Lifestyle

“พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์” ผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย “วีอาร์ 009”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พระองค์ท่านได้รับสั่งว่า “เป็นการดี พวกเขา (นักวิทยุอาสาสมัคร) จะได้ภาคภูมิใจ” และได้ทรงรับสัญญาณเรียกขาน “วีอาร์-009” ที่พล.ต.ต.สุชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวาย!

               อีกบุคคลหนึ่งที่ในชีวิตมีบุญอย่างล้นเหลือ ที่ได้ถวายงานใกล้ชิด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ อดีตอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และอดีตผู้อำนวยสำนักงานโครงการพระดาบส

               โดยหากโฟกัสเฉพาะบทบาทขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโทรเลข เวลานั้น ได้มีการจัดสรรความถี่วิทยุย่าน 144-146 MHz. หรือที่เรียกว่า “Two Meter Band” ซึ่งเป็นความถี่ในย่าน “วิทยุสมัครเล่น” รวมทั้งการนำเอาประมวลสัญญาณ คือ Q-Codes ที่ใช้ในกิจการวิทยุสมัครเล่นสากล มาใช้ในการติดต่อสื่อสารภายในข่ายนี้

               พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ได้นำเรื่องการจัดตั้งชมรมวิทยุอาสาสมัครนี้กราบบังคมทูลพระกรุณาทราบ เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นการส่วนพระองค์

               พระองค์ท่านได้รับสั่งว่า “เป็นการดี พวกเขา (นักวิทยุอาสาสมัคร) จะได้ภาคภูมิใจ” และได้ทรงรับสัญญาณเรียกขาน “วีอาร์-009” ที่พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเป็นสัญญาณเรียกขานประจำพระองค์ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2524 โดยเพื่อทรงใช้ในศูนย์ควบคุมข่ายวิทยุอาสาสมัคร หรือ “ศูนย์สายลม” ของกรมไปรษณีย์โทรเลข เป็นการยืนยันว่า พระองค์ท่านได้ทรงเข้าร่วมในข่ายวิทยุอาสาสมัครตั้งแต่วันนั้น

               นอกจากนี้ยังทูลเกล้าฯ ถวาย สัญญาณเรียกขานประจำพระองค์ว่า “กส.9” อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อไว้ทรงทำการติดต่อสื่อสารกับพนักงานวิทยุประจำหน่วยตำรวจต่างๆ

               ขณะที่ พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ ใช้สัญญาณเรียกขานประจำตัวว่า “วีอาร์-001”

               ทั้งนี้ จากหนังสือ “บันทึกความทรงจำ เรื่อง การสื่อสารของในหลวง” โดย พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ได้บอกเล่าเรื่องราวบางส่วนที่ทำให้เราได้ประจักษ์ในพระอัจฉริยภาพขององค์พ่อหลวง ร.9 ในกิจการวิทยุ ว่า ความสนพระทัยในวิชาช่างมีตั้งแต่ระหว่างที่ยังประทับศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยที่เมืองโลซานน์ โดยพระองค์ทรงเลือกที่จะศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อต้องเสด็จขึ้นครองราชย์อย่างกะทันหัน จึงทรงจำเป็นที่ต้องเลิกราไประยะหนึ่ง

               “...ในหลวง ร.9 ได้ทรงเริ่มศึกษาค้นคว้าในเรื่องเทคนิคการสื่อสารทางวิทยุใหม่อย่างจริงจังเมื่อปี พ.ศ. 2511 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ผม (พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์) ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองการสื่อสารกรมตำรวจ และได้รับพระบรมราชโองการให้ปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจราชสำนักเวรพอดี”

               “ทั้งนี้ เนื่องจากความสนพระทัยในวิชาช่างแขนงนี้มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ประการหนึ่งและทรงตระหนักในความสำคัญว่าการสื่อสารทางวิทยุจะเป็นสื่อที่ดีที่สุด ซึ่งจะช่วยให้พระองค์ท่านได้ทราบข่าวสารสารทุกข์สุกดิบของพสกนิกรให้ได้โดยรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์...”

               เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการสื่อสารของกรมตำรวจ โดยทรงใช้สัญญาณเรียกขานประจำพระองค์ว่า “กส.9” ทรงติดต่อหน่วยตำรวจต่างๆ อย่างคล่องแคล่วไม่ถือพระองค์ พระองค์ทรงจดจำสัญญาณเรียกขานประจำตัวบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ภายในข่าย ประมวลสัญญาณที่ใช้ติดต่อภายในข่ายการสื่อสารตำรวจหรือ โค้ด “ว.” และระเบียบปฏิบัติอื่นๆ ภายในข่ายได้อย่างแม่นยำ

               “วิธีการติดต่อสื่อสารภายในข่ายวิทยุไม่ว่าจะเป็นข่ายใดก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) จะทรงปฏิบัติโดยใช้วาจาที่สุภาพ และเคร่งครัดต่อวินัยในการสื่อสารเป็นอย่างยิ่ง

               กล่าวสำหรับ พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ ที่ต้องนับว่าเป็นปูชนียบุคคล ผู้วางรากฐานโทรคมนาคมและกิจการวิทยุสื่อสารของประเทศไทย

               โดยเฉพาะนักวิทยุสมัครเล่น นักวิทยุอาสาสมัคร รวมถึงวิทยุราชการ ต่างก็รับรู้ทั่วกันว่า หากปราศจากความกล้าหาญของ พลตํารวจตรี สุชาติฯ ขณะดํารงตําแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข ในขณะนั้นแล้ว กิจการวิทยุสมัครเล่นก็คงไม่อาจเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย

               พลตำรวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2470 ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 (สิริอายุ 84 ปี 10 เดือน 13 วัน) บิดา-มารดา คือ นายดิน และ นางฉัตร เผือกสกนธ์

               จบระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์สาขาวิชาไฟฟ้าระดับสูง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2492, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 22

               ประสบการณ์ทํางาน เคยเป็นหัวหน้ากองการสื่อสาร กรมตํารวจ, อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข และกรรมการการทํางานบริหารรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารโทรคมนาคมอีกหลายแห่ง ฯลฯ และยังเป็นอดีตเสรีไทย โดยเป็นทหารผ่านศึกยศร้อยตรี ในระหว่างสงครามโลก ครั้งที่ 2

               ทั้งนี้ ในเอกสาร ชื่อ “85 ความทรงจํา ถึง พลตํารวจตรี สุชาติ เผือกสกนธ์ (วีอาร์ 001/HS1BA)” เขียนโดย “ทศพนธ์ นรทัศน์” ยังระบุว่า สิ่งที่ท่านบอกว่า ท่านภูมิใจเสมอคือ เป็นโฆษกของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองทัพอากาศในวันปราบ “กบฏแมนฮัตตัน” 29 มิถุนายน พ.ศ. 2493

               และที่ยิ่งกว่าความภาคภูมิใจ แต่เป็นความปลื้มปีติเกินจะเอ่ย คือ ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับองค์พ่อหลวง ร.9 คือ หนังสือบันทึกความทรงจํา “เรื่อง การสื่อสารของในหลวง” ที่ได้รวบรวมความทรงจําเกี่ยวกับพระราชอัจฉริยภาพและพระราชกรณียกิจในด้านการสื่อสารทางวิทยุคมนาคม วิทยุสมัครเล่น และโทรคมนาคมของในหลวงรัชกาลที่ 9 จัดพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2542

               นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจรู้และไม่รู้ คือ ความรู้พิเศษของท่านในทางวิชาการโหราศาสตร์ดวงดาว แต่ไม่รับพยากรณ์ทั่วไป โดยแม้จะออกตัวว่าเป็นมือสมัครเล่น แต่เสียงร่ำลือทั่วกันว่า พล.ต.ต.สุชาติ นั้นแม่นอย่างตาเห็น!

               ขณะที่ยังได้เขียนบทความวิจารณ์เผยแพร่ในนิตยสารอีกมากมาย เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับโหราศาสตร์, ดวงพระชะตาสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, ดาวเสาร์ดับในราศีกรกฏ, ดวงเมืองวันเกิดสึนามิภาคใต้ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547, อิทธิพลของดาวพระเคราะห์ในวันเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ฯลฯ

               ถือเป็นอีกบุคคลสำคัญที่คนไทยมิอาจลืมเลือน!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ