Lifestyle

“จบแล้ว ม.7”ฉากอำลา..วัยหนุ่มลาว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คำว่า“วัยหนุ่ม”หรือ“ชาวหนุ่ม”ในภาษาลาว หมายถึงเยาวชนคนหนุ่มสาวโดยรวม ถ้าเยาวชนชายเรียก “ชาวหนุ่มชาย” ถ้าเยาวชนหญิง ก็เรียก “ชาวหนุ่มหญิง”

ไม่น่าเชื่อว่า “จบแล้ว ม.7” ถ้อยวลีสุดฮิตสำหรับฤดูกาลสุดท้ายของนักเรียนมัธยมปลายใน สปป.ลาว จะกลายเป็นข่าวสีสันในเว็บข่าวบ้านเรา

สืบเนื่องจากทีมข่าวโซเชียลไทย ที่ส่องเฟซบุ๊ก Keota Pornprasert เน็ตไอดอลลาวอยู่เป็นประจำ ตอนสายวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ก็เห็นสเตตัส “จบแล้ว ม.7” ของ แก้วตา พอนปะเสิด นักเรียนชั้นมัธยมปลายในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่เมืองเซโน แขวงสะหวันนะเขต ที่สอบเสร็จวันสุดท้าย โดยแก้วตา และเพื่อนๆ ต่างแลกกันเซ็นชื่อบนเสื้อนักเรียน

เหตุที่สื่อไทยสนใจแก้วตา เพราะเมื่อปี 2559 เธอถ่ายแบบในลุคเซ็กซี่แบบบ้านบ้าน ทำเอาคนทั้งลาวและไทยพากันเข้ากดไลค์กระหน่ำ และมีสื่อออนไลน์ของไทยได้นำเสนอภาพชุดดังกล่าว พร้อมกับเรียกขานเธอว่า “เน็ตไอดอลฝั่งซ้าย"

จะว่าไปแล้ว บรรยากาศ “อำลา ม.7” ของนักเรียนลาว ก็เห็นเป็นประจำกันทุกปี เพียงแต่ในยุคเฟซบุ๊กระบาด ทำให้น้องๆ นักเรียนต่างแข่งขึ้นสเตตัส “จบแล้ว ม.7” จนเต็มฟีด

อย่างเช่นในเฟซบุ๊กของ Mo Sitkhamphone แห่ง Mo Photos Gallery ได้อัพสเตตัส “สวยสยอง จัดเต็มจัดหนัก” โดยการรวมตัวของนักเรียน ม.7 โรงเรียนมัธยมสมบูรณ์ป่องคำ เมืองหลวงพระบาง แขวงพระบาง เพื่อถ่ายภาพแห่งความทรงจำในวัยเรียนไว้ ก่อนจะแยกกันไปเรียนต่อในระดับชั้นอุดมศึกษา

กล่าวสำหรับการศึกษาของ สปป.ลาว นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2518 ได้ดำเนินการปฏิรูประบบการศึกษาของประเทศถึง 4 ครั้งแล้ว และการปฏิรูประบบการศึกษาครั้งหลังสุดคือ การปรับระยะเวลาการศึกษาขั้นพื้นฐานมาเป็นระบบ 12 ปี (จากระบบการศึกษาแบบเก่าที่เป็นแบบ 11 ปี) เรียกว่าระบบ 5+4+3 หมายถึงการเรียนในระดับประถม 5 ปี มัธยมต้น 4 ปี และมัธยมปลาย 3 ปี

การจัดการศึกษาของลาว เริ่มด้วยการศึกษาในระดับอนุบาลและก่อนวัยเรียน โรงเรียนอนุบาลในประเทศลาวจะมีทั้งโรงเรียนที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน เปิดรับนักเรียนตั้งแต่อายุ 3-6 ปี ใช้เวลาเรียน 3 ปี แบ่งเป็นชั้นอนุบาล 1-3 เมื่อจบชั้นอนุบาลแล้วจะเข้าเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานต่อไป 

การศึกษาขั้นพื้นฐานของ สปป.ลาว อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นแบบ 12 ปี

เด็กจะเริ่มเข้าเรียนเมื่ออายุ 6 ปี การศึกษาในระดับนี้คือ เป็นการศึกษาภาคบังคับ เด็กทุกคนต้องจบการศึกษาในระดับนี้ แต่ในทางปฏิบัติการศึกษาภาคบังคับจะมีผลดีแต่เฉพาะเด็กในเมืองใหญ่เท่านั้น มัธยมศึกษาตอนต้น ใช้เวลาในการศึกษา 4 ปี และในอนาคตจะให้เด็กได้เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น มัธยมศึกษาตอนปลาย ใช้เวลาในการศึกษา 3 ปี

ส่วนการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือการศึกษาชั้นสูง รวมการศึกษาด้านเทคนิคสถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือมหาวิทยาลัย อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมอาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ ยกเว้นการศึกษาเฉพาะทางซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงอื่น 

เมื่อเด็กเรียนจบ ม.7 จะมีการสอบคัดเลือกนักเรียน เพื่อเสนอกระทรวงศึกษาธิการให้เด็กได้เข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ได้แก่ สายอาชีพ ใช้เวลาศึกษา 3 ปี ในวิทยาลัยเทคนิคต่างๆ, มหาวิทยาลัย วิทยาลัยครู และสถาบันการศึกษาอื่น

มหาวิทยาลัยของรัฐได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยจำปาสัก, มหาวิทยาลัยสุพานุวง, มหาวิทยาลัยสะหวันนะเขต ที่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา และมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ที่ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข

เด็กนักเรียนที่จบ ม.7 ต่างก็คาดหวังที่จะได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐ แม้ระยะหลังจะมีสถาบันการศึกษาภาคเอกชนมากขึ้น และเป็นที่นิยมเรียนต่อของลูกหลานผู้มีฐานะในสังคมลาว

มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ก็เป็นเป้าหมายของเด็ก ม.7 ที่ใฝ่ฝันอยากข้ามโขงมาศึกษาต่อในเมืองไทย แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งที่เลือกไปศึกษาต่อในเวียดนาม 

เนื่องจาก สปป.ลาว กำลังเร่งพัฒนาประเทศ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระหว่างเด็กเมืองกับเด็กชนบท ยังมีให้เห็นอยู่มาก 

ฉะนั้น ภาพ “จบแล้ว ม.7” จึงสะท้อนให้เห็นถึง “เด็ก” ในตัวเมืองใหญ่ที่ใกล้ชิดสื่อโซเชียล และมีโอกาสมากกว่าเด็กส่วนใหญ่ของประเทศ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ