Lifestyle

ดอกเตอร์ ดับบลิว. สจ๊วต วิตต์มอร์ แพทย์ผู้ถวายการประสูติองค

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น้อยคนจะรู้ว่าพระสหายคนแรกขององค์ในหลวง ร.9 คือ ดอกเตอร์ ดับเบิลยู สจ๊วต วิตต์มอร์ โดยขณะทำการถวายการประสูตินั้น คุณหมอเป็นหมอหนุ่มที่มีอายุเพียง 45 ปี!

               เราคนไทย น้อยคนจะรู้ว่าพระสหายคนแรกของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ ดอกเตอร์ ดับเบิลยู สจ๊วต วิตต์มอร์ (Dr. W. Stewart Whittemore) หรือแพทย์ผู้ถวายการประสูติพระองค์เอง

               โดยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 เวลา 08.45 น. ดร.ดับเบิลยู สจ๊วต วิตต์มอร์ และคณะแพทย์ พยาบาล ได้ปฏิบัติภารกิจทางการแพทย์ที่สำคัญยิ่งครั้งหนึ่งของโลกนั่นคือ ถวายการประสูติแด่หม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยาหม่อมในสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ ซึ่งประทับศึกษาวิชาการแพทย์ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อันไม่ห่างมากนัก จากโรงพยาบาลเมาต์ ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา โดยมีพระนามภาษาอังกฤษ “baby Songkla” ในบัตรพระประสูติกาล

               เรื่องนี้เฟซบุ๊กชมรมประวัติศาสตร์สยามได้ค้นคว้ามาบอกเล่าว่า นายแพทย์สจ๊วต วิตต์มอร์ จดจำเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ในวันพระบรมราชสมภพได้ทั้งหมด..

               โดยบันทึกไว้ในวารสาร บอสตันโกลบ ฉบับปี พ.ศ. 2503... คุณหมอทบทวนไว้ในวารสารความว่า... “พระองค์ทรงมีพระพลานามัยดีเยี่ยม”

               “...หม่อมแม่ของพระองค์ ทรงเป็นคนไข้ที่ยอดเยี่ยม ไม่ทรงบ่นใดๆ...”

               ในเวลานั้น คุณหมอมิอาจทราบได้เลยว่าใน 19 ปีต่อมาจากนั้น เด็กน้อยผู้นี้ จะได้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศสยาม (รัชกาลที่ 9) และได้ทรงครองราชบัลลังก์ต่อเนื่องยาวนานกว่าใครจะนึกถึงได้ !

               ทั้งนี้ วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขณะทรงครองราชย์ ได้เสด็จฯ เยี่ยมโรงพยาบาลซึ่งเป็นที่ทรงพระราชสมภพ และโอกาสนี้ได้พระราชทานของที่ระลึกแก่ “พระสหายคนแรก” ดอกเตอร์ ดับเบิลยู สจ๊วต วิตต์มอร์ และนางพยาบาลที่ช่วยในการถวายการประสูติ ทั้ง 4 คน คือ มิสซิส เลสลี่ เลตัน, มิส เจนีเวียฟ เวลดอน, มิสซิสมาร์กาเร็ต เฟย์ และ มิสรูธ แฮริงตัน

               เหตุการณ์ในวันนั้นมีบันทึกอยู่ในหนังสือเรื่อง “เสด็จพระราชดําเนิน : สหรัฐอเมริกา พุทธศักราช 2503, ปากีสถาน พุทธศักราช 2505, และ สหพันธรัฐมลายา พุทธศักราช 2505” พระนิพนธ์ในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิภาวดีรังสิต มีความว่า

               “หมอชรา ดอกเตอร์ ดับบลิว.สจ๊วต วิตต์มอร์ ผู้ซึ่งถวายการประสูติ ที่ทรงพบครั้งแรกแล้วที่มหาวิทยาลัยฮาร์เวิดก่อนเสวยพระกระยาหารกลางวัน ได้รับพระราชทานหีบบุหรี่ถมทอง มีพระปรมาภิไธยข้างนอก และตัวหนังสือสลักไว้ข้างในว่า To my first friend, Doctor Whittmore, with Affectionate regard แด่มิตรคนแรกของฉัน ดร.วิทมอร์ ด้วยความระลึกถึงและรักใคร่”

               “สำหรับตอนนี้หมอวิตต์มอร์มาคอยรับเสด็จอยู่ที่นี้พร้อมด้วยนางพยาบาล 4 คน ผู้ช่วยของแกเมื่อครั้งกระโน้น นางพยาบาลทั้ง 4 มีชื่อว่า มิสเวลด้อน, มิสแฮริงตัน, มิสซิสเฟย์ และมิสซิสเลตัน 3 คนแรกยังเป็นนางพยาบาลอยู่ที่เมาท์ ออเบิร์นนั่นเอง ส่วนมิสซิสเลตันเก๋กว่าคนอื่น ไม่ได้แต่งนางพยาบาลอย่างอีก 3 คนดอก แกแต่งตัวโก้สวมหมวกขนนกมีเวลคลุมลงมาที่หน้าผากก็ได้ ตลบขึ้นก็ได้ สวมสร้อยคอไข่มุก เดี๋ยวนี้มีตำแหน่งใหญ่โต เป็นถึงผู้อำนวยการของสมาคมศิษย์เก่าของนางพยาบาลเมืองนี้”

               "นางพยาบาลทั้ง 4 นี้ เวลานั้นเป็นนางพยาบาลสาวๆ สำเร็จใหม่ ตัวเล็กแบบบาง บัดนี้กลายเป็นนางพยาบาลแก่ๆ สวมแว่นตาหนา ตัวอ้วนๆ แต่ท่าทางยังตุ้งติ้งทั้ง 4 คน เมื่อพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานตลับแป้งถมทอง มีพระปรมาภิไธยที่ฝาตลับแก่ทุกคน และตรัสคล้ายๆ ว่า “ต้องใช้บ้างนะ” คนหนึ่งก็เปิดฝาตลับแป้งขึ้นส่องกระจกในนั้น พลางทำตาหวานร้องว่า “จะใช้ตลอดชีวิต และจะนึกถึงท่านตลอดเวลา”

               นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าว่ามิสซิสเลตันนึกถึงความหลัง ก็บอกกับคนที่มาหยุดฟังแกว่า “ท่านเป็นทารกที่น่าเอ็นดูที่สุด พ่อแม่ของท่านทำตนเป็นคนธรรมดาๆ ไม่ชอบเป่าแตร ตีกลอง”

               โดยก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินออกจากบอสตัน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักหนังสือพิมพ์อเมริกันเข้าเฝ้าฯ และพระราชทานสัมภาษณ์เป็นเวลานานอย่างไม่ถือพระองค์

               ในช่วงหนึ่งของการพระราชทานสัมภาษณ์ นักหนังสือพิมพ์ได้กราบบังคมทูลถามความรู้สึกส่วนพระองค์ว่า “นี่เป็นการเสด็จฯ เยือนอเมริกาเป็นครั้งแรก…ทรงรู้สึกอย่างไรบ้าง?” มีพระราชดำรัสตอบว่า “ก็ตื่นเต้นที่ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด เพราะข้าพเจ้าเกิดที่นี่...ที่เมืองบอสตัน”

               อนึ่ง สำหรับ เพื่อนคนแรกของในหลวง รัชกาลที่ 9 เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ.2425 ที่เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2505 ขณะอายุ 79 ปี (ข้อมูลจาก https://www.geni.com/people/W-Stewart-Whittemore/6000000000851687284)

               ดังนั้น จึงหมายความว่า เขาเสียชีวิตหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ เยี่ยมที่โรงพยาบาลเพียง 2 ปีเท่านั้น และยังหมายความว่าขณะทำการถวายการประสูตินั้น คุณหมอเป็นหมอหนุ่มที่มีอายุเพียง 45 ปี!

               ขณะที่ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ โรงพยาบาลก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2414 เดิมมีชื่อว่า โรงพยาบาลเคมบริดจ์ และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์นในภายหลัง

               และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์นนี้เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ใช้สำหรับแพทย์ฝึกหัดจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และในปี พ.ศ. 2549 เมาต์ออเบิร์นได้รับเลือกเป็นหน่วยงานที่น่าทำงานจากหนังสือพิมพ์ของบอสตัน

/////////////////////

               ขอขอบคุณข้อมูลจาก เฟซบุ๊กชมรมประวัติศาสตร์สยาม และเฟซบุ๊กราชบัลลังก์จักรีวงศ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ