Lifestyle

มากับน้ำท่วม? “เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ” ปลัดลูกชายผู้รับเหมา!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จัก ว่าที่ปลัดกระทรวงเกษตรฯ คนใหม่ ที่ว่ากันว่า เป็นความหวังเหรียญทองของรัฐบาลในการสู้น้ำท่วมหนนี้!!

              คสช.ยุคหืดขึ้นคอเรื่องสินค้าเกษตรราคาตก แถมยังต้องมาเจอภัยธรรมชาติกระหน่ำซัดซ้ำมาอีกดอก งานนี้เลยต้องการมือดีมาสานงานให้ผ่านพ้น

              ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับการปรับให้เก้าอี้ “ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ตกเป็นของ เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ที่มาเสียบแทน ธีรภัทร์ ประยูรสิทธิ ที่ถูกปรับย้ายไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

              แล้วก็ตามคาด เพราะขึ้นปุ๊บ กระทรวงเกษตรฯ ก็มีการเตรียมของบฯ กลาง 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมทันที พี่น้องชาวไทยที่เดือดร้อนคงจะได้หายใจหายคอกันบ้างครานี้

              จริงอยู่ที่หลายคน ร่ำลือกันว่า การโยกย้ายครั้งนี้ เพราะเจ้าเก่าทำผลงานไม่เข้าตา ไม่สามารถผลักดันงานให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลได้

              แต่ข้าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าก็เป็นไปเพื่อความเหมาะสม

              งานนี้เลยต้องถามกันหน่อยว่า เหมาะสมยังไง ทำไมเจ้าใหม่ถึงดูจะเป็นความหวังเหรียญทองของรัฐบาลในหนนี้ เลยต้องไปสืบประวัติดู

              เลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ เกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2501 เป็นลูกชายผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ฐานะทางการเงินไม่ธรรมดา เขาจึงได้เล่าเรียนในสถาบันชั้นนำมาตลอด

              ตั้งแต่ช่วงปี 2516 จบ ม.ศ.3 ที่โรงเรียนเซนต์จอห์น จากนั้น ปี 2518 จบ ม.ศ.5 ที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ช่วงปี 2523 ไปจบป.ตรี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโยธา ที่ Central New England College of Technology USA พอปี 2524 ก็ไปจบด้านบริหารธุรกิจ หรือ Master of Business Administration (MBA) ที่ Florida Institute of Technology USA กระทั่งกลับมาจบนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง ช่วงปี 2530

              เลิศวิโรจน์ เริ่มทำงานในปี 2534 ตำแหน่งวิศวกร 6 ฝ่ายบริหารสัญญาจ้าง กองบริหารโครงการเงินกู้ และจากนั้นมาเส้นทางสายราชการในแวดวงชลประทานก็ไต่ขึ้นตามลำดับ

              ช่วง 10 กว่าปี นับจากปี 2534-2547 เขาไต่ขึ้นจากระดับนายช่างชลประทาน 7 ผ่านตำแหน่งหัวหน้าโครงการชลประทานต่างๆ จนช่วงมาถึงพฤศจิกายน 2543 ก็ได้ตำแหน่ง วิศวกรโยธา 9 (บส.) และขึ้นผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำ

              จากนั้นในเดือนตุลาคม 2545 เป็นวิศวกรโยธา 9 (บส.) ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำ 1 รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 3 พอมาเดือนธันวาคม 2545 เป็นวิศวกรโยธา 9 (บส.) ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาแหล่งน้ำ 1 รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 2, 3, 4

              มาปี 2546 เป็นนายช่างชลประทาน 9 (บส.) ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 4 ตามด้วย วิศวกรชลประทาน 9 (บส.) ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 4

              กระทั่งเดือนเมษายน 2547 วิศวกรชลประทาน 9 (บส.) ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 3 ในเดือนตุลาคม 2547 วิศวกรชลประทาน 9 (บส.) ผู้อำนวยการสำนักชลประทานที่ 13

              จากนั้นเส้นทางของเขาก็เข้าสู่นักบริหารระดับสูงในเดือนตุลาคม 2553 เป็นเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จนวันที่ 18 พฤศจิกายน 2554 เป็นรองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

              จนเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2555 ขึ้นเป็นอธิบดีกรมชลประทาน และ 1 ตุลาคม 2558 ขึ้นเก้าอี้รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทั่งมติ ครม.ล่าสุด 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา เขาขึ้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม ที่จะถึง มีเวลาอีก 2 ปี ก่อนจะเกษียณอายุราชการ

              แน่นอน นั่นคือเส้นทางในชีวิตราชการ ที่ดูแลราบรื่น และราบเรียบ แต่แท้จริงแล้วระหว่างทางเต็มไปด้วยเรื่องเล่า โดยเฉพาะช่วงที่เขาขึ้นเป็นอธิบดีกรมชลประมาน ในปี 2555 นั่นก็อยู่ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์

              โดยแม้ว่าการขึ้นเก้าอี้อธิบดีกรมชลฯ ของเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ จะไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับคนที่เป็นลูกหม้อมาแต่เก่าก่อน แต่ตอนที่เขาไต่เต้ามาจนถึงรองอธิบดีกรมชลประทาน ก็มีเหตุให้ถูกโยกออกไปเป็นผู้ตรวจราชการประจำกระทรวง เลขาธิการ ส.ป.ก. และรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ

              อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เลิศวิโรจน์เป็นอธิบดีกรมชลประทาน ที่หมุนวนอยู่ในอำนาจการเมือง ที่พรรคการเมืองที่มีอิทธิพลในกระทรวงเกษตรฯ และกรมชลประทานมาตลอด

              แต่อำนาจการเมือง ยังไม่สู้อำนาจพลังน้ำ เพราะช่วงรอยต่อปี 2554-2555 หลังวิกฤติน้ำท่วม “กรมชลประทาน” ตกเป็นจำเลยในอันดับต้นๆ ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักถึงประสิทธิภาพในการทำงาน ในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการ บริหารจัดการน้ำ

              อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือ เขายังคงสามารถนั่งเก้าอี้อธิบดีกรมพญานาคอยู่นาน จนข้ามสมัยมาถึงรัฐบาล คสช.ได้

              ถามทำไม ยากที่จะคาดเดา แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรมชลประทานขยันทำงานเพื่อประชาชนหนักมาก !

              โดยมักจะมีโครงการออกมา และมีการ “ของบกลาง” จากรัฐบาล คสช.อยู่อย่างสม่ำเสมอ

              เรื่องนี้น่าจะอธิบายได้จากการที่รัฐบาล คสช.เอง ก็วางแผนดูแลบริหารจัดการน้ำมาตั้งแต่ต้น และคงต้องการคนมีประสบการณ์ อย่างเลิศวิโรจน์ เจ้าเก่า

              ไม่เช่นนั้นช่วงปี 2558 คงไม่แต่งตั้งเขาเป็น 1 ใน 200 สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ที่มาดูเรื่องการปฏิรูปการบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะ ซึ่งเลิศวิโรจน์ ถือเป็นคนที่มาจากภาคราชการเพียงคนเดียวที่รอบรู้เรื่องน้ำ

              ว่ากันว่า เลิศวิโรจน์มารับหน้าที่ “ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ช่วงที่มีข่าวว่าพายุจะถล่มไทยหลายระลอกในอีกสองเดือนข้างหน้า คงมีงานใหญ่ไว้รอคนมีประสบการณ์ได้แสดงความสามารถอีกครั้งกระมัง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ