Lifestyle

อาลัย “ครูฉลบ” สตรีหัวใจแกร่ง แห่งตำนาน “เสรีไทย”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การจากไปของ ฉลบชลัยย์ พลางกูร นับเป็นการสูญเสียปูชนียบุคคลของไทยอีกครั้งหนึ่ง


               โลกได้รู้จัก จำกัด พลางกูร วีรบุรุษเสรีไทยที่เมืองจุงกิงไปแล้ว

               นี่คือสตรีผู้อยู่เบื้องหลังผู้เป็นกำลังใจสนับสนุนให้ผู้เป็นสามีได้ไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อชาติอย่างแน่วแน่ ทั้งที่ทั้งคู่เพิ่งแต่งานกันได้แค่เพียง 3 ปี โดยหารู้ว่าเป็นการจากกันตลอดกาล เมื่อผู้เป็นสามีได้เสียชีวิตที่เมืองจีนด้วยวัยเพียง 28 ปีเท่านั้น

               ภายหลังที่ได้ปฏิบัติภารกิจเสรีไทยไปเมืองจีนเพื่อหาทางติดต่อกับสัมพันธมิตร ขณะที่ครูฉลบในเวลานั้น อายุได้เพียง 27 ปี เท่านั้น แต่ก็ดำรงชีวิตอย่างสง่างามและตั้งมั่นในคุณธรรมมาตลอดชีวิต แม้กระทั่ง ส.ศิวรักษ์ ได้ยกย่องครูฉลบด้วยว่าเป็น "กัลยาณมิตรของคนยาก” โดยแท้

               ถึงแม้สิ้นสามีไป แต่ชีวิตหลังจากนั้นก็มิได้อยู่ตัวคนเดียวเพียงลำพัง แต่อบอุ่นผูกพันเป็นกัลยาณมิตรของครอบครัว “พนมยงค์” เสมอมา

               โดยเฉพาะท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ นั้น ให้กำลังใจเธอตั้งแต่วินาทีแรกที่ทราบข่าวสามีเสียชีวิต โดยดูแลและปลอบประโลมดุจดั่งคนในครอบครัวเดียวกัน อีกทั้งยังจัดหาเสื้อผ้าชุดดำให้เปลี่ยนอีกด้วย

               คุณูปการครั้งสำคัญของครูฉลบ คือการเป็นกำลังใจและอุปการะดูแลเหยื่ออธรรมตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 จนถึง 6 ตุลาคม 2519 โดยมีผู้ที่ได้รับการอุปการะมีหลายสิบคน

               ครูฉลบจึงเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ที่พึ่งได้ของคนทุกข์ยาก จนได้รับการเรียกขานด้วยความรักเคารพจากคนเดือนตุลาว่า “คุณป้าฉลบ”

               ด้วยความเชื่อมั่นในพลังบริสุทธิ์ของนักศึกษา ได้ติดตาม 19 นักศึกษาที่ถูกจับถึงในคุก และจัดตารางไปเยี่ยมทุกสัปดาห์ทั้งบางขวาง , บางเขน และทัณฑสถานหญิงบางเขน โดยขีดเป็นตารางทำรายละเอียดไว้เลยเพื่อกันลืม อีกทั้งใส่ใจลงมือทำเองทุกอย่าง ปฏิบัติตนเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอ ตลอด 2 ปี กระทั่งนักศึกษาเหล่านั้นพวกเขาได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ ครั้นออกมาแล้วก็ยังอุปการะดูแลเปิดบ้านของลูกสาวให้อยู่อีกด้วย อย่าง สุธรรม แสงประทุม ก็อยู่มาจนแต่งงาน

               อีกทั้งห่วงใยใส่ใจอนาคตโดยเกลี้ยกล่อมแต่ละคนให้ไปเรียนหนังสือด้วย หลังจากที่สิ้นศรัทธาต่อการเรียน “ปริญญาคือกระดาษแผ่นเดียว” กระทั่งแต่ละคนเห็นด้วย และไปเรียนหนังสือจนจบ

               สำหรับครูฉลบนั้น เป็นบุตรคนที่สอง ของขุนสมานสมุทกรรม (บุนย์หนุน มหานีรานนท์) กับนางแฉล้ม พลจันทร์ เกิดเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2459 ที่ อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนที่อังกฤษ ต่อมาเมื่อแต่งานแล้วจึงได้เปิดโรงเรียนดรุโณทยานขึ้น

               ภายหลังเมื่อครอบครัวขบวนการเสรีไทย ต่างได้รับผลกระทบทั้งถูกจับและถูกตั้งข้อหากบฏมากมาย ครูจึงได้ให้การช่วยเหลือดูแลแก่ลูกหลานขบวนการเสรีไทยได้มีที่เรียนจากการช่วยเหลือเห็นใจผู้ที่ถูกข่มเหงรังแกอย่างไม่เป็นธรรม ในปี 2490 เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารโรงเรียนจึงถูกนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่เข้าตรวจค้นด้วย

               สมัยเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ครูฉลบเป็นรุ่นเดียวกับ ครูองุ่น มาลิก , นิลวรรณ ปิ่นทอง ฯลฯ แต่เมื่อเรียนจบแล้ว ไม่ได้พบกันอีกเลย กระทั่งปี 2521 ในงานทำบุญของ 19 นักศึกษา 6 ตุลาคม 2519 ที่ได้รับอิสรภาพที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่ง “หัวใจรักความเป็นธรรม” นำพา เพราะในเวลานั้นแม่ครูองุ่นเองก็เป็นขวัญกำลังใจให้กับบรรดาลูกศิษย์ลูกหาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เดือนตุลา 2519 เช่นกัน

               ครูฉลบรักษาเกียรติภูมิแห่งเสรีไทยเสมอมา ในปี 2549 ที่กระแสการเลือกตั้งเข้มข้น ครูฉลบในวัย 90 ปี ร่วมกับทายาทเสรีไทยคัดค้านการนำชื่อเสรีไทยไปตั้งเป็นชื่อพรรคการเมืองจนสำเร็จ

               ในด้านประวัติศาสตร์ ครูฉลบได้เติมเต็มช่วงวันเวลาที่ขาดหายไปด้วยการเขียนบันทึกไว้จำนวนหนึ่ง นอกเหนือจากการเขียนถึงท่านผู้หญิงพูนศุขยาวเหยียดถึง 50 หน้าแล้ว ก็คือช่วงเวลากับ จำกัด พลางกูร ผู้เป็นสามี ตั้งแต่ยามอยู่ ยามพรากจากไปจีน และกระทั่งวินาทีที่รับรู้ข่าวการเสียชีวิตของสามี อย่างละเอียด กลายเป็นประวัติศาสตร์อีกห้วงหนึ่งน่าศึกษา

               ในวัย 97 ปี ครูฉลบ ได้มีโอกาสชมละครเวทีเรื่อง “เพื่อชาติ เพื่อ HUMANITY : รำลึกวีรบุรุษที่โลกลืม” ถ่ายทอดชีวิตและเรื่องราวของวีรชนเสรีไทยในจีนด้วย โดยมีนักแสดงรุ่นใหม่มาแสดงเป็นครูฉลบด้วย และเป็นตัวละครในเรื่องคนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่

               ในอายุครบ 100 ปี ครูฉลบเป็นที่ยอมรับของลูกหลานว่า เป็นผู้อาวุโสที่ใจดี สมองแจ่มใส ไปไหนมาได้โดยไม่ทำตัวไร้ประโยชน์ ยิ่งเห็นชัดเมื่อครั้งที่ทางลูกหลานครอบครัว “พนมยงค์” จัดงานสังสรรค์ให้กับผู้เป็นกัลยาณมิตรอย่างอบอุ่น

               ที่สุดชีวิตนอกจากได้สานต่อเจตนารมย์เสียสละเพื่อชาติของ จำกัด พลางกูร ผู้เป็นสามีได้อย่างสมเกียรติและสง่างามแล้ว อีกสิ่งสำคัญคือชีวิตที่เหลืออยู่เป็นไปอย่างอบอุ่น เมื่อทั้ง ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ นับเธอเป็นเสมือนคนในครอบครัวคนหนึ่งมาตลอดจวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ