Lifestyle

จากบรบือถึงธนบุรี  “ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง” มากด้วยเพื่อนพ้อง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ที่แท้ เจ้าของ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” มีพื้นฐานมาจากนักการเมืองนี่เอง จำชื่อกันได้มั้ย “ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง” มิน่าล่ะ!!!

                    ที่แท้ เจ้าของ “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” มีพื้นฐานมาจากนักการเมืองนี่เอง

                    จำชื่อกันได้มั้ย “ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง” ที่วันนี้ในฐานะ ประธานมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี 1 ใน 10 สถาบันการศึกษาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าเข้าข่ายมีปัญหาเรื่องคุณภาพ

                    แต่ก่อนหน้านี้ เขาคนนี้เรียกว่าอยู่ในสนามการเมืองไทยมาอย่างยาวนาน นับเป็น “เก๋า” คนหนึ่ง เพราะผ่านมาแล้วหลายพรรค หลายรัฐบาล และไปได้ทั้งสองฟาก แถมยังเคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญอีกด้วย

                    “ชาญชัย” เป็นคน อ.บรบือ จ.มหาสารคาม เติบโตมาจากครอบครัวชาวนา พ่อเสียชีวิตมาตั้งแต่เด็กๆ เขาจึงสู้ชีวิตสร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยลำแข้งตัวเอง ทั้งทำไร่มันสำปะหลัง จนมีลานรับซื้อมันสำปะหลัง พร้อมรับซื้อพืชไร่จากชาวบ้าน แถมมีร้านค้าขายในตลาดบรบือ

                    มหาสารคาม ได้ชื่อว่าเป็นแผ่นดินลูกทุ่งหมอลำ ชาญชัยลงทุนทำวงดนตรีไว้รับใช้พ่อแม่พี่น้อง และเขาอาศัยเพลงลูกทุ่งหมอลำนี่แหละเป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมือง  

                    ชาญชัยเริ่มต้นชีวิตการเมืองในปี 2523 เป็นสมาชิกสภาจังหวัดมหาสารคาม จากนั้นลงเลือกตั้งสนามใหญ่ ได้เป็น ส.ส. มหาสารคาม หลายสมัย

                    โดยในสองสมัยแรก 2526 และ 2529 เขาสังกัดพรรคกิจสังคม ในยุคที่หัวหน้าพรรคคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จนเมื่อรัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ ขณะนั้น ยุบสภาในช่วงปี 2529 แต่ก็ยังได้กลับขึ้นมาเป็นต่อ ชาญชัยก็ยังได้นั่งรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

                    จนปี 2531 เกิดการยุบสภาอีกรอบ คราวนี้ ได้รัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากพรรคชาติไทย แต่สนามการค้าของน้าชาติยังไม่ทันถึงฝั่งฝัน ปรากฏว่า คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เข้ายึดอำนาจในปี 2534

                    ฝุ่นตลบอยู่จนปี 2535 ชาญชัยย้ายมาอยู่พรรคสามัคคีธรรม และได้เป็น ส.ส.มหาสารคามต่ออีกสมัยในปีนั้น

                    แต่นักการเมืองไทย ยิ่งกว่าแมวเก้าชีวิต ปี 2537 ชาญชัยยังได้นั่งทำงานประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทั่งการเลือกตั้งปี 2538 เขายังคงได้เป็นส.ส.มหาสารคาม แต่คราวนี้สังกัดพรรคชาติพัฒนา ของน้าชาติ

                    ระหว่างนั้น ชาญชัยก็มีตำแหน่งอยู่บ้าง เช่น กรรมาธิการติดตามผลการปฏิบัติตามมติของสภาผู้แทนราษฎร, กรรมาธิการการสิ่งแวดล้อม, กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2539

                    ปี 2544 ชาญชัยกลับมาเป็น ส.ส.มหาสารคาม เขต 4 ในพรรคใหม่ นามว่า “ไทยรักไทย” ที่ได้นายกฯ ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร

                    ชีวิตการเมืองในพรรคไทยรักไทย ชาญชัยสังกัด “กลุ่มวังพญานาค” ที่นำโดย พินิจ จารุสมบัติ และปรีชา เลาหพงศ์ชนะ (หลังจากพินิจยุบพรรคเสรีธรรม มารวมกับพรรคไทยรักไทย)

                    เลือกตั้งปี 2548 ชาญชัยยังคงนั่ง ส.ส.มหาสารคาม เขต 4 พรรคเดิม และเดือนเมษายน 2549 ชาญชัยสนับสนุน “ศิริพร” (ภรรยาคนที่ 2 ปัจจุบันหย่ากันแล้ว) ลงสมัคร ส.ว.มหาสารคาม และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.ด้วย

                    ช่วงเวลานั้น มีการประท้วงของคนเสื้อเหลือง การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ และให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ยังไม่ทันไร ก็เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นอันจบวาระของรัฐบาลทักษิณไปโดยอัตโนมัติ และพรรคไทยรักไทยก็ถูกยุบไปในที่สุด

                    จนมาปี 2550 ชาญชัยก็กลับมาได้อีก คราวนี้มาเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน และพรรคได้เข้าร่วมรัฐบาลสมัคร ชาญชัยได้เป็นถึงที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในปี 2551

                    เบื้องหลังพรรคเพื่อแผ่นดิน ก็คือ พินิจ จารุสมบัติ แกนนำกลุ่มวังพญานาคนั่นเอง

                    เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบอีกเมื่อ 2 ธันวาคม 2551 นายกฯ สมชายต้องเก็บเสื่อกลับบ้าน และได้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ เก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ตกมาเป็นของ ชาญชัย ชัยรุ่งเรือง ช่วงปลายปี 2551  

                    หากจำได้ ช่วงนั้น ชาญชัยถูกนักวิชาการอิสระยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบรายการแสดงทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นไว้ เนื่องจากสงสัยว่ามีการซุก “มหาวิทยาลัย” ไว้ในชื่อ “ภริยานอกสมรส” แต่เรื่องเงียบๆ ไป 

                    ต่อมา วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้ผ่านการอนุมัติจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้เปลี่ยนเป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี" (มกธ.) ในวันที่ 11 มิถุนายน 2552 พร้อมๆ กับที่ ชาญชัยขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน แทน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก

                    ที่สุดแล้ว เมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาในปี 2554 ชาญชัยพร้อมด้วยสมาชิกพรรคเพื่อแผ่นดิน ย้ายไปร่วมงานการเมืองกับพรรครวมชาติพัฒนา และเปลี่ยนชื่อพรรคใหม่เป็น “พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน”

                    ตอนนั้น บรรดาแกนนำอย่าง นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล และประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ จากพรรครวมชาติพัฒนา และพระเอกของเรา ชาญชัย จากพรรคเพื่อแผ่นดิน ร่วมกันแถลงข่าวการจับมือทำงานทางการเมืองร่วมกัน

                    ชีวิตส่วนตัว ชาญชัย มีภรรยาคนล่าสุดคือ ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล เจ้าของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ภาพที่ปรากฏแก่สายตาผู้คนในวันนี้ ชาญชัยเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยเอกชน ย่านฝั่งธน ที่มีข่าวเกรียวกราวอยู่เนืองๆ 

                    คนจึงรับรู้ถึง “ชาญชัย” ในฐานะนักวิชาการ มากกว่าภาพของนักเลือกตั้ง ผู้มากไปด้วยเครือข่ายสายสัมพันธ์ทุกพรรคการเมือง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ