Lifestyle

เรื่องโชคเคราะห์ “สุชาติ เหมือนแก้ว” หิ้วกระเป๋ากลับบ้าน?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเตรียมตัวเตรียมใจของ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ว่าต้องนอนคุกแน่ๆ ปรากฏว่าได้ขนกระเป๋ากลับบ้าน งานนี้ไม่รู้ทำเอาเคล็ด หรือทำเอาขำกันแน่ ก็ "สายฮา" นี่นา!

               วันนี้เราอาจจะรู้กันแล้วว่า ไฮไลท์ของการตัดสินคดีสลายม็อบพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 ผลออกมาว่าศาลยกฟ้อง ซึ่งทำให้ความตื่นเต้นลุ้นระทึกจบลง แม้ว่าภายภาคหน้า ป.ป.ช.ซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนี้จะยืนอุทธรณ์คำสั่งศาลหรือไม่ก็ตาม

               แต่ที่เด็ดต่อเนื่องมา ซึ่งต้องขอยกให้เป็น “สีสันของวัน” คือการเตรียมตัวเตรียมใจของจำเลยที่ 4 พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว หรือ “บิ๊กเบื๊อก” อดีต ผบช.น. อายุ 66 ปี ที่ก่อนจะฟังคำตัดสิน ถึงกับออกอาการถอดใจทำนองว่า แม้จะเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม และเชื่อมั่นในคำพิพากษาของศาล แต่ถ้าผลจะออกมาอย่างไรก็ยินดีน้อมรับ เพราะอยากให้จบ สาธารณชนจะได้รู้เสียที

               เท่านั้นยังไม่พอ ยังแถมด้วยการบอกกับสื่อมวลชนว่า เตรียมกระเป๋ามา 2 ใบ ถ้าอะไรไม่เป็นไปดังหวัง ก็คงจะไม่ยื่นอุทธรณ์แล้ว เพราะ “เบื่อ”!!

               เป็นไงล่ะ! ทีนี้มาดูกันว่า พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว เป็นใครกันแน่ ทำไมถึงมาได้ตกเป็นจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ ปรากฏว่าค้นไปค้นมา พบเลย เขาคือหนึ่งในคนที่ได้รับฉายาว่า “เพื่อนแม้ว !”

               พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2494 จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 26 รุ่นเดียวกับ อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

               และจบปริญญาโทรัฐศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงปี 2538 และจบนิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ช่วงปี 2543

               นอกจากนี้ ยังผ่านการอบรมหลักสูตรโรงเรียนผู้บัญชาการรุ่นที่ 18 (ร.ร.ผบก.) และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 48 (วปอ.48)

               รับราชการครั้งแรกเมื่อปี 2516 ในกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เป็น ผู้บังคับหมวด (ผบ.มว.) จากนั้นเติบโตผ่านตำแหน่งสำคัญในกองปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) มากมาย จนได้เป็นนายพล ติดยศ พล.ต.ต. เมื่อปี 2544 ช่วงรัฐบาลทักษิณ โดยเป็น ผบก.อก.บช.ก. กระทั่งโยกเป็น ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง ในปี 2546 กระทั่งขึ้นหม้อจนเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในปี 2547 และโยกมาเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551

               ต่อมามีความวุ่นวายทางการเมืองจากม็อบเสื้อเหลือง พล.ต.ท.สุชาติ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ และทำเนียบรัฐบาล

               ซึ่งที่สุด 1 ตุลาคม 2551 พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ก็ขึ้นรับตำแหน่ง ผบช.น.แทน พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ว่ากันว่าไม่เด็ดขาดกับม็อบเหลืองเท่าที่ควร

               โดยงานนี้ ปรากฏว่ารับไม้ต่อเพียง 7 วัน ม็อบพันธมิตรฯ ก็แตกกระจายในการสลายการชุมนุมที่มี พล.ต.ท.สุชาติ บัญชาการนั่นเอง

               แต่การเมืองไม่นิ่งอย่างที่รู้กัน เมื่อขั้วเปลี่ยน รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จัดการย้ายเขาไปเป็น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (ผบช.ภ.4) กระทั่งปลายเดือนตุลาคม 2552 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีมติปลดเขาออกจากราชการ

               ด้วยเหตุผลที่เดาไม่ยาก คือ ความผิดร้ายแรงจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ตุลาคม 2551 จากการชี้มูลของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นั่นเอง

               สำหรับเส้นทางชีวิตราชการนั้น ที่สุดเขาก็ไม่ได้กลับเข้ารับราชการจนกระทั่งเกษียณอายุ 31 ตุลาคม 2554 แต่ระหว่างนั้นก็มีการฟ้องศาลปกครองให้ สตช.รับกลับเข้ารับราชการตามมติ ก.ต.ร.

               ซึ่งขณะที่ผลยังไม่สรุป แต่ ครม.ในยุคยิ่งลักษณ์ ก็ยังแต่งตั้งให้เขาเป็นคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ(กคพ.) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2555 จนภายหลัง ศาลมีคำตัดสินไม่รับคำฟ้องที่เขาขอกลับเข้ารับราชการ เหตุเพราะยื่นฟ้องหลังวันที่กฎหมายให้โอกาสไว้ นั่นเอง

               ไม่มีข้อมูลว่าทำไมเพื่อนร่วมรุ่นจึงพากันเรียก พล.ต.ท.สุชาติ ว่า “เบื๊อก” จนภายหลังสื่อมวลชนก็พากันเรียกว่า “บิ๊กเบื๊อก” หรือ “เดอะเบื๊อก” แต่มุมหนึ่งอาจจะเป็นเพราะวงในเขาว่ากันว่า บิ๊กเบื๊อกคนนี้ เป็นนายตำรวจที่มีมุกตลกแพรวพราวชนิดตลกคาเฟ่ยังอาย ! ส่วนจะจริงหรือไม่เรื่องนี้ต้องไปสืบค้นกันดู

               แต่หากดูลึกเข้าไปในตัวตนของเพื่อนร่วมรุ่น นรต.26 ซี้ทักษิณคนนี้ จากสื่อหลายสำนักระบุถึงเขาว่า ที่จริงเขานั้นถูกวางตัวให้เป็น ผบช.น. เพื่อรับมือกับม็อบโดยเฉพาะ

               เรื่องการบริหารจัดการม็อบนั้น เจ้าตัวเคยชี้แจงไว้ ท่วงทำนองตำรวจไม่คิดทำร้ายประชาชน เชื่อเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

               “ความเจ็บปวดต้องให้ย้อนกลับไป เปิดรอยยิ้มกลับมา น้ำตาต้องไหลกลับ เชิดหน้าเข้าไว้ เพราะก้มแล้วน้ำตามันจะหยด ตำรวจต้องอดทน ไม่ว่านาทีนั้นจะวิกฤติอย่างไร”(มติชนสุดสัปดาห์ พฤศจิกายน 2551)

               จริงอยู่ที่สื่อมวลชน มิใช่มาตรวัดที่เที่ยงตรงอีกแล้วทุกวันนี้ แต่คำตัดสินของศาล ได้ทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้

               เมื่อล่าสุด 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา หลังผ่านมา 9 ปี ที่ พล.ต.ท.สุชาติ ต้องวนเวียนขึ้นศาลครั้งแล้วครั้งเล่า จนเขาถึงกับบ่น “เบื่อ” ออกมาให้ได้ยินทั่วกัน

               ขนาดอุตส่าห์ทำใจแพ็กกระเป๋ามาตั้งสองใบขนาดนั้น กะนอนยาว ไม่อุทธงอุทธรณ์อีกต่อไปแล้ว ก็เชื่อแล้วว่าเบื่อจริงๆ

               แต่คำพิพากษาที่จบลงวันนี้ คงทำให้เขาพอจะมีรอยยิ้มออกมาบ้าง ไม่ว่า ป.ป.ช. ฝ่ายโจทก์จะเดินหน้าอุทธรณ์ต่อหรือไม่ก็ตาม 

               ตอนนี้ขอขนกระเป๋ากลับไปนอนบ้านก่อนแล้วกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ