Lifestyle

"หมอหนิ่ง" หนึ่งใจดวงนี้ แด่ "เจ้าออมสิน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยังมีอีกหยดน้ำตาของคนที่ใกล้ชิด และรับรู้ถึงความเจ็บปวดของ “เจ้าออมสิน” จนลมหายใจสุดท้าย สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ เธอคือใคร??

          หยดน้ำตาของคนไทย ยังคงหลั่งรินให้กับการจากไปของ "เจ้าออมสิน" เต่าตนุเพศเมีย วัย 25 ภายหลังการผ่าตัดนำเหรียญออกจากช่องท้อง แต่ต้องจากไปด้วยภาวะเลือดเป็นพิษจากโลหะหนัก

          แต่ยังมีอีกหยดน้ำตาของคนที่ใกล้ชิด และรับรู้ถึงความเจ็บปวดของ “เจ้าออมสิน” จนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย

          คือ "หมอหนิ่ง" สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ ผู้นำทีมแพทย์ที่ช่วยกันดูแลรักษาและผ่าตัดเจ้าออมสิน มาตั้งแต่วันแรกที่รับตัวมาจากโรงพยาบาลเต่าทะเล ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล กองทัพเรือ จ.ชลบุรี กระทั่งลมหายใจสุดท้ายของเจ้าออมสิน ที่หมดไปเมื่อวันอังคารที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา เวลา 10.10 น.

          ถามว่า รองศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.นันทริกา ชันซื่อ หรือ หนิ่ง คนนี้เป็นใคร

          เธอเป็นบุตรสาวของ รศ.นสพ.ดร.รท.ประสิทธิ์ โพธิปักษ์ อดีตคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ทันตแพทย์หญิง มนูญ (กปิตถัย)

          หมอหนิ่ง เกิดเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2504 ปัจจุบันเธอ เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ และ รองศาสตราจารย์ ระดับ 9 ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,เป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยสัตว์น้ำสวยงามและสัตว์น้ำเพื่อการอนุรักษ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็น ผู้ช่วยคณบดีด้านประชาสัมพันธ์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          นอกจากนี้ เธอยังเป็น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จากการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช. อีกด้วย

          ในด้านชีวิตส่วนตัว หมอหนิ่งเป็นภรรยาของ นพ.เอกวรรณ ชันซื่อ บุตรชายคนโตของ วรรณ ชันซื่อ อดีตประธานรัฐสภา มีบุตรด้วยกันทั้งหมด 4 คน เป็นหญิง 3 ชาย 1 คือ วรรณิกา, วรรณฤทัย, วรรณวลี และ วรรณรัฐ ชันซื่อ

          หมอหนิ่งคนนี้ เรียกว่าลูกไม้ใต้ต้นของจริง เพราะเธอจบการศึกษาระดับปริญญาตรีระดับเกียรตินิยมจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          แต่ใครจะรู้ว่า ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย สอบครั้งแรกได้คณะวิทยาศาสตร์ แถมยังเรียนตกมาก ได้คะแนน 1.57 สุดท้ายกลับไปเอ็นทรานซ์ใหม่ จนได้เรียนคณะสัตวแพทย์ และทำได้ดีมาก ถึงขนาดสอบได้ที่ 1 และคว้าเกียรตินิยมมาได้

          เมื่อเรียนจบแล้ว แรกเริ่มเธอก็ทำงานรักษาสุนัขและแมวเหมือนคนอื่นๆ แต่เพียงปีเดียว เธอก็ไปสอบสัมภาษณ์เพื่อเป็นเลขาฯ ของเจ้าสัวธนินทร์ เจียรวนนท์ ประธานกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี)

          โดยได้คำแนะนำจากพ่อว่า “ไปทำงานกับคนเก่ง เราจะได้เก่งด้วย" และด้วยสายงาน จึงหันไปศึกษาปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

          แต่เมื่อทางกลุ่มบริษัทซีพี มีแนวความคิดที่จะทำธุรกิจด้านสัตว์น้ำมากกว่าสัตว์บก ผ่านไป 1 ปี เธอจึงไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ด้านสัตว์น้ำโดยเฉพาะที่ The College of William & Mary รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 300ปี

          และกลับมาทำงานสัตวแพทย์ตามที่ใจรักอีกครั้ง จนได้ชื่อว่ามีความเชี่ยวชาญเรื่องโรคสัตว์น้ำ มีงานวิจัยต่างๆ มากมาย เป็นคอลัมนิสต์ที่มีผลงานประจำตอบปัญหาหรือเขียนบทความลงในนิตยสารสัตว์เลี้ยงและปลาสวยงามหลายเล่ม ในชื่อของ “หมอหนิ่ง”

          กับทั้งยังทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำหลายโครงการ เช่น การจัดตั้งชมรมอนุรักษ์เต่าร่วมกับทางกลุ่มบริษัทซีพี รณรงค์และให้ความรู้เรื่องการปล่อยเต่าคืนสู่ธรรมชาติอย่างถูกต้องตามหลักสายพันธุ์

          เคยเข้าอบรมหลักสูตร CSI โดย FBI สหรัฐฯ ศึกษาด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อหาความสัมพันธ์ของคดีที่มีสัตว์เข้าไปเกี่ยวข้อง หรือการที่เธอหลงใหลใน ปลากระเบนราหูน้ำจืด จนทำให้คุณหมอหนิ่งศึกษาเพิ่มเติมจนถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปลากระเบนรายแรกของโลก

          เธอเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเป็นสัตว์แพทย์ว่า มาจากพ่อที่ให้คำแนะนำ

          "ความอิ่มเอิบใจในการที่เราได้ช่วยเหลือชีวิตอื่นๆ เป็นรางวัลที่เงินซื้อไม่ได้ ได้เรียนรู้ยิ่งกว่าการรักษาสัตว์ แต่เป็นการเคารพต่อชีวิตของสัตว์"

          น่าแปลกที่ความฝันแรกของหมอหนิ่ง คือ เป็นสัตวแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านม้า แต่เพราะเคยถูกม้าเตะซี่โครงหัก จึงล้มเลิก แต่หันมาสนใจเรื่องสัตว์น้ำแทน โดยมีแรงบันดาลใจตอนที่เคยฝึกดำน้ำ และเคยสอนดำน้ำอยู่ถึง 13 ปี (นอกเหนือจากความสามารถทางด้านกีฬายิงปืนที่เคยเป็นตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันยิงปืนในระดับนานาชาติมาแล้วในหลายประเทศ)

          แต่ด้วยความไม่ชอบรักษาสัตว์ที่เป็นอาหาร จึงหันมารักษาสัตว์สวยงามกับสัตว์อนุรักษ์ เพราะไม่ว่าอาการหนักเท่าไรก็ต้องรักษา

          อย่าง “เต่า” เธอเคยเล่าว่า เต่าเป็นสัตว์ที่น่าสงสาร เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีตำราเต่า เธอจึงใช้ตำราสัตว์เล็กมาปรับใช้กับความรู้ทั่วไป ทดลองรักษามาเรื่อยๆ จนกลายเป็น “หมอเต่า” ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเต่าอย่างมาก

          ความภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งคือ การตั้งโรงพยาบาลสัตว์น้ำ เมื่อหลายสิบปีก่อน สำนักข่าว CNN มาทำข่าวว่าเป็นโรงพยาบาลสัตว์น้ำแบบเต็มตัวแห่งแรกๆ ของโลก

          แต่ก็มีอุปสรรคอยู่มาก หลังจากนั้นจึงกลายเป็นหน่วยงานอิสระ โดยเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ล้วนได้รับบริจาคจากบริษัทเอกชน

          หากถามว่า หมอหนิ่งรักษาสัตว์น้ำมาแล้วกี่ตัว เธอคงตอบว่า “มากจนจำไม่ได้” แต่หากถามว่า ได้อะไรจากการรักษาสัตว์เหล่านั้น คำตอบคือ เรื่องของความรู้สึกนึกคิดและจิตใจ

          เธอเล่าว่า เคยรักษาปลาวาฬเพชฌฆาตแคระ 2 ตัวที่ป่วยหนักมาก ที่ จ. เพชรบุรี ตัวแรกเจาะเลือดไปแล้ว แต่อีกตัวดิ้นไม่ยอม แต่พอเอาอีกตัวเข้ามาใกล้ๆ มันก็ยอม หรือตอนไปรักษาโลมา มีตัวหนึ่งป่วยอีกตัวหนึ่งพยุงให้ขึ้นมาหายใจ

          และได้เรียนรู้ว่า มนุษย์อาจมีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย แต่สัตว์ไม่คิดฆ่าตัวตาย เขารักชีวิต เช่น เต่าถูกไฟไหม้ หรือขนาดบาดเจ็บอวัยวะข้างในไหลออกมาก็ยังอยากมีชีวิตอยู่ มีหลายๆ ตัวทำให้เกิดความมหัศจรรย์ ฟื้นตัวเองได้

          ส่วนวันนี้ กับการรักษาเจ้าออมสิน แม้จะไม่มีปาฏิหาริย์ แต่ก็ถือเป็นจุดดึงสติคนไทยให้ฉุกคิดเรื่อง “บาปในรอยบุญ”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ