนับเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง อย่างครบวงจร มีหลักสูตรที่อบรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง หลักสูตรการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หลักสูตรการพัฒนาเยาวชนสู่การเปลี่ยนแปลงตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง การเลี้ยงกุ้งด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีการผลิตส้มด้วยชีวภาพ การจัดการน้ำเสียและขยะด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีการผลิตไม้ผลอินทรีย์ การจัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามแนวพระราชดำริ เทคนิคการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์สู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และหลักสูตรป่าพื้นบ้านชุมชน เป็นต้น 
           “ที่ผ่านมานโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลหลงทาง ทำให้เกษตรกรหันไปให้ความสำคัญในการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เน้นเข้าสู่อุตสาหกรรม มีการใช้สารเคมี ทั้งยาฆ่าแมลง ปุ๋ย ส่งผลให้ต้นทุนสูงเป็นเงาตามตัว พอมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นด้านราคา หรือโรคระบาด รวมถึงภัยพิบัติต่างๆ กระทบตามๆ กัน ตรงนี้แหละที่ผมจะเปลี่ยนทัศนคติดใหม่ ให้หันมาใช้หันมาทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ต้นมะม่วงตาย ต้นขนุนยังมี เรามีกินตลอดปี ไม่อดตายครับ” อ.ยักษ์ กล่าวอย่างมั่นใจ
            กาลเวลาผ่านไป 20 ปีเต็มๆ นับจากที่ อ.ยักษ์ ลาออกจากราชการ มุ่งมั่นที่จะให้เกษตรกรเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเดิมทำเกษตรแบบใช้สารเคมี มาเป็นเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง  แม้วันนี้ “ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง” ได้จัดระบบอย่างลงตัว และมีผู้ที่เชี่ยวด้านการฝึกอบรมที่ “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ปั้นมา แต่บทบาทของเขาไม่ได้หยุดนิ่ง หากแต่ละวันมีเวลาเขาจะออกเดินสายไปบรรยาย และอบรมเกษตรกรตามศูนย์ย่อยต่างๆ ทั่วประเทศ 
            หากแต่วันนี้ “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” หรือที่พี่น้องเกษตรกรรู้จักในนาม “อ.ยักษ์” ได้ก้าวขึ้นมาสู่บทบาทใหม่ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พร้อมนำนโยบายรัฐสู่การปฏิบัติในทันที โดยมีความมุ่งหวังว่า อย่างน้อยเกษตรกรสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข อยู่อย่างพอเพียง ตามแบบฉบับของการเกษตรตามแนว “ทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง” ของในหลวงนั่นเอง 


  งานนี้ไม่รู้ว่า ‘ยักษ์กินหรือยุทธ์กินยักษ์’
        สุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้และเลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย หรือ สคยท. กล่าวถึงการเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกาตรและสหกรณ์ ของนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออ.ยักษ์ ว่าต้องขอขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เห็นความสำคัญปราชญ์ชาวบ้านอย่าง อ.ยักษ์ มาทำงานด้านนโยบายเพื่อพัฒนาภาคการเกษตรลดความเหลื่อมล้ำของคนในชาติ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

'วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ กับความหวังของเกษตรกรในตำแหน่ง“เสนาบดี”
            “อ.ยักษ์ ท่านเป็นคนดีมีคุณธรรม มีความตั้งใจ จริงใจนำศาสตร์พระราชามาทดลองทำจนเห็นผลแล้วนำไปขยายต่อสู่เกษตรกรในเครือข่ายทั่วประเทศ เชื่อว่าคนเกษตรยินดีที่ อ.ยักษ์ มานั่งตรงจุดนี้ แต่ใช่ว่าข้อด้อยจะไม่มี ท่านเป็นคนโผงผาง ตรงไปตรงมา มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง สมัยนั่งเป็นประธานกรรมาธิการศึกษาเคยพูดต่อหน้านายกประยุทธ์ตรงๆ ว่าการปฏิรูปการศึกษาต้องพัฒนาที่ตัวเด็กและผู้ปกครองไม่ใช่ที่ครู นี่เป็นบุคลิกของ อ.ยักษ์ ท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และครม.ของท่านจะรับได้มั้ย”
            สุนทรยอมรับว่าที่ผ่านมาการทำงานเชิงนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ อยู่ภายใต้กำกับของข้าราชการและนายทุน รัฐมนตรีไม่เข้าใจปัญหาของเกษตรกรที่แท้จริง ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย ผลประโยชน์จึงไม่ลงถืงตัวเกษตรกร หากได้คนที่เข้าใจวิถีเกษตรกรคลุกคลีอยู่กับวิถีเกษตรกรมาเกือบตลอดชีวิตมาคุมนโยบายน่าจะส่งผลดีต่อภาคการเกษตรกรไทยโดยรวมไปด้วย
            “ที่ผ่านมานโยบายรัฐสร้างเกษตรกรให้เป็นหมู เป็นหมา เป็นเป็ด เป็นไก่ คือให้แต่อาหารอย่างเดียว หยุดให้เมื่อไหร่ตาย ไม่เคยสร้างให้รู้จักหากินเอง ที่ผ่านมาให้แต่ความหวังไล่แจกแต่เงิน แต่พอเกษตรกรเริ่มจะหากินเองได้ก็มาสร้างกับดักไว้อีก” สุนทรให้มุมมอง พร้อมฝากความหวังไว้กับรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงเกษตรฯ คนใหม่ อยากให้อ.ยักษ์ มาคุมการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เนื่องจากเป็นผู้รู้และเข้าใจเกษตรกรชาวสวนยางดี น่าจะสร้างความหวังให้เกษตรกรชาวสวนยางก้าวไปสู่ความยั่งยืนต่อไป
           “งานนี้ก็ไม่รู้ว่ายุทธ์กินยักษ์หรือยักษ์กินยุทธ์ก็ต้องมาจับตากันดูต่อไป” สุนทรกล่าวทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี
          ขณะที่ พงศา ชูแนม อดีตหัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ จ.ชุมพร ในฐานะผู้จัดการธนาคารต้นไม้ กล่าวยอมรับว่า การฝากความหวังเรื่องธนาคารต้นไม้กับรัฐบาลชุดนี้คงยาก แม้จะมีรัฐมนตรีช่วยในกระทรวงเกษตรฯ ทั้งสองท่านทั้ง อ.ยักษ์ และอดีตผู้จัดการธ.ก.ส. ซึ่งรู้เรื่องนี้ดีที่สุดก็ตาม จึงมีทางออกเดียวจะต้องขับเคลื่อนโดยภาคประชาชนเท่านั้น เนื่องจากช่องทางอื่นตนได้ดำเนินการมาหมดแล้วก็ไม่เป็นผล

'วิวัฒน์ ศัลยกำธร’ กับความหวังของเกษตรกรในตำแหน่ง“เสนาบดี”
            “อย่างธ.ก.ส.เขาก็ไม่มีนโยบายจะเอาต้นไม้เป็นทุน เอาที่ดินอย่างเดียว ถึงจะมีอดีตผู้จัดการธ.ก.ส. มานั่งในตำแหน่งนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้ เช่นเดียวกับ อ.ยักษ์ ท่านก็เป็นประธานธนาคารต้นไม้มาก่อน พอเอาเข้าจริงท่านก็ไม่กล้า ท่านยึดแต่ศาสตร์พระราชาอย่างเดียว บอกอันนี้ในหลวงไม่ได้รับสั่ง” ผู้จัดการธนาคารต้นไม้กล่าวย้ำทิ้งท้าย
                                           ............................................................................................
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ