Lifestyle

“หมอกฤษดา” ร้อน-ร้อน 1 ปี ในรังนกพิราบสีส้ม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องร้อนของ ผอ.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ที่สังคมตั้งคำถามถึงการนำงบประมาณไปลงทุนซื้อตราสารหนี้ซีพีเอฟ 

     ตกเป็นข่าวร้อนอีกครั้ง สำหรับ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ผอ.ไทยพีบีเอส กรณี การลงทุนซื้อตราสารหนี้ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ

     และไม่ใช่ครั้งแรกที่ ผอ.กฤษดา ถูกตั้งคำถาม!!

     โดย ผอ.กฤษดานั้น ตกเป็นข่าวใหญ่ตั้งแต่อยู่สมัยทำหน้าที่ “ผู้จัดการ สสส.” แล้ว เรื่องความโปร่งใส “การเบิกใช้งบ” แต่ได้ลาออกก่อนที่จะมีการดำเนินการใดๆ ของบอร์ด สสส. แล้วมาสมัครตำแหน่ง ผอ.ไทยพีบีเอส และได้รับคัดเลือกในเวลาต่อมา โดยเริ่มทำงานมาตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2559

     พอมาทำหน้าที่ “ผอ.ไทยพีบีเอส” ก็ถูกตั้งคำถามอีก กรณี “คุณสมบัติ” ที่ระดับ ผอ.สื่อสาธารณะควรมี      

    “ต้องเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียงกิจการวิทยุโทรทัศน์หรือการสื่อสารมวลชน”

     ผ่านการทำงานมาครบ 1 ปีเต็มก็ยังคงเป็นข่าวอยู่!!

     ย้อนกลับไปเส้นทาง ของ ทพ.กฤษดา ไม่ปรากฏว่าผ่านงานใดๆ ตามที่ระบุ มีเพียง จบปริญญาตรีด้านทันตแพทย์จากจุฬาฯ, ปริญญาโทวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (คอมพิวเตอร์) จุฬาฯ จากนั้นปี 2544 เข้าทำงานเป็น “รองผู้จัดการ สสส.” เป็นเวลา 9 ปี (2544-2553) ระหว่างนั้นทำหน้าที่ “รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง” 1 ปี (2550-2551) ไปด้วย ก่อนก้าวเป็น “ผู้จัดการสสส.” เต็มตัว 5 ปี (2553-2558)

     แต่ทางด้าน ทพ.กฤษดา ได้อธิบายว่า ถึงแม้ไม่เคยทำงานด้านโทรทัศน์มาก่อน แต่มีประสบการณ์ “การออกแบบการสื่อสาร” มานาน ว่าแล้วก็หยิบยกแคมเปญดังๆ ที่เคยทำสมัยเป็นผู้จัดการ สสส.มา เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา, สวดมนต์ข้ามปี, ให้เหล้าเท่ากับแช่ง เป็นต้น จึงมั่นใจในวิธีการเลือกคอนเทนท์และมุมมองการนำเสนอข่าวได้เป็นอย่างดี

     ผลงานดังกล่าวไม่อาจสร้างความไว้วางใจแก่พนักงานไทยพีบีเอสได้ เพราะเพิ่งมีการปลด ผอ.คนเก่าไป คือ สมชัย สุวรรณบรรณ

     อีกทั้งกระบวนการต่างๆ ดูน่าสงสัย นับแต่ 2 พฤษภาคม 2558 ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามแต่งตั้ง รศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เป็นประธาน ส.ส.ท. หรือ ไทยพีบีเอส จากนั้น 9 ตุลาคม ส.ส.ท.มีมติเลิกจ้าง สมชัย สุวรรณบรรณ 16 ตุลาคม ทพ.กฤษฎา ลาออกจากตำแหน่ง ผู้จัดการส.ส.ส. ต่อมา 24 พฤศจิกายน สมัคร ผอ.ไทยพีบีเอสและได้รับเลือกในที่สุด ขณะที่ ส.ส.ส.มีความวุ่นวายเกิดขึ้น 5 มกราคม 2559 เมื่อ พลเอกประยุทธ์ สั่งปลดบอร์ด ส.ส.ส. 7 คน

     “ผมไม่ได้มีคนส่งมานะ...” ทพ.กฤษฎา กล่าวตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งผ่านรายการ “ตอบโจทย์” ไว้เช่นนั้น

     จากกรณีดังกล่าว พนักงานไทยพีบีเอสส่วนหนึ่งจึงรวมตัวกันคัดค้านกระบวนการสรรหา ผอ.และฟ้องต่อศาลปกครองในเดือนเมษายน 2559 จากนั้นเรื่องยืดเยื้อไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2559 ปรากฏว่าศาลปกครองไม่รับฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ เนื่องจากไม่ได้เป็นผู้เสียหายจากกระบวนการสรรหา ทำให้ชื่อของ ทพ.กฤษดา หายไปจากสื่อระยะหนึ่ง

     “ต้องการเปลี่ยนแปลงไทยพีบีเอสให้เป็นมากกว่าสถานีโทรทัศน์ สู่กลไกขับเคลื่อนสังคมอย่างแท้จริง”

     เป็นวิสัยทัศน์ข้อหนึ่งที่ ทพ.กฤษฎา เคยให้ไว้และเป็นที่เล่าขานผ่านสื่อ กระทั่งตกเป็นข่าวร้อนอีกครั้งกับการตัดสินใจลงทุนซื้อตราสารหนี้ซีพีเอฟ 

     “...การบริหารเงินตรงนี้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งเหมือนกับกรณีไปฝากธนาคาร ปกติไทยพีบีเอสไม่ได้เอาเงินตัวเองใส่เซฟไว้ แล้วเอาไปใช้ เราได้นำเงินไปฝากธนาคารของรัฐและเอกชน ครั้งนี้คือการนำเงินไปซื้อตราสารหนี้ ซึ่งได้ดอกเบี้ย...”

     ผอ.กฤษดา กล่าวพร้อมยืนยันเป็นที่เรียบร้อยผ่านข่าว “ไทยพีบีเอส” แล้วว่า การลงทุนซื้อตราสารหนี้ซีพีเอฟ “ไม่ขัดต่อกฏหมาย” และ “เจตนารมย์การทำงานสื่อสาธารณะ” เนื่องจากงบประมาณบริหารองค์กรที่ไทยพีบีเอสได้รับปีละ 2,000 ล้านบาทนั้น ไม่เพียงพอ

    ส่วนเรื่อง “ขัดใจ” มวลชนนั้น ผอ.ไทยพีบีเอส ไม่ได้พูดถึงแต่อย่างใด!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ