ข่าว

การค้าและประวัติศาสตร์บนย่าน "สะพานป่าถ่าน" อยุธยา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"สะพานป่าถ่าน" สะพานโบราณอายุกว่าห้าร้อยปี มีบันทึกในยุคอยุธยา ที่ยังคงเหลือซากอยู่ตรงเกาะกลางถนน ระหว่างแยกวัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ พระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน

  พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ระบุว่า "ศักราช 786 มะโรงศก (พ.ศ.1967) สมเด็จพระอินทราชาทรงประชวรนฤพาน ครั้งนั้นเจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา พระราชกุมารท่านชนช้างด้วยกัน ณ สะพานป่าถ่าน ถึงพิราลัยทั้งสองพระองค์ที่นั่น" และ "ท่านจึงได้ก่อพระเจดีย์สองพระองค์สวมที่เจ้าพระยาอ้ายและเจ้าพระยายี่ชนช้างด้วยกันถึงอนิจภาพ ตำบลป่าถ่านนั้น ในศักราชนั้นท่านสถาปนาวัดราชบูรณะ"

 เอกสารโบราณกล่าวว่า สะพานป่าถ่านเป็นสะพานอิฐสร้างไว้สำหรับข้ามคลองประตูข้าวเปลือก
 คลองประตูข้าวเปลือกเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญในยุคนั้น เพราะผ่านทางด้านหน้าวัดสำคัญสองแห่งคือ วัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ ทั้งในเอกสารอธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา ของพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ยังอ้างว่าที่ปากคลองประตูข้าวเปลือก "มีป้อมก่อรูปพัดสมุดอยู่สองฟากคลอง แปลกกว่าปากคลองอื่นๆ" สะพานป่าถ่านที่สร้างขึ้นสำหรับข้ามคลองประตูข้าวเปลือก จึงยิ่งเป็นสะพานที่สำคัญ และอยู่ในย่านชุมทางคมนาคม

 พระยาโบราณราชธานินทร์ให้คำอธิบายไว้ว่า คำว่า "ป่า" ในสมัยอยุธยาไม่ได้หมายถึงที่ว่างร้างเปลี่ยวอย่างป่าดง ตรงกันข้ามกับตำบล (คือ สถานที่) ที่เรียกว่าป่าในพระนครนั้น กลับเป็นตลาดสะพานที่ประชุมคน หมายความว่าย่านใดมีสินค้าใดเป็นหลักก็เรียกว่า ป่าของสิ่งนั้นๆ

  ย่านป่าถ่านจึงเป็นย่านร้านตลาดที่มี "ถ่าน" เป็นสินค้าหลัก แต่ก็ไม่ได้ขายแค่ถ่าน เพราะหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด บอกไว้อีกว่า "ถนนย่านป่าถ่านมีร้านตลาดของสรรพผลไม้ส้มกล้วยของสวนในและสวนนอกต่างๆ และมีร้านขายของสดเช้าเย็นชื่อตลาดป่าถ่าน" ตลาดป่าถ่านจึงเป็นตลาดใหญ่มีสินค้าขายสารพัด

 เป็นชุมทางย่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นการค้า คมนาคมและการต่อสู้ในราชวงศ์ที่ยังหลงเหลืออีกแห่งหนึ่ง

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ