Lifestyle

เปลี่ยนใจ..แล้วไง! ‘บ๊อบ ดีแลน’ วีรกรรมปู่เยอะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

#คนในข่าว

 

          กลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกอีกครั้ง สำหรับการตอบรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมที่กรุงสต็อกโฮล์ม ของ บ๊อบ ดีแลน ช่วงต้นเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ถึงแม้การเปลี่ยนใจของบ๊อบ ดีแลน ครั้งนี้ไม่ง่ายและมากมายด้วยเงื่อนไข แต่ก็ทำให้ทางคณะกรรมการรางวัลดีใจกันอย่างยิ่ง หลังจากที่ประกาศไปเมื่อหกเดือนก่อน แล้วไม่สามารถติดต่อให้มารับรางวัลได้พร้อมกับคนอื่นๆ

          โดยทาง บ๊อบ ดีแลน แจ้งกับคณะกรรมการล่วงหน้าแล้วว่า จะไม่มีการแสดงใดๆ ในพิธีมอบรางวัลครั้งนี้นอกจากนี้งานดังกล่าวก็จะจัดขึ้นในสถานที่เฉพาะด้วย โดยไม่มีสื่อใดๆ มีเพียงเขาและคณะกรรมการเท่านั้น รวมถึงการกล่าวสุนทรพจน์ด้วย ที่จะไม่มีแบบ “สด” แต่เป็นลักษณะอัดเสียงมาให้ สำหรับสุนทรพจน์นี้สำคัญนัก หากไม่มีการส่งมา ทางศิลปินคนดังก็จะไม่สามารถรับเงินรางวัลราว 32 ล้านบาท

          และการไปสวีเดนครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อรางวัลอย่างเดียว แต่เพราะมีคอนเสิร์ตที่กรุงสต็อกโฮล์มถึง 2 งานต่างหาก แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด มั่นใจได้ว่าศิลปินรุ่นลายครามรายนี้จะไม่หนีหายจนติดต่อไม่ได้แน่ๆ เพราะเป็นศิลปินที่รักมั่นในอาชีพของตัวเองที่สุดคนหนึ่ง

          บ๊อบ ดีแลน นักร้อง นักแต่งเพลง ศิลปิน จิตรกร นักประพันธ์ และกวีชาวอเมริกัน เกิดเมื่อ 24 พฤษภาคม 2484 มีชื่อจริงว่า “โรเบิร์ต อัลเลน ซิมเมอร์แมน” เติบโตในรัฐมินิสโซต้า รักเสียงเพลงมาตั้งแต่เด็ก ชอบฟังวิทยุเป็นชีวิตจิตใจ พอขึ้นมัธยมก็ตั้งวงดนตรีในโรงเรียน ร้องเพลงของ ลิตเติ้ลริชาร์ด และเอลวิส เพรสลีย์ เป็นประจำกระทั่งวัยหนุ่มหลงใหลในร๊อคแอนด์โรลเต็มหัวใจ ดีแลนรู้ว่าตัวเองชอบอะไรตั้งแต่ พออายุได้ 18 ปีเขาจึงหันหลังให้กับร๊อคแอนด์โรลล์แล้วเข้าสู่ดนตรีโฟล์กเต็มตัว และย้ายไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมินิสโซต้า

          ระหว่างเรียนก็เล่นดนตรีในผับไปด้วย พร้อมตั้งชื่อใหม่ในวงการให้กับตัวเองโดยให้เหตุผลว่า คนเราจะใหอื่นเรียกขานตัวเองยังไงก็ได้ในดินแดนเสรีภาพ และชื่อ “บ๊อบ ดีแลน” ก็ถือกำเนิดช่วงนั้น แต่เรียนได้เพียงปีเดียวก็ตัดสินใจโบยบินตามฝันสู่นิวยอร์ก สุมหัวเล่นดนตรีในผับกับนักดนตรีแนวโฟล์กจากหลากประเทศหลายสไตล์ทำให้เขาสัมผัสกับดนตรีโฟล์กอย่างล้ำลึก สไตล์การเล่นและเสียงร้องที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์จึงเข้าตาแมวมองและได้เซ็นสัญญากับค่ายโคลัมเบีย

          ดีแลนเป็นที่รู้จักในอเมริกา แต่ต่างประเทศ “อังกฤษ” เป็นประเทศแรกที่เขาได้เดินทางไปแสดง และที่สถานีโทรทัศน์บีบีซีนั้นเอง เขาก็ได้บรรเลง Blowin in the wind ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2505 ว่าด้วยการตั้งคำถามถึงการหายไปคนหนุ่มสาวยุคนั้นที่ถูกส่งไปเป็นทหารแล้วไม่เคยได้คืนกลับมาอีกเลย 

          กระทั่งกลายมาเป็นหนึ่งในเพลงสัญลักษณ์ของการเคลื่อนไหวทางสิทธิมนุษยชนและการต่อต้านสงครามในสหรัฐอเมริกา ด้วยเนื้อหาลึกซึ้งและทำนองเรียบง่ายโดนใจ เพลงนี้จึงมีอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวทั่วโลกยุคบุปผาชนเบ่งบาน ผลงานต่อๆ มากของดีแลนยังคงมีเนื้อหาการแต่งเพลงที่เน้นเนื้อหาทางสังคมและการต่อต้านสงครามหรือที่เรียกว่า Protest songs ที่เต็มไปด้วยวิญญาณแห่งการก่อกบฎสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนหนุ่มสาวและนักดนตรีที่ใฝ่ฝันเปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วย อย่างไทยก็มี น้าหงา คาราวาน ที่มีดีแลนเป็นไอดอลคนสำคัญในการสร้างสรรค์หลายบทเพลง

          เนื้อเพลงของดิลลันยุคแรก จะเกี่ยวกับการเมือง สังคม ปรัชญา และอิทธิพลจากวรรณคดี ดนตรีของเขาได้ต่อต้านกระแสนิยมทางดนตรีป็อปและนำโฟล์กเข้ามามีบทบาทในกระแสสังคม เขาได้รับแรงบันดาลใจด้านการแสดงมาจาก ลิตเทิล ริชาร์ด และการประพันธ์เพลงแบบ วูดดี กัทรี, โรเบิร์ต จอห์นสัน และแฮงก์ วิลเลียมส์ ตลอดชีวิตด้านงานดนตรีของเขา 

          ดีแลนได้ขยายสาแหรกแนวย่อยดนตรีเป็นจำนวนมาก ได้เป็นผู้บุกเบิกวงการเพลงโฟล์กในอเมริกันสู่โฟล์กในอังกฤษ สกอตแลนด์และไอร์แลนด์ และผลักดันดนตรีโฟล์กให้กลับมาได้รับความนิยม รวมไปถึงบลูส์, คันทรี, กอสเปล, ร็อกอะบิลลี และแจ๊ส เขาจึงเป็นที่รู้จักจากศิลปินที่ทั้งแต่งและร้องเอง จนได้รับการยกย่องให้เป็นนักแต่งเพลงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง และภาพลักษณ์การแสดงสดที่เล่นกีตาร์ พร้อมกับเปล่าฮาร์โมนิกา รวมไปถึงคีย์บอร์ด เขาได้จัดทัวร์คอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายยุค 1980 จนได้รับการยกย่องให้เป็นทัวร์ Never Ending Tour” ถ้อยคำยกย่องจากวงการดนตรี

          ดีแลน เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เพียงแค่อายุ 25 ก็ได้เริ่มทัวร์ยุโรปแล้ว จากนั้นมาก็ทัวร์เรื่อยมาตลอดห้าสิบกว่าปีบนเส้นทางสายดนตรี ไปที่ไหนก็มีแฟนเพลงท่วมท้น อย่างที่แสดงในเวียดนาม ศิลปินไทยก็ซื้อตั๋วยกทีมกันไปดูชุดใหญ่ ปีนี้ก็มีคิวทัวร์ยุโรปยาวถึงเดือนกรกฏาคม 2560

          เช่นเดียวกับผลงานเพลงที่ได้สร้างสรรค์ต่อเนื่อง จนล่าสุดปู่บ๊อบก็ยังแรงดีไม่มีตก ออกผลงานล่าสุดเป็นชุดที่ 37 ในชื่อ “” พร้อมเผยแพร่ทั่วโลก 31 มีนาคม 2560 ห้วงเวลาเดียวกับที่ไปรับรางวัลโนเบลพอดี

          ด้วยชั่วโมงบินสูงแบบนี้ ด้านรางวัลก็เช่นกัน เพราะทำงานหลากหลายด้านไม่เฉพาะด้านดนตรี แต่รวมถึงเพลงประกอบภาพยนตร์,หนังสือเด็ก,รวมบทเพลงและรวมบทกวีด้วย ที่ผ่านมาได้มาครบครันทั้งรางวัลแกรมมี่, ออสการ์, พูลิตเซอร์ รวมถึงรางวัลเชิดชูเกียรติจากหลายสถาบันและหลายประเทศ

          เพราะฉะนั้นเรื่องรางวัลไม่ต้องพูดให้มากความเพราะปู่บ๊อบได้มาเยอะแล้ว หลายรางวัลไม่ได้ไปรับด้วยตัวเอง มีแค่ส่งคลิปสั้นๆ ไปแทนตัวก็มี หรือไปแล้วก็ไม่ได้แสดงความปลื้มใจอะไรมากมาย ราวกับ “ชื่นใจนะ แต่ไม่แสดงออก”

          เช่นครั้งที่ได้รับรางวัลออสการ์ปี 2543 ในสาขาเพลงประกอบดั้งเดิมยอดเยี่ยมจากเพลง “Things Have Changed” จากภาพยนตร์ Wonder Boys เขาก็ส่งคลิปวิดิโอแทนตัว หรือแม้กระทั่งรางวัลเกียรติยศ “National Medal for the Arts” จากประธานาธิบดีสหรัฐฯ “บารัค โอบามา” ก็มิได้ไปรับ ภายหลังถึงได้มีคอนเสิร์ตในทำเนียบขาว ชื่อ “Black History Month” ปู่บ๊อบถึงได้ยอมมา แต่แล้วก็ปล่อยให้โอบามาคอยเก้ออีก เพราะมาเล่นดนตรีแล้วก็กลับไปทันที รวมแล้ววีรกรรมปู่บ๊อบเยอะ แต่ก็ได้รางวัลมาต่อเนื่อง

          เมื่อมาถึงรางวัลโนเบลก็มิควรแปลกใจใดๆ เพราะถึงแม้ติดต่อไม่ได้ แต่ท้ายสุด ให้หลังการมอบรางวัลไปแล้วหนึ่งวัน ปู่บ๊อบก็ขอบคุณผ่านสื่อมายังรางวัลนี้เรียบร้อย

          กระทั่งล่าสุดกับการรับรางวัลโนเบลที่สวีเดน แต่ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนปู่บ๊อบ รางวัลก็คงยังล่องลอยอยู่ในสายลมต่อไป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ