Lifestyle

ลุงตู่รู้ยัง?“พันศักดิ์ วิญญรัตน์” “จอมยุทธ์หูกระต่าย”มาแล้ว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จำได้มั้ย “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” นักคิดแห่งยุคสมัยทักษิโณมิกส์ อะไร ยังไง เขากำลังหวนกลับมา ว่าแต่มาทำอะไรกันแน่???

                    หายไปนาน..จู่ๆ สุภาพบุรุษ “หูกระต่าย” ก็โผล่ที่ปักกิ่ง!!

                    ความเคลื่อนไหวล่าสุดของ “พันศักดิ์ วิญญรัตน์” นักคิดแห่งยุคสมัยทักษิโณมิกส์เฟื่องฟู  ทำเอาคอการเมืองรู้สึกตื่นเต้น เหมือนบรรยากาศเก่าๆ กำลังจะหวนกลับมา

                    จากกรณี “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เดินทางไปเยือนจีน ในฐานะแขกของกระทรวงวิเทศสัมพันธ์ พรรคคอมมิวนิสต์จีน

                    คิววันแรก พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้จัดให้ “คุณหญิงสุดารัตน์” เข้าร่วมประชุมกับประธานธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (เอไอไอบี) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดและหารือเรื่องนโยบายของธนาคารเอไอไอบี ที่มีต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของไทยและภูมิภาคอาเซียน

                    ที่น่าสนใจในโต๊ะประชุมวันนั้น ปรากฏว่า ตัวแทนฝ่ายไทยมี “พันศักดิ์” ร่วมอยู่ห้องประชุมนั้นด้วย

                    พอกลับเมืองไทยแล้ว “คุณหญิงหน่อย” จึงชี้แจงว่า พันศักดิ์ไม่ได้ร่วมคณะไปจากเมืองไทย แต่ได้ช่วยประสานงานให้ จนได้ร่วมประชุมกับประธานธนาคารเอไอไอบี

                    การขยับกายของ “พันศักดิ์” ย่อมถูกจับตามอง

                    เนื่องจาก “พันศักดิ์” เป็นนักคิดที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ให้ความไว้วางใจ สมัยรัฐบาลไทยรักไทย เขาจึงรั้งตำแหน่งประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี 

                    พันศักดิ์เคยอธิบายบทบาทที่ปรึกษาไว้ว่า “บางวันผมคิดอะไรไม่ออกก็นั่งฟังเพลง บางวันคิดออกเป็นพันเรื่อง”

                    มันสมองของ “ทักษิณ” คนนี้ มีบิดาเป็นนายแบงก์ จึงมีไลฟ์สไตล์แบบปัญญาชนหัวนอก

                    ประยูร วิญญรัตน์ บิดาของพันศักดิ์ เป็นผู้ก่อตั้งธนาคารกรุงเทพ รุ่นเดียวกับนายชิน โสภณพนิช ทั้งพี่เขยและพี่ชายก็เป็นผู้บริหารระดับสูงมากๆ ที่ธนาคารกรุงเทพ

                    พันศักดิ์จบปริญญาตรีด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากอังกฤษ จากนั้นกลับมาทำงานอยู่ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกรุงไทย ในช่วงสั้นๆ เริ่มอาชีพนักข่าวกับหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษรายวัน Bangkok World และสำนักข่าวต่างประเทศ

                    นอกจากเป็นนักข่าวแล้ว เขายังเป็นผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์จตุรัสรายสัปดาห์ หนังสือพิมพ์ที่ได้รับความนิยมจากปัญญาชนในยุคนั้นอีกด้วย

                    หนังสือพิมพ์จตุรัสรายสัปดาห์ แบ่งออกเป็น 3 ยุค ยุคที่ 1 เริ่มในปี 2513 ทำได้ 4 ฉบับก็ถูกสั่งปิด ยุคที่ 2 เริ่มในปี 2518 เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ถูกสั่งปิดอีก 

                    คราวนี้เขาถูกจับติดคุกด้วยในฐานะบรรณาธิการ แต่ต่อมาทางการยอมปล่อยตัว เพราะได้รับการร้องขอจากรัฐบาลสหรัฐโดยตรง 

                    นั่นเป็นเหตุให้เขาต้องหนีภัยการเมืองไปอยู่สหรัฐอเมริกาประมาณ 2 ปี จตุรัสยุคที่ 3 เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2524 ต่อเนื่องจนถึงมิถุนายน 2527 จึงเลิกกิจการไปเพราะหมดเงินสนับสนุน

                    ข้อเขียนของพันศักดิ์ปรากฏอยู่ในคอลัมน์ “เส้นขนานจตุรัส” ว่าด้วยการเคลื่อนไหวของสายลับมหาอำนาจในไทย พร้อมๆ กับคอลัมน์ “เสียงเพลง” ซึ่งต่อมาเป็น “ศักดิ์เสียง” ก็ได้รับการสนองตอบจากผู้อ่านไม่น้อย ในฐานะที่รู้ลึกและศึกษาอย่างจริงจัง

                    ความคิดทางเศรษฐกิจของเขาได้ถูกนำไปปฏิบัติ เมื่อครั้งที่เป็น “ประธานทีมที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก” ของรัฐบาลชาติชาย

                    ทีมงานขณะนั้น ประกอบด้วย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ, สุรเกียรติ์ เสถียรไทย และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ โดยแนวคิดที่สำคัญของพันศักดิ์ในขณะนั้น คือ การเสนอยุทธศาสตร์ประเทศไทยในภูมิภาคอินโดจีน โดยเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า

                    เมื่อรัฐบาลชาติชายถูกล้มลงจากการรัฐประหารของกลุ่มทหาร พันศักดิ์ต้องไปอยู่อังกฤษพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมาทำหนังสือพิมพ์ ASIA TIMES ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่กรุงเทพฯ

                    บทบาทของเขาโดดเด่นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อเข้ามาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และร่างนโยบายเอสเอ็มอีให้แก่พรรค กระทั่งกลายเป็นนโยบายของรัฐบาลทักษิณ

                    ปี 2547 ในฐานะประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เขาได้เป็นบรรณาธิการจัดพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมา ว่าด้วยที่มาที่ไปของนโยบายทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรารู้จักกันในนาม “ทักษิโณมิกส์”

                    หลังทหารยึดอำนาจ 2549 พันศักดิ์ก็เร้นกายหายไปจากเมืองไทยอยู่พักใหญ่ กระทั่งมีรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เขาก็แอบมาช่วยงานรัฐบาลสมัครแบบเงียบๆ

                    จวบจน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการแต่งตั้งพันศักดิ์เป็นประธานที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งเดียวกับที่ได้รับการแต่งตั้งสมัยอดีตนายกฯทักษิณ

                    เมื่อปลายปีที่แล้ว พันศักดิ์ ในฐานะพยานจำเลย คดีจำนำข้าว ได้ไปเบิกความที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

                    พันศักดิ์เบิกความตอบทนายความจำเลยว่า นโยบายจำนำข้าว เป็นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ จะส่งผลทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความเคลื่อนไหว มีแรงกระเพื่อม ไม่ว่าเงินที่นำมาใช้นั้นจะเป็นในส่วนใดผลก็คือ ก่อให้เกิดการอุปโภคบริโภค ส่งผลดีต่อโครงสร้างอุตสาหกรรม ทำให้รักษาระดับการจ้างงานคงอยู่ 

                    การดำเนินโครงการสาธารณะเปรียบเหมือนการนำเงินของประชาชนเอาไปให้ประชาชน โดยผลสุดท้าย เงินก็จะย้อนกลับสู่รัฐในรูปของภาษี

                    นี่คือวิธีคิดแบบพันศักดิ์ แบบทักษิโณมิกส์ 

                    ย้อนกลับไปสมัยไทยรักไทยรุ่งเรือง ก็ไม่เห็นรอยเชื่อมต่อระหว่าง “สุดารัตน์” กับ “พันศักดิ์” 

                    ฉะนั้น ผู้ที่ดึงพันศักดิ์เข้ามาทำหน้าที่ “ประสานงาน” ให้คุณหญิงหน่อยในเมืองจีน ย่อมไม่ใช่ใครที่ไหน...คอการเมืองอ่านขาดว่า “วงใน” ตระกูลชินวัตร คิดอ่านอะไรกันอยู่?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ