Lifestyle

“พุทธทาสภิกขุ” 111 ปี สืบสานปณิธาน 3 ประการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“พุทธทาสภิกขุ” 111 ปี... 27 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้

 

             27 พฤษภาคม 2560 ที่จะถึงนี้ เป็นวาระอันดีที่จะน้อมจิตอาจาริยบูชา ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ปราชญ์ทางธรรมที่ทั่วโลกยกย่อง ไม่เพียงผลงานแปลพระไตรปิฎกเป็นงาน “ธรรมโฆษณ์” ตามรอยพระพุทธเจ้า กว่า 100 เล่ม ที่ทรงคุณค่าต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการที่ตัวท่านเป็นต้นแบบของพระภิกษุที่นำสมัย กล้าถอดหัวใจปรมัถธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ในสองพันกว่าปีก่อนมาใช้อย่างก้าวหน้าเพื่อให้เราได้ศึกษาธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นพบด้วยตนเอง  

              พระธรรมโกศาจารย์ (เงื่อม อินทปญฺโญ) เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2449 และคืนสู่ธรรมชาติเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 เป็นชาวอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อุปสมบทเมื่ออายุ 20 ปี

              ที่วัดนอก(อุบล) และมาประจำอยู่ที่วัดใหม่ (พุมเรียง) โดยมีท่านพระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดทุ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาสวัดนอก (อุบล) และพระครูศักดิ์ ธมฺมรกขิโต เจ้าอาวาสวัดหัวคู (วินัย) เป็นพระคู่สวด ท่านได้ฉายาว่า“อินฺทปญฺโญ” หมายถึง ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่

              จากนั้นได้เข้ามาศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่กรุงเทพมหานครจนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค แต่แล้วท่านพบว่าสังคมพระในเมืองหลวงไม่อาจที่จะทำให้ท่านได้ศึกษาแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาได้  ท่านจึงตัดสินใจหันหลังกลับมาปฏิบัติธรรมที่วัดตระพังจิก จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นวัดร้างในขณะนั้น ในวันวิสาขบูชา เดือนพฤษภาคม 2475 

              “สวนโมกข์พุมเรียง” จึงเกิดขึ้นในปีนั้น ก่อนที่จะมาตั้ง สวนโมกขพลาราม ซึ่งมีความหมายว่า อารามแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ หรือ วัดธารน้ำไหล ที่่อำเภอไชยา ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของท่านอีกครั้ง ในปี 2487 หรือราว 12 ปีให้หลัง พร้อมปวารณาตนเองเป็นพุทธทาส เนื่องจากต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาให้ถึงที่สุด

              สวนโมกขพลาราม มีอีกชื่อหนึ่งที่ท่านอาจารย์พุทธทาสตั้งไว้คือ “อินเดียน้อย ” โดยถอดแบบโบสถ์เขาพุทธทองจากสมัยพุทธกาล เป็นธรรมชาติ มีหลังคาเป็นท้องฟ้า มีข้างฝาเป็นต้นไม้ แล้วท่านก็แสดงธรรมกลางดินที่เรียกว่า ลานหินโค้ง ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมก็นั่งฟังธรรมกลางดิน ตามรอยพระพุทธเจ้า ประสูติกลางดิน ตรัสรู้กลางดิน และปรินิพพานกลางดิน โดยมีหลักอริยมรรคมีองค์แปดเป็นทางดำเนิน และมีอานาปานสติ (การมีสติทุกลมหายใจเข้า-ออก ) เป็นวิถีการปฏิบัติที่นำไปสู่การพ้นทุกข์ทางใจได้ในที่สุด 

              สิ่งหนึ่งที่ทานอาจารย์พุทธทาสฝากไว้ที่น่าจะได้ศึกษากันในวันนี้ก็คือ ปณิธาน 3 ประการ

              1. ให้พุทธศาสนิกชน หรือ ศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม เข้าถึง ความหมายอันลึกซึ้ง ที่สุดแห่งศาสนาของตน

              2. ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา

              3. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม

              ด้วย ปณิธานสามประการนี้ มีความหมายอย่างยิ่งต่อการที่ทำให้เรากลับมาค้นหาตัวเอง ทำความรู้จักตนเอง เป็นอันดับแรก ดังปณิธานข้อที่หนึ่ง หากเราเข้าใจอย่างลึกซึ้งในศาสนาที่เรานับถือแล้ว ไม่เพียงแต่เป็นพระพุทธศาสนาเท่านั้น ก็จะเข้าใจว่า ศาสนาที่เรานับถือมีคุณค่าต่อชีวิตเราอย่างไร ก็จะเข้าใจศาสนาที่ผู้อื่นนับถือว่า ก็มีความหมายกับเขาเช่นกัน 

              ดังในปณิธานข้อที่สอง ที่เมื่อท่านอาจารย์พุทธทาสทำความเข้าปณิธานแห่งชีวิตอุดมคติ ที่หยั่งรากลึกลงแล้วนี้ ทำให้ท่านสนใจใฝ่หา ความรู้ทางธรรมะตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท หรือหินยาน แต่ครอบคลุมไปถึงพระพุทธศาสนา แบบมหายาน และศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู สิกข์ เป็นต้น

              จากความรอบรู้ ที่กว้างขวาง และลึกซึ้ง นี้เอง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์ วิธีการสอน และปฏิบัติธรรมะได้อย่างหลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับพื้นความรู้และอุปนิสัยของตนได้ โดยไม่จำกัดชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา เพราะท่านเชื่อว่า มนุษย์ทุกคน ก็คือ เพื่อน ร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น ด้วยหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมด คือ ต้องการ ให้คนพ้นจากความทุกข์

              เมื่อเข้าใจได้อย่างนี้ การทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับศาสนาก็จะไม่เกิดขึ้น อีกทั้งจะช่วยให้เราต่างเข้าถึงหัวอกของเพื่อนมนุษย์ที่มีความเชื่อต่างกัน และสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุกได้โดยเคารพในความต่างและมีความเหมือนเป็นจุดร่วมกัน คือความเป็นมนุษย์ที่รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนกัน

              สำหรับปณิธานในข้อที่สาม ดึงเพื่อนมนุษย์ออกมาจากวัตถุนิยม ถือว่า เป็นบทสรุปของการที่เราจะอยู่ร่วมกันในสังคม และบนโลกใบนี้อย่างสันติสุข โดยเริ่มต้นจากตัวเรา เมื่อมีสติปัญญาพอก็จะเห็นว่า ชีวิตที่พอเพียงนั้นเป็นอย่างไร การจับจ่ายใช้สอยทรัพยากรบนโลกนี้อย่างมีสติ และเกื้อกูลแบ่งปัน ทำอย่างไรจึงจะไม่เดือนร้อนตนเอง และผู้อื่นจนกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษอยู่ในปัจจุบัน

              เมื่อครั้งสมัยที่ท่านพุทธทาสยังมีชีวิตอยู่ แม้ในความพยายามที่จะทำตามปณิธานนี้ จนทำให้บางคนไม่เข้าใจท่าน ไม่ชอบท่าน ด่าว่าท่าน หาว่า ท่านจ้วงจาบ พระพุทธศาสนา เป็นเดียรถีย์ เป็นคอมมิวนิสต์ หรือ รับจ้างศาสนาอื่นมาทำลายล้าง พระพุทธศาสนา ก็ตาม แต่ท่านกลับรับฟัง คำวิจารณ์ เหล่านี้ด้วยใจเป็นกลาง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิด ในเรื่อง เนื้อหา และหลักการ มากกว่า ที่จะก่อความขัดแย้งส่วนตัว เพราะท่านมีหลัก ในการทำงานว่า “ พุทธบุตรทุกคนไม่มีกังวลในการรักษาชื่อเสียง มีกังวลแต่การทำความบริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อได้ทำความ บริสุทธิ์ มองเห็นชัดเจนใจอยู่แล้วว่า นี่มันบริสุทธิ์ เป็นธรรมแท้ ใครจะชอบ หรือ ไม่ชอบก็ตาม เราต้องทำ ด้วยความพยายามอย่างสุดชีวิต จะมีชื่อเสียง หรือไม่นั้น อย่านึกถึงเลย เป็นอันขาด จะกลายเป็นเศร้าหมอง และ หลอกลวง ไปไม่มาก ก็น้อย”

              27 พฤษภาคมที่จะถึงนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้อาจาริยบูชาครบรอบชาตกาล 111 ปี พุทธทาสภิกขุ ผู้ก่อตั้งสวนโมกขพลาราม ซึ่งหมายถึง อารามแห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ โดยการฝึกปฏิบัติเป็นพุทธบุตร พุทธสาวิกาตามรอยท่านอาจารย์พุทธทาสโดยการอดอาหารหนึ่งวัน ซึ่งท่านอาจารย์พุทธทาสได้ริเริ่มประเพณีการล้ออายุในวันเกิดโดยการการอดอาหาร เพื่อระลึกถึงวันที่แม่ในวันที่จะคลอดลูกนั้นต้องอดอาหาร เมื่ออดอาหารก็จะได้เข้าใจหัวอกแม่ เป็นการกตัญญูต่อแม่ และได้ปฏิบัติขัดเกลากิเลสตนเองเป็นการบูชาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามรอยพระพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกที่สืบเนื่องความสงบเย็นมาอย่างไม่ขาดสายนับตั้งแต่สมัยพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบัน

              ดังความหมายของคำว่า วันล้ออายุ ท่านอาจารย์พุทธทาสอธิบายว่า การจัดงานในลักษณะที่เคยหลงอายุ รักอายุ ฉลองอายุ อะไรต่างๆ นี้ ควรจะเปลี่ยนเป็น ล้ออายุ เลิกอายุ แล้วก็เหนืออายุ นั่นแหละคือความหมายที่เป็นการเหนือกิเลส ทำให้เป็นตัวอย่างที่คนข้างหลังจะถือเอาเป็นตัวอย่างได้ให้เป็นการทำลายกิเลส คือความเห็นแก่ตัว กูจะไม่เอากับมึง ความเห็นแก่ตัวในความหมายใดๆ ก็ดี

              “การล้ออายุ และการให้ของขวัญวันล้ออายุ อย่างที่กระทำกันอยู่ที่สวนโมกข์นั้น มีผลทางจิตใจในความไม่ประมาทและรู้จักตัวเองดีขึ้นทุกปี ขอฝากไว้สำหรับรักษากันไว้สืบต่อไปเพื่อความก้าวหน้าทางจิตใจของทุกคน”

              สำหรับงานวันล้ออายุจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2509 และจัดต่อเนื่อง แม้เมื่อท่านละสังขารไปแล้ว ที่สวนโมกขพลารามก็ยังคงกิจกรรมนี้สืบมาทุกปี วันเสาร์ที่ 27 พฤษภาคม 2560 นี้ จึงขอเชิญร่วมปฏิบัติบูชา งดอาหาร และปฏิบัติภาวนาและฟังธรรมล้ออายุ ตลอดวัน ทั้งที่สวนโมกขพลาราม ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และเข้าร่วมเสวนา “พุทธธรรมกับสังคม” ทีี่สวนโมกข์กรุงเทพ  ในวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2560  โทรศัพท์สอบถามรายะเอียดได้ที่่ 0-2936-2800  , 095-491-5425 และ  คณะธรรมทาน สวนโมกขพลาราม โทร. 0-7743-1596, 0-7743-1661-2 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ