Lifestyle

เลขเด็ด!“ปรีดา พัฒนถาบุตร”ครูการเมืองทักษิณ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ก่อนวันหวยออก กระแสเลขเด็ดตามสื่อจะมากันเป็นแถว ทั้งตะเคียน ปลีกล้วย จอมปลวก เต่างอย คำชะโนด ฯลฯ แตที่มาแรงในระยะหลังๆ คือ เลขเด็ด “อดีต รมต.” 

          สองวันมานี้ โลกของนักเสี่ยงโชคฮือฮาไปทั้งประเทศ เมื่อสำนักข่าวออนไลน์ย่านประชาชื่น เปิดใจครั้งแรก “ปรีดา พัฒนถาบุตร” วัย 90 ปี อดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส.เชียงใหม่ เจ้าของสูตรเลขเด็ด ที่ได้มาจากการคำนวณตัวเลขดวงดาว

          สองสามปีมานี้ หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ได้นำเสนอข่าว “อดีต รมต.” ถูกหวยบ่อยครั้ง จึงทำให้มีกลุ่มบุคคลไปสร้างเว็บไซต์ ทำแฟนเพจ อ้างว่าเป็นชื่ออดีต รมต. บอกใบ้เลขเด็ด ทำเอาลูกชายของปรีดาต้องออกมาแก้ข่าว และหลังจากนั้น อดีต รมต.ก็หยุดส่งสัญญานเลขเลขเด็ดไปพักใหญ่

          เมื่อกลางเดือน เม.ย. 2560 พล.ต.ต.นิธิพัฒน์ พัฒนถาบุตร ลูกชายของอดีตรัฐมนตรีปรีดา ได้นำเลขของพ่อตนเองมาบอกเลขเด็ดให้กับเพื่อนข้าราชการตำรวจและสื่อมวลชนก่อนวันหวยออก 1 วันอีกครั้ง

          จะว่าไปแล้ว “ปรีดา” มีความเก่งกาจเรื่องการคำนวณอยู่แล้ว ถ้ายังจำได้ สมัยพรรคไทยรักไทยรุ่งเรือง เขาเคยเปิดตัวหนังสือ “ครูการเมือง มิใช่เท้าราน้ำ” อย่างยิ่งใหญ่ มีคนไปร่วมงานมากมาย เนื่องจากเวลานั้น สื่อมวลชนเรียกขานเขา “ครูการเมืองของทักษิณ”

          ว่ากันว่า อดีต รมต.ปรีดา คนนี้แหละ เป็นผู้คิดสูตรคณิตศาสตร์การเมือง ซึ่งทักษิณ ชินวัตร เอามาใช้แล้วทำให้เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก

          ปรีดา พัฒนถาบุตร เกิดในครอบครัวเชื้อสายไทยลื้อ เมืองเชียงใหม่ และเมื่อเรียนจบ ปรีดาเข้าทำงานที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จนได้เป็นผู้อำนวยการเขตภาคเหนือ 

          ปี 2501 ปรีดาลาออกจากการไฟฟ้าฯ ตั้งกลุ่มประชาสันติ(ยุคแรก) ปูทางเล่นการเมืองท้องถิ่น และได้เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองเชียงใหม่ 

          ปี 2512 มีการเลือกตั้งทั่วไป ปรีดาทิ้งการเมืองสนามเล็ก ลงไปลุยสนามใหญ่ ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เชียงใหม่ สังกัดพรรคสหประชาไทย ที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งปีเดียวกันนั้น “เลิศ ชินวัตร” พ่อของทักษิณ  ได้เป็น ส.ส.เชียงใหม่ แต่ไม่สังกัดพรรค

          “ปรีดา” ก็รู้จักกับ “เลิศ” แต่คนที่เป็นเพื่อนกับเลิศจริงๆ คือ พล.ท.กอบกุล พัฒนถาบุตร พี่ชายของปรีดา

          กลยุทธ์การหาเสียงของปรีดาสมัยโน้น ไม่ยาก อาศัยการเป็นผู้อำนวยการเขตไฟฟ้าภาคเหนือ ที่ช่วยเหลือนำไฟฟ้าเข้าสู่หมู่บ้าน ก็โกยคะแนนไปได้เยอะ เพราะเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ใครทำให้ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้ ย่อมได้รับความนิยม

          การเลือกตั้งปี 2518 ปรีดาย้ายไปสังกัดพรรคสันติชน ของ อนันต์ ฉายแสง (บิดาของจาตุรนต์ ฉายแสง) และเขาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.สมัยที่ 2 ส่วน เลิศ ชินวัตร ไม่ลงเล่นการเมืองอีก เพราะรู้ว่าการเลือกตั้ง ต้องใช้เงินมากขึ้นเรื่อยๆ

          ยิ่งกว่าถูกหวย พรรคสันติชนได้เข้าร่วม “รัฐบาลผสม 11 พรรค” ปรีดาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีสมัยแรก ในรัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช พอดีทักษิณเพิ่งจบนายร้อยตำรวจ เลิศจึงคุยกับ พล.ท.กอบกุล และฝากลูกชายไปเป็นนายตำรวจติดตามรัฐมนตรีปรีดา

          หลังจากนั้น ปรีดาย้ายไปสังกัดพรรคกิจสังคม ปรีดาได้รับแต่งตั้งเป็น รมช.เกษตรเกษตรและสหกรณ์ และ รมต.ทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อมีการเลือกตั้งปี 2529 ปรีดาย้ายไปสังกัดพรรคเสรีนิยม แต่สอบตก จึงตัดสินใจเลิกเล่นการเมือง

          หลังจากนั้น ปรีดาก็ไม่คิดจะหวนคืนสังเวียนการเมือง จนกระทั่ง ทักษิณ ชินวัตร ตั้งพรรคไทยรักไทย จึงได้เชิญปรีดา มานั่งเป็นที่ปรึกษาพรรคฯ ทักษิณจัดห้องไว้ใหญ่โตที่ชั้น 9 ตึกชินวัตร 3 ถนนวิภาวดี

          สื่อมวลชนสมัยนั้น ได้เข้ามาติดต่อขอสัมภาษณ์ปรีดามากขึ้น เพราะรู้ว่า อดีต รมต.คนนี้เป็น “ครูการเมือง” คนแรกของทักษิณ

          ย้อนไปในวัยหนุ่ม ปรีดาเรียนเก่ง จบปริญญาตรีทึ่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และไปเรียนต่อที่เยอรมัน เมื่อเขาเรียนจบแล้วไปฝีกงานที่โรงไฟฟ้าแห่งหนึ่ง มีชื่อว่า “โรงไฟฟ้าบามแบก” มีเรื่องเล่าว่า เขาได้พบกับยามโรงไฟฟ้าบามแบก ซึ่งมีคติพจน์ประจำตัวคือ “เวลาต่อสู้ถึงที่สุด ให้รักษาชีวิตไว้ ยอมทุกอย่าง เพื่อจะรักษาชีวิตไว้ เพื่อกลับมาใหม่”

          จึงมีคนพยายามวิเคราะห์ว่า ศิษย์การเมืองของ “ครูปรีดา” จะท่องคติพจน์บทนี้อยู่หรือเปล่า?

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ