Lifestyle

คนเบื้องหลัง "ไมตรี" รักษ์ลาหู่ ผู้สร้าง “ชัยภูมิ ป่าแส”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รู้จักคนสำคัญผู้สร้างแรงใจไฟฝันให้กับ ชัยภูมิ ป่าแส ก้าวไปบนเส้นทางสายนักกิจกรรมเพื่อสังคม


          จากการวิสามัญฆาตกรรมของทหารทำให้จะอุ๊-ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาติพันธุ์ลาหู่เสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำ หลายฝ่ายเรียกร้องให้ความเป็นธรรมได้บังเกิดขึ้น

          หนึ่งเสียงในนั้นคือ ไมตรี จำเริญสุขสกุล ประธานกลุ่มรักษ์ลาหู่ จ.เชียงใหม่ ที่ดูแลทุกข์สุขของ จะอุ๊-ชัยภูมิ ป่าแส ตั้งแต่สมัยที่มีชีวิต จนถึงวันที่ตายจาก เสมือนคนในครอบครัวจนยอมรับนับถือกันเป็น “พี่ชายบุญธรรม” ที่เป็นแรงใจบันดาลใจให้ ชัยภูมิ ป่าแส ก้าวไปบนเส้นทางนักกิจกรรมเพื่อสังคม

          แต่วันนี้ ภายหลังการตายของจะอุ๊-ชัยภูมิ ป่าแส ที่ทางทหารอ้างเหตุจากยาเสพติดนั้น ทาง ไมตรี กลับถูกทางการเพ่งเล็งว่าอาจจะเป็นอีกคนหนึ่งที่มีส่วนรู้เห็นด้วย

          แต่ “พี่ไมตรี” ของจะอุ๊ และน้องๆ กลุ่มรักษ์ลาหู่ทั้งหลาย ดูเหมือนไม่หวั่น เพราะหนักกว่านี้ ถึงขั้นโรงขึ้นศาลก็เคยมาแล้ว และไม่ใช่ครั้งแรกที่เขาตกเป็นข่าว

คนเบื้องหลัง  "ไมตรี" รักษ์ลาหู่  ผู้สร้าง “ชัยภูมิ ป่าแส”


          ไมตรี จำเริญสุขสกุล หรือ “พี่ไมตรีของน้องๆ” วัย 33 ปี เป็นนักกิจกรรมชาวลาหู่ ผู้ก่อตั้งกลุ่มรักษ์ลาหู่ อยู่หมู่บ้านกองผักปิ้ง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ มาตั้งแต่เกิด ด้วยภูมิประเทศติดแนวชายแดนทำให้หมู่บ้านของเขาเสี่ยงต่อยาเสพติดมาตลอดเวลา คนหนุ่มสาวมากมายที่เสียผู้เสียคนไปกับมหันตภัยร้าย เพราะถึงไม่ก้าวไปหา ยาเสพติดเหล่านั้นก็พร้อมจะคืบคลานเข้าหาอยู่แล้ว หากไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดี

          ครั้งหนึ่ง ไมตรี ก็ตกอยู่ในภาพเช่นนั้น แต่เขาไม่ยอมไหลไปกับกระแสน้ำ เพื่อนหลายคนของเขาติดยา ดมกาวจนออกจากโรงเรียน เขาเองก็เกือบไปเหมือนกันเพราะเกเรมีเรื่องชกต่อยกับเพื่อนประจำ แต่ด้วยความรักในดนตรี จึงให้ดนตรีนำทางชีวิต ก่อนตั้งกลุ่ม “รักษ์ลาหู่” เพื่อรวมกลุ่มเยาวชนในหมู่บ้านมาทำกิจกรรมร่วมกัน เริ่มต้นเป็นแนว “ดนตรีบำบัดยาเสพติด” ทั้งเล่นดนตรีและส่งเด็กประกวดร้องเพลงต่างๆ ดึงความสนใจของเยาวชนให้ออกห่างจากยาเสพติด โดยเฉพาะตัวเขาเองก็มีวงดนตรีชนเผ่าบรรเพลงในงานชาติพันธุ์ด้วยบทเพลงภาษาลาหู่หลายครั้ง อย่างโครงการ “การสอนแต่งเพลงให้กับเด็กๆ ลาหู่ดำ ลาหู่แดง” เป็นหนึ่งโครงการในความมุ่งมั่นเพื่อพัฒนาความสามารถของน้องๆ ในกลุ่มด้วย

          ภายหลังเมื่อตระหนักว่าการจะก้าวไปสู่สิ่งใดแล้วต้องเริ่มต้นจาก “วัฒนธรรม” ซึ่งเป็นรากเหง้าของตัวเองก่อน จึงกลับมาเน้นเรื่อวัฒนธรรมลาหู่ แล้วใช้ การเต้นแจ่โก่, การใช้ภาษาลาหู่ และการสวมเสื้อผ้าของเผ่า ทำให้ระยะหลังการขับเคลื่อนกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นวัฒนธรรมเข้มขึ้น

          ไมตรียังเก่งทางด้านไอทีและคอมพิวเตอร์ เขาเคยรับเหมาติดตั้งอินเตอร์เน็ตในหมู่บ้านปายสองแง่ให้กับผู้ใหญ่บ้านและทหารที่ชายแดนได้ใช้งานอีกด้วย จากความสามารถนี้เองจึงต่อยอดไปทำหนังสั้นด้วย

          ยิ่งได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งของโครงการ “เกี่ยวก้อย” โครงการผลิตสื่อเพื่อรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนคนชายขอบ ของ “มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน” ด้วยแล้ว จึงได้อบรมแล้วผลิตหนังสั้นให้คนนอกพื้นที่ได้รับชมมาแล้วหลายเรื่อง เช่น “ลาหู่ บ้านฉัน” เป็นต้น พร้อมกับถ่ายทอดเทคนิคการผลิตสื่อเหล่านั้นให้กับน้องๆ ในกลุ่มรักษ์ลาหู่รุ่นหลังได้สร้างสรรค์หนังสือออกมาด้วย เพื่อบอกเล่าความเป็นลาหู่ของคนบ้านกองผักปิ้งที่เริ่มสูญหายไปตามเวลานั้น ได้ผลตอบรับในวงกว้าง อาทิเช่น “ทางเลือกของจะดอ”, “จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา”, เข็มขัดและหวี ฯลฯ

คนเบื้องหลัง  "ไมตรี" รักษ์ลาหู่  ผู้สร้าง “ชัยภูมิ ป่าแส”


          นอกจากนี้ ไมตรี ยังมีบทบาทในการเป็นผู้สื่อข่าวพลเมืองให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อสื่อสารเรื่องราวและวิถีชีวิตของชาวลาหู่ให้กับสังคมได้รับรู้อีกทางหนึ่ง อย่างรายการสารคดีชีวิต “เด็กมีเรื่อง” เกี่ยวกับ “ลาหู่” ถึง 4 ตอน ทางไมตรีและน้องๆ ในกลุ่มก็ประสานงานทุกขั้นตอน

          ไมตรีจึงเป็นที่รู้จักของคนทำงานพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อเด็ก เพื่อชุมชนเสมอมา ในฐานะผู้บอกเล่าเรื่องราวและปกป้องชุมชนผ่านสื่อเล็กๆ

          “ไมตรีเป็นคนสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนลาหู่ ปลุกฟื้นศิลปะและดนตรีของชนเผ่า สร้างพื้นที่ในการแสดงออกของเด็กๆลาหู่ และสร้างเยาวชนให้เป็นแกนนำที่สามารถเป็นต้นแบบให้กับน้องๆในชุมชนตัวเองได้” กัลยาณมิตรรายหนึ่งกล่าวถึงไมตรีไว้เช่นนั้น

          ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ จะอุ๊-ชัยภูมิ ป่าแส นั่นเอง จากเด็กน้อยผู้ยากไร้และเกิดมาท่ามกลางความไม่พร้อมทั้งหลาย แต่วันหนึ่งก็เดินตามเสียงเพลงมาที่บ้านรักษ์ลาหู่ ที่เขาเปิดรับทุกชีวิตด้วยไมตรี อาหาร ที่พัก และเดินทางไปทำกิจกรรมต่าง ๆทั้งในและนอกพื้นที่ กระทั่งทำให้ชีวิตเด็กชายเปลี่ยนไป มีความสามารถหลายด้าน ถือเป็นน้องชายในกลุ่มรักษ์ลาหู่ที่เขาเองภูมิใจและมีอนาคตไกลคนหนึ่ง พร้อมขับเคลื่อนงานศิลปวัฒนธรรม-กิจกรรมเพื่อสังคมต่อไปได้สบายๆ

          ขณะที่ทำกิจกรรมกับน้องๆ ไมตรีก็ยังคงทำหน้าที่ “ผู้สื่อข่าวพลเมือง” เพื่อส่งข่าวสารจากแดนไกลผ่านออนไลน์มายังโลกภายนอกต่อเนื่อง

          ต้นปี 2558 ไมตรีตกเป็นข่าวใหญ่ ถูกเจ้าหน้าที่ “ทหาร” ฟ้องฐานในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากการโพสต์ข้อความเล่าเรื่องราวกรณีเจ้าหน้าที่ทหารได้ตบหน้าชาวบ้านที่บ้านกองผักปิ้ง เมื่อส่งท้ายปีเก่า 2557

          กระทั่งเกิดกระแสให้กำลังใจ #เรามีไมตรี เพื่อให้กำลังใจไมตรีจากเพื่อนสู่เพื่อน ท่วมท้นล้นโชเชียลกันระยะหนึ่ง

          แต่แล้วในที่สุด ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดี ทั้งนี้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการเผยแพร่เรื่องดังกล่าวว่า “เป็นความจริง” ไม่ถือเป็นความผิด จึงพิพากษายกฟ้องจำเลย หลังสืบคดีพยานโจทก์ รวม 10 ปาก พยานจำเลยอีก 8 ปาก รวม 18 ปาก ต่อสู้คดีนานกว่า 1 ปี

          จากกรณีที่ถูกฟ้องร้อง ไมตรีถือเป็นเรื่องบานปลายอย่างมาก จากที่ตั้งใจเพียงทำหน้าเป็นสื่อกระบอกเสียงให้ชาวบ้าน เรียกร้องให้คนที่ทำผิดมารับผิดชอบด้วยการขอโทษกับผู้ใหญ่ของหมู่บ้านเท่านั้น แต่กลับถูกฟ้องร้องในที่สุด

          แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่เสียกำลังใจในการทำหน้าที่ “กระบอกเสียง”ให้กับชาวบ้านเพื่อสื่อสารเรื่องราวต่อสังคมต่อไป และไม่เฉพาะชุมชนกองผักปิ้งบ้านเขาเท่านั้น แต่ทุกพื้นที่ที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชุมชนของตนเอง

          กรณี “ชัยภูมิ ป่าแส” น้องชายบุญธรรมของเขา น่าจะเป็นอีกประเด็นที่เขาเกาะติดและให้ความกระจ่างได้มากที่สุดนับจากนี้ต่อไป

 

***ขอบคุณภาพจาก Facebook : Maitree Savelahu

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ