Lifestyle

วันที่เมฆบังจันทร์ ชยันต์ วรรธนะภูติ นักวิชาการเพื่อคนชายขอบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อ.ชยันต์ วรรธนะภูติ คนนี้ต้องนับว่าไม่ธรรมดา และยังถือเป็นคนหนึ่งที่ทางการไทยจับตามองความเคลื่อนไหวของเขามาโดยตลอด

               ต่อเนื่องมาหลายวัน กรณี ชยันต์ วรรธนะภูติ นักวิชาการชื่อดัง พร้อมพวกรวม 5 คน ที่ไปโดนข้อกล่าวหาคดีชุมนุมเกิน 5 คน เป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.โดยไม่ได้รับอนุญาต

               เรื่องนี้ เกิดขึ้นจากการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพที่เชียงใหม่ เมื่อ15-18 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

               ล่าสุดวันที่ 21 สิงหาคม พวกเขาก็เพิ่งเดินทางไปที่ สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหา

               โดย ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และพวก แสดงจุดยืนว่า ข้อกล่าวหานั้นไม่มีความชัดเจน หรือไม่เป็นไปตามที่ถูกกล่าวหา เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับความเป็นจริงเป็นคนละเรื่อง เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการเท่านั้น !

               และงานนี้ยังระบุว่า หลังรับทราบข้อกล่าวหาผ่านพนักงานสอบสวนแล้วจะทำหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษรต่อไปในวันที่ 1 กันยายนที่จะถึง

               อย่างไรก็ดี แม้จะเป็นการปฏิเสธ แต่ตามข่าวยังระบุว่า ช่วงวันที่ 18 กรกฎาคม ที่จัดการประชุมวิชาการดังกล่าว เกิดมีผู้ติดป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ส่งผลตามที่เห็นกันนั่นเอง

               ดูแววแล้ว น่าจะไม่จบลงง่ายๆ โดยเฉพาะ อ.ชยันต์ วรรธนะภูติ คนนี้ต้องนับว่าไม่ธรรมดา และยังถือเป็นคนหนึ่งที่ทางการไทยจับตามองความเคลื่อนไหวของเขามาโดยตลอด

               ดร.ชยันต์ ปัจจุบันอายุ 74 ปี เป็นคนเชียงใหม่ เป็นที่รู้จักกันดีว่า เขาคือนักวิชาการที่ทำงานอยู่กับคนจน คนด้อยโอกาส หรือคนชายขอบของสังคมมาอย่างต่อเนื่อง

               ทั้งยังเป็นที่ยอมรับนับถือว่า เป็นคนจุดประกายให้แสงสว่างกับขบวนการประชาชน ใส่ใจในปัญหาสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

               “ชยันต์” ใช้ชีวิตในเส้นทางงานวิชาการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มายาวนาน นับแต่ปี 2513 เริ่มต้นจาก ตำแหน่งเลขานุการ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

               ระหว่างนั้น ก็ยังเป็น อาจารย์ภาควิชาบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มช. จนปี 2528 มีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มช.

               จากนั้นปี 2532 เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มช. จนถึงปี 2540 และตั้งแต่ช่วงปี 2522-2546 ยังเป็นอาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มช. อีกด้วย

               ช่วงปี 2542–2547 เป็นกรรมการบริหารโครงการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน

               ปัจจุบัน เป็น หัวหน้าศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มช. และหัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มช.

               ความเป็นนักวิชาการเชี่ยวชาญด้านมานุษยวิทยาที่เอาจริงเอาจัง ทำให้ อ.ชยันต์ ไปปรากฏตัวตามเวทีและความเคลื่อนไหวต่างๆ เรื่องนี้ ทั้งเรื่องชาติพันธุ์ และชนกลุ่มน้อย

               หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า จนเกษียณอายุ อ.ชยันต์ ไม่เคยขอรับตำแหน่งทางวิชาการ หลายคนบอกตรงกันว่า ถ้าได้รับการแต่งตั้ง ไม่น่าจะต่ำกว่าระดับรองศาสตราจารย์ และอาจถึงศาตราจารย์ด้วยซ้ำ !

               ซึ่งเรื่องนี้ แม้แต่เจ้าตัวก็ยังไม่เคยบอกถึงเหตุผล

               อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวเพื่อภาคประชาชน ย่อมหนีไม่พ้นกิจกรรมนอกรั้วมหาวิทยาลัย และต้องไปเกี่ยวข้องกับปัญหาระดับชาติ หรือเรื่องการเมือง

               ถ้าจะว่ากันใกล้ๆ ช่วงเมษายนที่ผ่านมา อ.ชยันต์ พร้อมคณาจารย์ มช. อีกจำนวนหนึ่ง ถึงกับเปิดหน้า ยิงคำถามใส่ทางการไทยในนาม “เครือข่ายติดตามความคืบหน้าคดีวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส” ในหลากหลายคำถาม

               หรือกับงานวิชาการล่าสุด ที่เกิดประเด็นจน อ.ชยันต์ ต้องขึ้นโรงพัก ถ้าดูตามเนื้องานแล้ว คือ การประชุมวิชาการนานาชาติ ที่มีนักวิชาการทั้งในและจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมกว่า 600 คน

               แต่ปัญหาของเรื่องที่ทำให้ทางการไทยไม่ค่อยโอ...มันไปเกิดเอาตรง ไม่ใช่แค่ การติดป้ายข้อความว่า “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร”

               เพราะช่วงวันที่ 17 กรกฎาคม ได้มีแถลงการณ์ เรื่อง “ขอคืนพื้นที่ความรู้และสิทธิเสรีภาพของพลเมืองในสังคมไทย” ในงานที่จัดขึ้นนั่นเอง

               เรื่องนี้ปรากฏทาง “ยูทูบ” โดยเป็นคลิปที่นักวิชาการจำนวนมากยืนรวมตัวกันฟังการอ่านแถลงการณ์เป็นภาษาอังกฤษ โดยนักวิชาการหญิงคนหนึ่ง และตบท้ายการอ่านเวอร์ชั่นไทยจาก อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

               ระบุถึงข้อเรียกร้อง 4 ข้อ โดยสรุปคือ การทั้งการขอคืนพื้นที่ความรู้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยไม่ถูกปิดกั้น ครอบงำ หรือบิดเบือน และยังมีอย่างอื่นซึ่งคงต้องไปหาอ่านกันดู

               แต่ที่สุดแล้ว หมายเรียกก็มาถึงหน้าบ้าน อ.ชยันต์ ในฐานะรองประธานจัดงาน และพวกอีก 4 คน ในข้อหาว่าชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน

               จน 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา พวกเขาได้มารับทราบข้อกล่าวหาเรียบร้อยแล้ว และน่าจะยังคงต่อสู้ต่อไป

               เพราะแรงใจจากแนวร่วมที่ล้นหลาม โดยเฉพาะจากผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากทั่วโลกรวม 291 คน ที่ลงชื่อในแถลงการณ์ขอให้ยกเลิกหมายเรียกและการแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าว

               น่าแปลกที่ถึงตอนนี้ ยังไม่ได้ยินเสียงคนจากรัฐทางการไทยจะว่าเช่นไร แต่ที่แน่ๆ เรื่องนี้น่าจะว่ากันยาว !!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ