Lifestyle

“อภิสิทธิ์”ปลุกปชป.ขอเป็น“พระเอก”ในหัวใจชาวบ้าน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ภาพ "มาร์ค" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปพบปะชาวบ้านที่ จ.พะเยา ดูอบอุ่น น่าเอ็นดูแต๊ๆ

          แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ “มาร์ค อภิสิทธิ์” เยือน “พะเยา”
          นับถอยหลังไปปี 2554 สมัยเป็น “นายกรัฐมนตรี” ก็ได้ไปปราศรัยหาเสียงให้ลูกพรรคมาแล้ว
          แต่ถ้าเป็นบรรยากาศ “รดน้ำดำหัว” ผู้สูงอายุนั้น จัดมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 21 เมษายน 2558
          ปีนั้น “มาร์ค อภิสิทธิ์” ได้ไปร่วมกับชาวพะเยาสระเกล้าดำหัวพระครูอนุรักษ์บุรานันท์ (ครูบาบุญชื่น) เจ้าอาวาสวัดลี และได้ร่วมรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุชุมชนวัดลี ต.เวียง อ.เมือง จ.พะเยา เนื่องในงานประเพณีปี๋ใหม่เมือง
          โดยไม่ลืมปล่อยลูกอ้อนต่อผู้สูงอายุว่า ตัวเขาเองรวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีคือ ชวน หลีกภัย ตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุมาตั้งแต่ 20 ปีที่ผ่านมา จนทำให้มีนโยบายเกี่ยวกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขึ้น หลังจากที่พูดทักทายกับผู้สูงอายุแล้ว ได้มอบของขวัญปีใหม่แก่ผู้สูงอายุทุกคน
          และปีที่แล้ว 2559 ได้มอบของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
          กระทั่งถึงปีนี้ ที่ได้ร่วมงานประเพณีรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุ ที่วัดห้วยบง ต.แม่ปืม อ.เมือง จ.พะเยา เมื่อ 22 เมษายน ที่ผ่านมา
          หากจะมีครั้งเดียว ที่การเดินทางขลุกขลักเสียเวลาที่สนามบินเชียงรายไปบ้างคือปี 2556 ที่ถูก “เสื้อแดง” ล้อมทางเข้าออกสนามบิน
          แต่ทุกครั้ง เมื่อมี “มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข” อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ และประธานมูลนิธิมัลลิกาเพื่อประชาชน เป็น “แม่งาน” เจ้าของพื้นที่เสียอย่าง ทุกอย่างจึงราบรื่นด้วยดี
          สำหรับปีนี้ เป็นปีที่ 25 ที่อภิสิทธิ์ก้าวสู่เส้นทางการเมือง เป็น 25 ปีที่ชีวิตพลิกผันมากที่สุดคนหนึ่ง จากอาจารย์หนุ่มเรียนจบจากอังกฤษ           ชนะการเลือกตั้ง ส.ส.กทม.ตั้งแต่สมัยแรกในปี 2535 ด้วยวัยเพียง 27 ปี ก้าวสู่ “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” และ “นายกรัฐมนตรี” ในปี 2551 เมื่ออายุ 44 ปี โดยเฉพาะตำแหน่ง “หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์” นั้น ครองตำแหน่งถึง 4 สมัยแล้ว
          สปอตไลท์ส่องไปที่อภิสิทธิ์ตั้งแต่สมัยแรกที่ก้าวสู่การเมืองแล้ว ไม่เพียงชาติตระกูลดี การศึกษาดี จบจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สาขาปรัชญาการเมือง และเศรษฐศาสตร์ หน้าที่การงานก็ดี พอจบมาแล้วก็มาสอนหนังสือที่ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนเรื่องหน้าตา คงไม่ต้องพูดถึง

                            “อภิสิทธิ์”ปลุกปชป.ขอเป็น“พระเอก”ในหัวใจชาวบ้าน
          ที่มากกว่านั้นคือมีความมุ่งมั่นที่ดี หวังเปลี่ยนแปลงการเมือง ในปี 2535 จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ได้เข้าร่วมต่อต้านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬกับขบวนการนักศึกษา ทำให้ชื่อเขาปรากฏชัดขึ้น
          เมื่อลงเลือกตั้งก็กลายเป็น “ความหวัง” ของพรรคประชาธิปัตย์ สามารถปักธงลงยังเขตยานนาวาได้ท่ามกลางกระแสจำลองฟีเวอร์ในยุคนั้น แต่อภิสิทธิ์ทำได้ และก้าวสู่ตำแหน่งบริหารเป็น “รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” ในสมัยรัฐบาลชวน 2 โดดเด่นด้วยวิสัยทัศน์แบบ “คนรุ่นใหม่” กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำ ยิ่งได้รับการผลักดันจากหัวหน้าพรรค ชวน หลีกภัย ยิ่งทำให้เขาเป็นขวัญใจแรงเชียร์พรรคประชาธิปัตย์มากยิ่งขึ้น
          ยุคประชาธิปัตย์ “ผลัดใบ” ชวน หลีกภัย ลงจากเก้าอี้เพื่อให้เกิดการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ อภิสิทธิ์ลงสมัครทันที แต่คนรุ่นใหม่หรือจะเก๋าในเกมการเมืองเท่ากับคนรุ่นก่อน ท้ายที่สุดก็พ่ายแพ้แก่ บัญญัติ บรรทัดฐาน ที่เป็น ส.ส.มาก่อนเขาถึง 17 ปี แต่ไม่นานเมื่อเกมการเมืองนอกพรรคพลิก พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคในที่สุด
          แต่เส้นทางการเมืองไม่ง่าย อภิสิทธิ์มีประเด็นคำถามให้ต้องตอบมากมาย และกลายเป็นประเด็นการเมืองทุกย่างก้าว โดยเฉพาะช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง พฤษภาคม 2553 เขาและสุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกฟ้องในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ในการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ ก่อนศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา
          ในการเคลื่อนไหวของ กปปส. อภิสิทธิ์ปรากฏตัวแค่เพียงช่วงต้นๆ เท่านั้น ดังนั้น ความคิดความเห็นทางการเมืองในช่วงหลังๆ ของ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” จึงมีมุมมองต่างกัน
          ช่วงปิดเทอมใหญ่ภายใต้การดูแลของ “คสช.” อภิสิทธิ์ไม่ปล่อยให้หัวใจว้าวุ่น เขาได้ปลุกกระแสความเป็น “ไอดอล” ของคนรุ่นใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากการตอบคำถามทางสื่อออนไลน์แล้ว เขายังเดินสายบรรยายให้แก่คนรุ่นใหม่ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ด้วย เช่น หัวข้อ “New Gens for AEC การปรับตัวของคนรุ่นใหม่เพื่อก้าวสู่ AEC” ฯลฯ
          ทั้งหมดทั้งมวล ถูกตีแผ่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง ผ่าน “โซเชียลมีเดีย” ทั้งสิ้น และเป็น “สื่อใหม่” ที่ “มาร์ค อภิสิทธิ์” เลือกใช้สื่อสารไปยัง “กลุ่มเป้าหมาย” ของเขามาเป็นเวลาหลายปี ผิดกับนักการเมืองรุ่นเก๋าในพรรค
          โดยเฉพาะช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา ดูเหมือนเขาจะไม่ได้หยุดหรือว่างงานเลย แต่ขยัน “ออกงาน” มากมาย ไม่ว่า ดนตรี กีฬา การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมประเพณี ฯลฯ อภิสิทธิ์ได้หมด จึงสามารถหว่านเสน่ห์ได้ครอบคลุมทั้งเยาวชนคนหนุ่มสาว และผู้สูงวัย
ที่ผ่านมาจึงเห็น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในรูปแบบต่างๆ ไม่ซ้ำบทบาท วันก่อนเยี่ยมเยียนให้กำลังใจพี่น้องที่ประสบอุทกภัยภาคใต้ วันนี้บรรยายให้นักศึกษาฟัง วันถัดไปเป็น “ประธาน” พิธีเททองยอดพระเจดีย์ อีกวันวิ่งมาราธอน ร่วมบันทึกเสียงบทเพลงพระราชนิพนธ์ในโครงการ “แสงเทียนบันดาลใจ” ฯลฯ
          เหล่านี้ไม่อาจแปรเป็นอื่น นอกจาก “ความพร้อม” สำหรับ “เปิดเทอม” ใหม่ที่ใกล้จะมาถึง.

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ