Lifestyle

บ้านเราต้องไม่เป็นอย่างนี้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรณี บทกวีคำผวน ที่ฝากถึงปู ยิ่งลักษณ์ กำลังทำให้เกิดความยุ่งยากในหลายฝ่าย เรื่องนี้ จำลอง ฝั่งชลจิตร ขอพูดบ้าง!!!

               เป็นคนธรรมดาๆ ผิดพลาดได้เสมอ เมื่อเขาพลาดหรือเลือกแสดงความคิดเห็นผิดจังหวะ ผู้มีปัญญาควรซ้ำเติมหรือให้อภัย เขาไม่ใช่ฆาตกรฆ่าข่มขืนหรือโจรปล้นฆ่าเป็นนิสัย

               กรณี ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือ ไพทูรย์ ธัญญา นักเขียนรางวัลซีไรต์และศิลปินแห่งชาติ เขียนบทกวีใช้กลวิธีคำผวนวิจารณ์การกระทำของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงที่ไม่มาฟังคำพิพากษาของศาลดังที่ทราบกันดี

               ในชีวิตจริงเขาเป็นข้าราชการที่ดี เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนวิชาการวรรณกรรมแก่นักศึกษามาจนเกษียณราชการ นอกจากสร้างงานวรรณกรรมเขายังเขียนตำราวรรณกรรมวิจารณ์ เช่นเดียวกับ เจ.เอ็ม. คูสต์เซียหรือ อุมแบร์โต้ เอโก ศาสตราจารย์วิชาวรรณคดีที่มีชื่อเสียงระดับโลก

               ทั้งเป็นอาจารย์จัดค่ายวรรณกรรมฝึกทักษะการอ่านเขียนให้ศิษย์ติดต่อกันมา 20 ปี ค่ายวรรณกรรมสร้างนักอ่าน คนรักการอ่าน นักเขียนและนักสื่อสารมวลชนนับร้อยคน

               การวิจารณ์การเมืองผิดจังหวะหรือผิดพลาดเพียงครั้งเดียว สื่อออนไลน์ถล่มเสียจนไม่มีที่ยืน โดยเฉพาะฝ่ายอ้างตัวว่าเป็นประชาธิปไตยและชิงชังเผด็จการ การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิที่ควรได้รับความเคารพ แม้เป็นฝ่ายตรงกันข้าม กรณีของธัญญาผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจีนที่พวกเรดการ์ดคอยไล่สำรวจและกำจัดคนคิดต่าง

               การวิพากษ์วิจารณ์ของหมู่ปัญญาชนจะหยิบยกทฤษฎีเกี่ยวกับสิทธิสตรี เพศสภาพหรือกติกาสากลมากล่าวอ้างได้มากมาย แต่ลืมสำรวจกฎธรรมชาติคือไม่ว่าทางการเมืองหรือไม่การเมืองก็ตาม เราทุกคนสามารถผิดพลาดได้เสมอ

               ความแตกแยกและการแบ่งฝ่ายต่างหากที่ทำให้เรารีบขย้ำเหยื่อจนลืมความเมตตา ผมคิดย้อนกลับไปว่าถ้าการปฏิวัติของเราสำเร็จเมื่อสามสิบห้าปีที่แล้ว เราอาจมีสุสานหัวกะโหลกให้รำลึกเหมือนเพื่อนบ้าน หรือมีผู้คนล่องเรือหนีตายไปประเทศที่สาม โบราณสถานและศิลปะเก่าๆ อาจถูกทุบทำลายหรือเผาด้วยความเคียดแค้นชิงชังก็ได้ แล้วค่อยมานั่งเสียใจกันภายหลัง ดูประเทศจีนหลังยุคเหมาเจ๋อตง เป็นตัวอย่าง เราสามารถดูความน่าขยะแขยงจากภาพยนตร์ของจางอี้โหมว หรือ เฉินไก่เกอ อ่านงานเขียนเสียดเย้ยยุคสมัยอันอัปลักษณ์ของเกาสิงเจียนหรือม่อเหยียน

               การเผาหนังสือ ‘ก่อกองทราย’ และงานเล่มอื่นๆ ของธัญญาสะท้อนหน่ออ่อนสิ่งที่ิเกิดในการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน เผาทำลายโดยไม่แยกแยะ เผาด้วยความเกลียดชัง

               บทความชิ้นนี้อาจนำความยุ่งยากมาสู่ผมก็ได้ ในฐานะคนธรรมดาผมอาจผิดจังหวะก็ได้ เผลอ ๆ ถูกเรียกไปอบรมปรับทัศนคติอย่าง คสช. เขาทำ แต่ถ้าผิดจากเวลานี้ ผมควรเขียนเรื่องความเป็นมนุษย์เวลาไหน นอกจากเวลาที่ประชาชนปัญญาชนหันหน้ามาใช้สติปัญญาเล่นงานกันเอง ในกลุ่มปัญญาชนที่กำลังเอาโทษธัญญาหลายคนเป็นเพื่อนที่ดีของผม อีกหลายคนผมอ่านและให้ความเคารพงานเขียนงานแปลของเขา

               มาถึงตรงนี้ ผมนึกถึงถ้อยคำของเปาโล แฟร์ นักการศึกษาชาวบราซิลที่ปัญญาชนหัวก้าวหน้าให้ความนับถือ “จะเป็นอย่างไรถ้าเราค้นพบว่า วิถีชีวิตแห่งปัจจุบัน เป็นศัตรูต่อภารกิจ ในการเป็นมนุษย์อย่างเต็มภาคภูมิของเรา”---

               ผมตระหนักดีว่าบ้านเมืองเรากำลังน่าสิ้นหวัง คำว่า ‘ปรองดอง’ กลายเป็นเครื่องมือยื้อเวลาของผู้กุมอำนาจ พวกเขานั่งกระหยิ่มมองความแตกแยก มองเห็นจุดอ่อนและความอ่อนเปลี้ยเสียขวัญในหมู่ประชาชน โดยเฉพาะปัญญาชนที่เป็นกลไกสื่อความคิดไปสู่สังคมได้

               ไม่ต้องยกทฤษฎีใด ๆ มาอ้างก็เห็นเต็มตาว่าสังคมเราอ่อนแอลงไปทุกวัน จะยินยอมให้เป็นอย่างนั้นก็เอาเถิด

..................................................................

จำลอง ฝั่งชลจิตร : นสพ.คมชัดลึก วันที่ 31 สิงหาคม 2560

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ