ข่าว

เมืองหนองบัว “วาปีปทุม”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“วาปี” แปลว่า หนอง, บึง “ปทุม” แปลว่า บัว วาปีปทุม จึงหมายถึง เมืองหนองน้ำที่มีบัวขึ้นอยู่

 ในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานของ หม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเณจร) กล่าวถึงการตั้งเมืองวาปีปทุม ความว่า พ.ศ.2422 พระเจริญราชเดช (ฮึง) เจ้าเมืองมหาสารคามเห็นว่า อาณาเขตเมืองมหาสารคามทางทิศใต้ห่างไกลจากตัวเมือง ควรเลือกชัยภูมิพอจะตั้งบ้านใดบ้านหนึ่งให้เป็นเมืองเพื่อสะดวกแก่การปกครอง พร้อมกับคัดเลือกหาตัวบุคคลเป็นเจ้าเมือง

 แล้วเห็นว่า บ้านนาเลาหรือบ้านหนองนาเลา เป็นบ้านใหญ่มีหลังคาเรือนรวม 300 หลัง มีนายหมวดนายกอง รักษาเขตแขวง พอจะตั้งเป็นเมืองได้ จึงนำความกราบบังคมทูลขอตั้งเมือง รัชกาลที่ 5 จึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง “บ้านนาเลา” ขึ้นเป็น “เมืองวาปีปทุม” เมื่อ จ.ศ.1244 (พ.ศ.2425) ให้ ท้าวสุริยวงศ์ (บุญมี) เป็นพระพิทักษ์นรากร เจ้าเมือง ท้าวมหาพรหม (ย่าง) เป็นอุปฮาช เพียละคร (เกตุ) เป็นราชวงศ์

 ทั้งนี้ “บ้านนาเลา” หมายถึง บริเวณพื้นที่ที่มีต้นเลาขึ้นอยู่มาก ต้นเลาเป็นไม้ล้มลุกชนิดหนึ่งชอบขึ้นตามริมน้ำลักษณะคล้ายต้นอ้อ ต้นแขม ดอกใช้ทำไม้กวาด ยอดและหน่อใช้ทำอาหารได้)

 ต่อมา พ.ศ.2425 เมื่อตั้งท้าวโพธิสาร (อุ่น) เป็นเจ้าเมืองวาปีปทุม แทนพระพิทักษ์นรากร (บุญมี) ที่ถึงแก่กรรม และท้าวมหาพรหม (ย่าง) เป็นอรรคฮาต

 แล้วนั้นจึงได้ย้ายที่ตั้งเมืองจากบ้านนาเลามายังบ้านหนองแสง เพราะมีทำเลเหมาะสมมีห้วยหนอง คือ หนองแสง หนองคู หนองซำแฮด หนองแคน หนองกลางดง และกุดแคน ทั้งยังมีนาเกลือสินเธาว์ จึงพาราษฎรบุกเบิกป่าดงริมหนองซำแฮด ด้านตะวันตกหนองแสงเป็นที่ว่าการเมืองวาปีปทุม

 สภาพแวดล้อมและทรัพยากร เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้งบ้านเมือง เพื่อเอื้อต่อการดำรงชีวิตของราษฎรและพัฒนาท้องถิ่นที่ควรดูแลรักษาฟื้นฟูไม่ว่ายุคสมัยใด

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ