Lifestyle

นายหัว “ชวน" คนสตรอง!!! แห่งพรรคสะตอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"นายหัวชวน" เกิดมาเพื่อสิ่งนี้ คือ “งานการเมือง” ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2512 ก็ได้เป็น ส.ส.ตรัง เลย และเป็นต่อเนื่องมาโดยตลอด

 

     แหม...ตรงกันเลยนะ วันครบรอบสถาปนาพรรคประชาธิปัตย์ 71 ปี กับ พระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่เกิดขึ้นวันนี้เอง 6 เมษายน 2560

     โดยงานวันเกิดพรรคสะตอนั้น จัดขึ้น ณ ที่ทำการพรรค ถนนเศรษฐศิริ เขาก็มีพิธีทางศาสนาแบบจัดเต็ม ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ต้อนรับแขกเหรื่อคนสำคัญมากันมากมาย เป็นงานคืนสู่เหย้า เราคน ปชป.!!!

     แต่พอมารวมกับบรรยากาศบ้านเมืองในวันที่มีพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญ กลิ่นอายการเลือกตั้งก็ฟุ้งแตะจมูกจนอยากรู้ขึ้นมาเลยว่า เลือกตั้งที่ว่ามีแน่ปีหน้า 2561 พรรคการเมืองใหญ่ๆ จะส่งใครมาดันให้นั่งเก้าอี้นายกฯ ?

     โดยเฉพาะ พรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 8” นี้ จะยังคงฝากความหวังไว้กับคนเดิมหรือเปล่า เพราะหลายคนก็ตำหนิว่า อดีตนายกฯ มาร์ค ช้ำเกินไปแล้วมั้ย ?

     แต่คนที่จะชี้นำว่าใครจะเหมาะสมในพรรคเวลานี้ มีอยู่คนเดียวที่ไม่เคยหายไปจากลิสต์รายการ “คนดีที่ลูกพรรคเดินตาม”

     ทำไมล่ะ ? อ้าวก็ถ้าคนอีสานบอกว่า หนึ่งเดียวในใจชนคนข้าวเหนียว คือ ทักษิณ คนใต้ก็แหลงเหมือนกันว่า หนึ่งเดียวในใจคนลูกตอก็นายหัวชวนนี่แหละ

     เพราะนายหัวชวน หรือชวน หลีกภัย ขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่คนใต้รักม้าก...มากกว่าอดีตหัวหน้าพรรคอย่าง บัญญัติ บรรทัดฐาน และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ว่าได้

     แม้ว่า บัญญัติ จะมีความเป็นคนใต้โดยกำเนิดเหมือนกัน หรือ อภิสิทธิ์ ที่มีลีลา วาทะ คารม คมๆ เฉือนๆ คลับคล้ายคลับคลากัน

     แต่นายหัวชวนมีอะไรมากกว่านั้น บางคนเรียกว่า เป็นคุณสมบัติพิเศษของนักการเมืองหายาก แม้ว่าบางคนบอกว่าก็แค่ “นักเลือกตั้งอาชีพ” ซึ่งคำนี้ ดูติดลบเกินไปหรือเปล่า

     แต่เอาเถอะจะเป็นอะไรก็ตาม มาดูกันว่า นายหัวชวน ทำอะไรมาบ้างถึงมีภาพลักษณ์ทั้งบวกและลบดังว่า

     ในการทำงาน เรารู้กันดีว่าเริ่มแรกชวนทำงานเป็นทนายความ แต่ที่บอกเลยว่า เขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ คือ “งานการเมือง” เพราะพอเขาลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2512 ก็ได้เป็น ส.ส.ตรัง เลย และเป็นต่อเนื่องมาโดยตลอด

     ทั้งยังผ่านการเป็นรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็นรองนายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายค้านในสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่สำคัญคือ เป็นนายกรัฐมนตรีสองสมัย สมัยแรกช่วง 2535-2538 และสมัยสองช่วง 2540-2543 ก่อนจะยุบสภา จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในวันที่ 6 มกราคม 2544

     หลังพ้นตำแหน่งนายกฯ ชวนกลับมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านอีกครั้ง เมื่อ 14 มีนาคม 2544 และก้าวลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคใน 2 ปีถัดมา “นายหัวหยัด” หรือ “โกหยัด” บัญญัติ บรรทัดฐาน ได้รับเลือกแทน ชวนจึงไปเป็นประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน

     ในการเลือกตั้งปี 2548 ชวน หลีกภัย มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ “มาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแทน “นายหัวหยัด”

     เส้นทางการเมืองตามนี้ ดูเหมือนว่าจะยังไม่สะท้อนตัวตนเท่าไหร่ แต่พอไปดูลีลาทางการเมืองของนายหัวชวน บอกเลยนั่นแหละตัวจริง

     แม้ว่าภาพลักษณ์ของนายหัวชวน จะโด่งดังเรื่องความสุจริต จนมีคนเรียกว่า มิสเตอร์คลีน แต่ก็มีข้อวิจารณ์การทำงานของเขามาตลอด เช่น ทำงานช้า รอรับรายงาน

     แต่เขาก็ยังได้ชื่อว่ามีคารมคมคาย จนได้ฉายาว่า “ใบมีดโกนอาบน้ำผึ้ง" ที่อาศัยความเป็นนักการเมืองรุ่นเก่า ใช้แต่วาทกรรมทำลายคู่แข่งเช่น “เราไม่อาจทำให้คนทุกคนร่ำรวยเท่าเทียมกันได้ แต่เราสามารถทำให้ทุกคนอยู่ใต้กฎหมายเดียวกันได้”

     หรือบางคนบอกว่า อีกฉายาของชวนคือ “ช่างทาสี” ตอนเป็นนายกฯ รอบสอง เพราะมักออกหน้ารับแทนลูกพรรคที่ได้รับการวิจารณ์ว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต และก็อีกสมญาหนึ่งคือ “แผ่นเสียงตกร่อง” ที่ท่องแต่ว่าในชีวิตไม่เคยซื้อเสียงเลือกตั้ง

     หรือที่ย้อนแย้งกับ “ความเป็นนักประชาธิปไตย” ก็ตอนเป็นแกนนำรัฐบาลจากอุบัติเหตุทางการเมือง ปี 2540 ที่เกิดกลุ่ม “งูเห่า” ในพรรคประชากรไทย ทำให้ชวนได้เป็นนายกฯ สมัยที่สอง ต้นแบบของปี 2551 ที่พอพรรคพลังประชาชนถูกยุบ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตกจากเก้าอี้นายกฯ ก็เกิด “การตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร” อภิสิทธิ์ก็ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

     คือ...ถ้าจะบรรยายถึงนายหัวชวนคนนี้ ให้ทั้งฝาบ้านก็เขียนไม่หมด

     แต่ถ้าจะถามว่า เมื่อวันนี้ บ้านเมืองเข้าสู่โหมดเตรียมเลือกตั้งแล้ว ชวน หลีกภัย จะเข้ามามีส่วนร่วมทางใดทางหนึ่งหรือไม่ ตอบเลยมีแน่ๆ !

     เพราะเขายังเป็นคนดีที่ลูกพรรคเดินตามอยู่นั่นเอง ที่ผ่านมาก็ยังทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดปราศรัยทีไรคนมาฟังเต็มพรึบทุกเวที

     แล้วถึงแม้ว่าที่จริง “พรรค” กับ “กปปส.” ในพรรคนี้ เขาแบ่งค่ายกันอยู่ก่อนแล้ว

     ที่ชัดๆ ก็ช่วงหลังๆ แอ็กชั่นของชวนกับลูกพรรคในคาถา คือ การไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

     ขนาดมาร์คก็ประกาศจุดยืนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการออกเสียงประชามติ สวนทางกันไปเลยกับคนเคยๆ อย่าง “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำกปปส. เพราะขานั้นเชียร์ คสช.มาแต่แรกเริ่มเลยก็ว่าได้

     ไม่รู้ว่า เรื่องของเรื่องเพราะต้องการรักษาภาพลักษณ์ของนักประชาธิปไตย ยังไงก็หล่อไว้ก่อนหรือเปล่า

     แต่พอช่วงปีที่แล้ว เสียงเห็นชอบในประชามติรัฐธรรมนูญ ถล่มทลายที่ภาคใต้ เทไปทางสุเทพ เทือกสุบรรณ ฝ่ายนายหัวเลยสบช่องว่า อันนี้ไม่ได้หมายความว่า พอเข้าคูหาจะไม่กาเลือก ปชป. นะแจ๊ะ! เพราะมันคนละสถานการณ์

     ดังนั้นพอต้นปีที่ผ่านมา นายหัวชวนก็ให้สัมภาษณ์สื่อเนชั่นว่า พร้อมจะลงเลือกตั้ง แถมยังเอ่ยถึงอดีตนายกฯ คนในพรรคด้วย

     “ตราบเท่าที่ยังมีแรง ก็ขอเป็นตัวแทนของประชาชน ในส่วนของพรรคนั้น คิดว่าตัวหัวหน้าก็เป็นคนหนุ่มที่มีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา”

     หรือลูกพรรคอย่าง บุญยอด สุขถิ่นไทย, วัชระ เพชรทอง ที่อยู่ข้างหัวหน้ามาร์คมาตลอด และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารอยู่บ่อยๆ จนเพิ่งโดนเชิญไปคุยไม่กี่วันมานี้ พอออกมาก็อวยทหารเปาะ

     อย่างวันงานครบรอบ 71 ปีพรรค หัวหน้ามาร์คก็บอกเหมือนเดิมเลยว่า “พร้อมเป็นตัวเลือกให้ประชาชน”

     อ้าวไหงเป็นงั้น ?

     แต่ไม่ว่าจะพูดอะไร ยังไงก็หล่ออยู่ดี หรือนี่จะเป็นลีลาของนักเลือกตั้งตัวจริง ที่พอศึกในคูหาจะเริ่มลั่นกลองรบ ก็ลับดาบ เหลาธนูรอเลย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ