Lifestyle

“บิ๊กจา” 85 ยังไหว? ปู่โสมเฝ้าโอลิมปิคไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“บิ๊กจา” พล.ต.จารึก คณะกรรมการโอลิมปิคฯ ที่โลดแล่นมานานกว่า 44 ปี นานยิ่งกว่าคนในตำนาน จึงรู้ทุกซอกทุกมุมของยุทธจักรการกีฬาเมืองไทย

          อย่างเป็นทางการ สำหรับตำแหน่ง “ประมุขบ้านอัมพวัน” เมื่อบอร์ดบริหารโอลิมปิคไทย 23 คน มีมติเป็นเอกฉันท์ เลือก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทย เป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยฯ คนใหม่ คนที่ 7 (ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2560-2564)

          ส่วน “บิ๊กจา” พล.ต.จารึก อารีราชการัณย์ ดำรงตำแหน่งรองประธานคนที่ 1 และเลขาธิการ เหมือนหลายสมัยที่ผ่านมา

          พล.ต.จารึก เป็นคณะกรรมการโอลิมปิคฯ มานานกว่า 44 ปี และอยู่ในตำแหน่งเลขาฯ มา 36 ปีแล้ว ยิ่งกว่าคนในตำนาน

          “บิ๊กจา” เกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2475 จากครอบครัวของขุนอารีราชการัณย์เจ้าเมืองปักษ์ใต้หลายหัวเมือง แต่ตัวบิ๊กจาเติบโตในกรุงเทพมหานคร

          ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พล.ต.จารึก เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยุคตลาดวิชา และจบโรงเรียนนายร้อยสำรอง หลักสูตรเร่งรัด แล้วเข้ารับราชการในกองทัพบก

          เนื่องจากได้เป็น “นายทหารติดตาม” หรือ “ทส.” ของ พล.อ.เต็ม หอมเศรษฐี ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก สมัยนั้น จึงได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสวงการกีฬา

          ทศวรรษ 2500 เมืองไทยใต้เงาปืน “ทหารเป็นใหญ๋” ในทุกวงการ รวมถึงกีฬาสมัครเล่น

          “จอมพลตุ๊” หรือจอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ 

          ขณะที่ พล.อ.เต็ม หอมเศรษฐี ผู้ช่วย ผบ.ทบ.สมัยนั้น เป็นนายกสมาคมกรีฑาแห่งประเทศไทยฯ “บิ๊กจา” จึงได้เข้ามาช่วยงานวงการกรีฑา เป็นเบื้องแรก

          จากนั้น พ.อ.อนุ รมยานนท์ หัวหน้ากองกีฬากองทัพบก จึงดึงไปช่วยงานด้านกีฬาของเหล่าทัพ และงานกีฬาด้านอื่นๆ

          ด้วยเหตุที่ “พ.อ.อนุ” มีผู้ใหญ่ในกองทัพหนุนหลัง จึงเป็นนายกสมาคมกีฬาหลายแห่งพร้อมๆ กัน ในเวลาเดียวกัน และได้ฉายาเจ้าพ่อกีฬาบ้าง มาเฟียกีฬาบ้าง นารายณ์สิบกรบ้าง

          สมาคมกีฬาใหญ่ๆ อาทิ ฟุตบอล, รักบี้, กรีฑา, มวยสากลสมัครเล่น ฯลฯ มีนายกสมาคมชื่อ พ.อ.อนุ รมยานนท์ นั่งเก้าอี้บริหารแต่ผู้เดียว

          “บิ๊กจา” เป็นมือขวา “พ.อ.อนุ” จึงรู้ทุกซอกทุกมุมของยุทธจักรการกีฬาเมืองไทย 

          หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลประภาสประธานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ในขณะนั้น ต้องเดินทางออกนอกประเทศ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ มีการเลือกตั้งประธานและกรรมการบริหารชุดใหม่

          พ.อ.อนุ กับบิ๊กจา ทำตัวเป็นหัวคะแนนให้ทีม พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ และคณะ ยกทีมชนะการเลือกตั้ง และ “เสธ.วี” เป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ คนใหม่ โดยมี“เสธ.นุ” เป็นเลขาธิการ และ “บิ๊กจา” เป็นรองเลขาธิการ พ่วงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานกีฬาทหาร บก.สส.

          สิ่้นสุดยุค “ถนอม-ประภาส” อำนาจการเมืองการทหาร ก็ตกมาอยู่ในมือ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา และ พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ “เสธ.วี” ได้เป็นประธานโอลิมปิคฯ เหมือน “บิ๊กป้อม” ใน พ.ศ.นี้ 

          หลังจาก พ.อ.อนุ มีปัญหาด้านสุขภาพ จนแพทย์แนะนำให้หยุดทำงานหนัก “เสธ.วี” จึงแต่งตั้งให้บิ๊กจาขึ้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคฯ อย่างเต็มตัว

          พล.อ.อ.ทวี  เป็นประธานโอลิมปิคไทยยาวนานมาก จนได้ฉายา “ทุเรียนเหล็กแห่งบ้านอัมพวัน” จนกระทั่งปี 2539 พล.อ.อ.ทวี ถึงแก่อนิจกรรม พล.อ.สุรพล บรรณกิจโศภณ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ขณะนั้น จึงได้รับลงมติให้เป็นประธานรักษาการ

          เส้นทางบิ๊กจายังไปได้ราบรื่น เหมือนจะผูกขาดในตำแหน่งเลขาธิการฯ โอลิมปิคไทย แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ถูกเขย่าเก้าอี้อย่างแรง

          สมัยพรรคไทยรักไทยครองเมือง มีการเลือกตั้งประธานโอลิมปิคฯ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ไปเกาะกลุ่มขั้วอำนาจหนึ่งที่หมายโค่นบิ๊กจา ทำให้บิ๊กจาไปขอร้องให้ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา นายกสมาคมว่ายน้ำฯ ในขณะนั้นมาเป็นผู้นำ และผลการเลือกตั้งครั้งนั้น ปรากฏว่า “บิ๊กอ๊อด” ชนะ “บิ๊กเหวียง" แบบสูสี

          พล.อ.ยุทธศักดิ์ ดำรงตำแหน่งประธานมากว่า 4 สมัย 16 ปี โดยมีบิ๊กจา เป็นเลขาธิการฯ

          สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีข่า่วว่า พล.อ.ยุทธศักดิ์ ในฐานะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ได้เสนอเรื่องของเลื่อนยศให้บิ๊กจาเป็น “พลเอก” เป็นกรณีพิเศษ

          ด้วยเหตุที่ว่า บิ๊กจาเสียสละทำคุณงามความดีมากมายให้วงการกีฬาไทย โดยพล.อ.ยุทธศักดิ์ ส่งหนังสือเสนอผ่านมาทางกองทัพบก ขอพระราชทานยศให้แก่เลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย แต่ต้องผ่านขบวนการขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการ 4 ระดับ คือ ระดับกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม และสำนักนายกรัฐมนตรี โดยตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกองทัพบก

          หากทางกองทัพบกได้พิจารณาแล้ว ก็ส่งเรื่องต่อไปยังกองบัญชาการกองทัพไทย เบื้องต้นได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา รวบรวมคุณสมบัติของบิ๊กจา หากผ่านก็จะถูกส่งต่อไปยังกระทรวงกลาโหม พิจารณากลั่นกรองอีกครั้ง จากนั้นจึงส่งรายชื่อต่อให้กับสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

          จนมาถึงวันนี้ เรื่องการเสนอเลือนยศบิ๊กจาไปถึงไหนแล้ว คงต้องวัดใจ “บิ๊กป้อม” ว่า จะสานต่อเรื่องนี้อย่างไร?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ