Lifestyle

โยมอย่าห่วง...ไว้ใจ“หลวงพ่อ”คุมวัดธรรมกายเอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โยมอย่าห่วง...ไว้ใจ “หลวงพ่อ”คุมวัดธรรมกายเอง

 

          จากผลการหารือระหว่าง พระเทพรัตนสุธี (สมศักดิ์ โชตินธโร) เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี และ ผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อยามบ่ายของวันที่ 27 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา บทสรุปก็คือ เจ้าคุณสมศักดิ์ยังคงยืนยันว่า พระวิเทศน์ภาวนาจารย์ (สมบุญ  สมมาบุญโญ) อายุ 65 ปี พรรษา 32 วิทยาฐานะ นักธรรมเอก เปรียญธรรม 4 ประโยค เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายต่อไปโดยที่ตัวท่าน เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี จะดูแลกำกับควบคุมการบริหารจัดการภายในวัดเอง

          ท่านให้เหตุผลว่า เพราะโครงสร้างการบริหารจัดการวัดพระธรรมกายไม่เหมือนวัดอื่น ด้วยมีพระเป็นจำนวนพันรูป อุบาสก อุบาสิกาที่ปฏิบัติธรรมและเป็นเจ้าหน้าที่ในนั้นอีกมากมาย และทุกคนก็ล้วนแต่ศรัทธาพระธัมมชโยทั้งสิ้น การแต่งตั้งเจ้าอาวาสจากพระนอกวัด จึงอาจไม่ใช่หนทางแก้ปัญหาที่จะนำไปสู่ทางออกที่ดีงาม

000

          ที่วัดเขียนเขต (พระอารามหลวง) ตำบล บึงยี่โถ อำเภอธัญญบุรี จังหวัดปทุมธานี หากไปถามพระลูกวัดถึง หลวงพ่อสมศักดิ์เจ้าอาวาส  ก็คงได้รับคำตอบคล้ายๆ กันว่า ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ที่ตื่นเช้า ทำวัตรสวดมนต์ตั้งแต่ตี 5 หลังจากนั้นก็ออกบิณฑบาตทุกวัน ถ้าฝนไม่ตก หรือไม่ติดกิจนิมนต์ ท่านค่อนข้างเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาก ในวันพระ ท่านมีมติว่า พระทุกรูปในวัดต้องลงปาติโมกข์ ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ที่น่าเกรงขาม

          พระลูกวัดท่านหนึ่งเล่าว่า เวลามีพระในวัดที่ขัดใจกัน ท่านเป็นพระผู้ใหญ่ที่ทำให้ความขัดแย้งนั้นจางคลายไป ท่านมีคำพูดที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายคลายความขัดแย้งกันได้ และทำให้ทั้งคู่กลับมาดูตัวเอง ซึ่งก็สะท้อนความเมตตาและปัญญาญาณของท่านที่มองเห็นว่า ควรจะพูดอะไรให้ทั้งสองฝ่ายคลายความขัดแย้ง

          การที่ท่านเป็นเจ้าคณะจังหวัด เป็นตำแหน่งที่รับผิดชอบสูง และต้องใส่ใจ ท่านต้องไปตรวจตราวัดในปกครองทุกวัน ซึ่งมีจำนวน 166 วัดมหานิกายในจังหวัดปทุมธานี และวัดพระธรรมกายก็ไม่เคยรอดพ้นไปจากสายตาและการดูแลของท่าน

000

          ท่านเจ้าคุณสมศักดิ์เป็นชาวบางยี่โถ จังหวัดปทุมธานีโดยกำเนิด บ้านอยู่ติดวัดเขียนเขต  บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 14 ปีที่วัดเขียนเขต จากการบวชเณรหน้าไฟให้โยมลุงเสียชีวิต

          "ตอนนั้นโยมพ่อก็บอก ขอให้บวชให้โยมลุงสัก  7 วัน พอบวชแล้วก็ไปอยู่ที่วัดกลางคลองสี่ อำเภอลำลูกกา จ.ปทุมธานี กับหลวงปู่ทองอินทร์ ​พระมงคลศีลาจาร (ทองอินทร์ เตชวุฒโฒ)

          หลังจากบวช 7 วันก็ยังไม่สึก เห็นพระเณรเรียนหนังสือก็ชอบ เลยเรียนอยู่ที่วัดนั้นต่ออีกหนึ่งพรรษา จากนั้นหลวงปู่ก็ส่งไปเรียนหนังสือที่วัดบางหลวง กับพระราชสุเมธาภรณ์ (มังกร กสฺสโป ป.ธ.7) เจ้าอาวาสวัดบางหลวง และอยู่กับ พระราชพุฒิเมธี(เทียน ฐานุตฺตโม) เจ้าอาวาสวัดบางหลวงรูปต่อมา  จนถึงปี 2513 อาตมาก็บวชที่วัดมูลจินดาราม จ.ปทุมธานี  โดยมี พระราชสุเมธาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมงคลศีลาจารย์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระเทพวุฒาจารย์(วิเชียร ธญฺญทินฺโน) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พอบวชแล้วก็จำพรรษาอยู่ที่วัดมูลจินดาราม ช่วยงานหลวงพ่อ จนกระทั่งปี 2522 ที่วัดเขียนเขตว่างเจ้าอาวาส หลวงพ่อก็ให้ช่วยมาดูแลที่วัดนี้ ก็ดูแลวัดนี้มาเป็นลำดับ"

          สำหรับการภาวนา ท่านเล่าให้ฟังว่า ได้เรียนจากครูบาอาจารย์มาบางส่วน อีกส่วนคือ  ได้รับคำแนะนำจากหลวงพ่อสมเด็จพระพุทธชินวงศ์  (สมศักดิ์ อุปสโม) ส่งไปอบรมที่สำนักของท่าน ตามแนวทางสติปัฏฐานสี่

          “การอบรมกรรมฐานช่วยได้เยอะ ทำให้จิตใจมั่นคงขึ้น โดยเฉพาะเราเป็นพระก็ต้องอยู่กับกรรมฐานมากๆ หน่อย จะได้ไม่หลุดไปกับอารมณ์ หรือ ไม่วิ่งตามโลกภายนอก” 

          จากการภาวนาจนจิตใจสงบเย็นนี่เองที่เป็นบาทฐานสำคัญในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในคณะสงฆ์ และโดยเฉพาะกรณีวัดพระธรรมกาย ซึ่งท่านได้รับมอบหมายโดยตรงมาตั้งแต่ปี 2541 

          “อาตมาแก้ไขมาเป็นลำดับ ๆ ในส่วนคดีความ อาตมาไม่สามารถไปรู้ได้ แต่การปกครองเป็นอำนาจหน้าที่ที่ดูแลมาเป็นประจำ การศึกษาพระเณรเขาก็ดี เราก็ให้การสนับสนุน ทางโยมก็ไม่เข้าใจคิดว่า การทำงานของพระล่าช้า แต่กฎหมายคณะสงฆ์เป็นไปตามขั้นตอน จะให้เร็วอย่างชาวบ้านเป็นไปไม่ได้ พระเราทำงานต้องระวัง จะไปกล่าวหาใครว่าอาบัติอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าความเป็นจริงเป็นอย่างไร 

          "การปรับอาบัติก็ต้องรู้ว่า พระเป็นอาบัติ แต่ถ้าไม่รู้เราไปปรับอาบัติ เราก็จะเป็นอาบัติเสียเอง พระธรรมวินัยมีอธิบายไว้ละเอียดลออ ส่วนชาวบ้านจะว่าพระอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา ส่วนทางพระก็แก้ปัญหาไป ให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์จะดีกว่า ”

          ดังนั้น การที่หลวงพ่อวัดเขียนเขต ท่านออกรับอย่างนี้ คือ ยอมที่จะเป็นผู้ดูแลวัดพระธรรมกายเอง ก็เหมือนพ่อแผ่อ้อมอกปกป้องลูกพระลูกเณรที่กำลังอกสั่นขวัญแขวน แม้จะไม่ถูกใจคนทั้งหลาย แต่ก็ถูกธรรมของผู้ปกครอง นั่นคือวิสัยผู้นำที่มีธรรมและมีเมตตา ยอมที่จะเอาตัวเป็นเกาะเป็นที่พึ่ง ยอมที่จะถูกด่า ถูกว่า แต่ก็ยึดธรรมเป็นหลัก

          จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่านได้รับโล่เชิดชูเกียรติปูชนียบุคคล “200ปี 200คนดีเมืองปทุม” ในปี 2558

          ปัจจุบันเจ้าคุณสมศักดิ์ อายุ 67 ปี 46 พรรษา ปธ. 5 ปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ สาขาการจัดการเชิงพุทธ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กับผลงานมากมายที่ช่วยให้กิจการงานของคณะสงฆ์เดินหน้าไปสู่ความสงบเย็น เกื้อกูลให้พระเณรและฆราวาสญาติโยม ได้ศึกษาปฏิบัติธรรมตามแนวสติปัฏฐานสี่ อีกทั้ง ส่งเสริมงานด้านการศึกษา โดยมอบทุนการศึกษา พระภิกษุ สามเณร และนักเรียน นักศึกษา (ทุนต่อเนื่อง) มาโดยตลอด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ