Lifestyle

เปิดชีวิต ‘จิมมี่ ชวาลา’ เศรษฐีใจบุญเมืองคอน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"จิมมี่ ชวาลา" เศรษฐี ไม่ใช่คนรวย


               ข่าวใหญ่ระหว่างที่ “ตูน บอดี้สแลม” วิ่งจากเบตงสู่แม่สาย ตามโครงการก้าวคนละก้าว เพื่อ 11 รพ. ปรากฏว่า “นักบุญ” เมืองนครศรีธรรมราช แสดงเจตจำนงจะมอบเงิน 16 ล้านบาท สมทบโครงการก้าวคนก้าว สร้างความปลาบปลื้มใจให้แก่คนไทยทั่วไป และมีหลายคน อยากรู้จักเศรษฐีใจบุญคนนี้

               สำหรับคนนครฯ รู้จักชื่อเสียงของเศรษฐีคนนี้เป็นอย่างดี และที่น่าทึ่งในหลักคิด “เศรษฐีต่างคนรวย” ฉะนั้น เขาภูมิใจในการเป็น “เศรษฐี”

               “จิมมี่” หรือ นายจิมมี่ ชวาลา (Jimmy Chawala) เป็นพ่อค้าผ้าชาวไทย เชื้อสายอินเดีย เจ้าของร้านจิมมี่ ขายผ้าที่ใหญ่ที่สุดในเมืองนคร ร้านนี้สืบทอดกิจการมาจากปู่ย่าและพ่อ ดำเนินการมานานกว่า 70 ปี ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกถนนราชดำเนิน บริเวณสี่แยกท่าวัง ใจกลางเมืองนครศรีธรรมราช

               ปู่ของจิมมี่ชื่อ นายเดสราช ชวาลา (Desraj Chawala) ย่าชื่อ นางวิทยา ขันตี ชวาลา (Vidya Wanti Chawala)

               "บรรพบุรุษของผมเดินทางเข้ามาอยู่ในเมืองไทย เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยปีเต็มๆ ผมคิดว่าน่าจะตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 คุณปู่กับคุณทวดผมเดินทางมาเมืองนครโดยทางเรือมาขึ้นที่ปากพนัง ผมกำลังดูให้ละเอียดเลยว่าผมมาจากไหน ผมมีตู้เหล็กจากอินเดีย ตอนนี้ก็ยังอยู่” จิมมี่ เล่าประวัติส่วนตัว

               อย่างไรก็ตาม จิมมี่ทราบเพียงคร่าวๆ ว่าถิ่นกำเนิดของบรรพบุรุษอยู่ในรัฐที่เป็นของปากีสถานไปแล้ว อยู่ใกล้ๆ ปัญจาบ พอมีการแบ่งประเทศ สื่อสารกันไม่ได้ แต่รู้ว่าต่างฝ่ายยังอยู่

               ร้านจิมมี่ ก่อตั้งเมื่อปี 2500 เมื่อก่อนร้านนี้ชื่อร้านนายชม ร้านของคุณทวดคุณปู่ ทำไมทวดจึงตั้งชื่อนี้ เพราะว่าปู่เป็นคนพูดดี ปู่จะพูดชมคนทุกคน จนคนเปลี่ยนชื่อจากนายเดสราช เป็นนายชม

               จิมมี่บอกว่า ตระกูลชวาลา ในเมืองนคร นับตั้งแต่คุณทวดคุณปู่จนถึงร้านจิมมี่ น่าจะราวๆ 97 - 98 ปีแล้ว

               พ่อของจิมมี่ ชื่อนายราม ชวาลา (Ram Chawala) แม่ชื่อ นางยานกี เดวี ชวาลา (Janki Devi Chawala) ก่อนแต่งงาน ก่อนออกตลาดขายผ้าอย่างจริงจัง นายรามต้องต่อสู้อย่างปากกัดตีนถีบ เป็นอย่างนั้นจริงๆ นายรามเป็นนักมวยชื่อ “รามซิงค์ ศิษย์สุริยา”

               จิมมี่เรียนชั้นประถมที่โรงเรียนชูศิลป์วิทยา ขณะนั้นตั้งอยู่ในวัดบูรณารามบริเวณสี่แยกท่าวัง พอจบชั้นประถมปีที่ 2 ครอบครัวตัดสินใจส่งไปศึกษาต่อจากคลาส 2 ถึงคลาส 9 ที่ Wynberg-Allen High School ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำที่ครูอาจารย์เป็นชาวยุโรป โรงเรียนตั้งอยู่ที่ Mussoorie City ใน Uttra Pradesh State ประเทศอินเดีย และศึกษาต่อระดับ 10 - 11 ที่ Bishop-Cotton School ที่ Simla City ใน Himachal Pradesh State ประเทศอินเดีย

               ทำไมจิมมี่ จึงชอบบริจาคเงินช่วยเหลือสังคม จนได้ฉายา “เศรษฐีใจบุญ” ?

               คำตอบคือ “เศรษฐี” กับ “คนรวย” มีความหมายต่างกันในทัศนะของจิมมี่

               “คนรวยคือคนที่มีทรัพย์ มีเงิน อาจจะมีหลายสิ่งหลายอย่าง แต่เศรษฐีที่แท้จริงคือคนที่มีทรัพย์ คนที่มีเงิน มีทรัพย์สินและมีน้ำใจ ประเสริฐที่สุดคือ เขามีใจที่เปี่ยมไปด้วยความเมตตากรุณา”

               “น้ำใจที่จะเกื้อกูลเพื่อนร่วมเมือง เพื่อนร่วมชาติ และพุทธศาสนา แปลง่ายๆ ก็คือ คนที่มีกินมีใช้ และมีใจต่อเพื่อนต่อพุทธศาสนา ใจต่อศาสนาของเขาเอง รวมกันเราเรียกว่าเศรษฐี คำว่าเศรษฐี ภาษาอังกฤษไม่มี ถ้าบันทึกใหม่ผมไม่ทราบนะครับ ในตู้ผมมีพจนานุกรมอยู่หลายเล่ม ผมเปิดดูไม่มีคำนี้ ผมนั่งคิดอยู่นานว่า ‘เศรษฐี’ แปลว่าอะไร จนผมเป็นเศรษฐี ผมถึงรู้ ตอนนี้ผมเป็นเศรษฐีครับ”

               “คนบางคนมีเงินแสนล้านก็เป็นได้แค่คนรวย แต่คนมี 5 ล้าน 1 ล้าน แสนเดียวหรือหมื่นเดียวก็เป็นเศรษฐีได้ ถ้าเขามีน้ำใจ สามล้อก็เป็นเศรษฐีได้ ถ้ามีรายได้จากน้ำพักน้ำแรง 150 บาท ก่อนกินข้าวแกง 25 - 30 บาทตอนเที่ยง แต่ตอนเช้าเขาซื้อข้าวซื้อแกงใส่บาตร คนมีเงินแสนล้านมีเวลาทำไหม เป็นคนรวยกับเศรษฐี จึงแตกต่างกัน”

               ด้วยเหตุนี้ “จิมมี่” จึงภาคภูมิใจในการดำเนินชีวิตในฐานะ “ผู้ให้”

               "ผมเป็นเศรษฐี ผมไม่บอกว่าแต่ละวันผมได้ทำอะไรบ้าง แต่ผมเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง"

 

 

 

----------------------

ขอขอบคุณ : ข้อมูลชีวิต “จิมมี่ ชวาลา” ของ จำลอง ฝั่งชลจิตร นักเขียนชาวนครศรีธรรมราช ที่เคยเขียนลงในนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ