ข่าว

(คลิป) ป.ป.ช. ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตอาหารกลางวัน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นครราชสีมา - คมข่าวทั่วไทย

 

นายมงคล สาริสุต ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปช.ภาค 3 ให้สัมภาษณ์ถึงคดีทุจริตโครงการอาหารกลางวันนักเรียนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา หลังลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ามีอยู่  4 โรงเรียนที่เข้าข่ายการกระทำทุจริตอย่างชัดเจน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อโรงเรียนได้ ขณะนี้ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับพฤติกรรมของโรงเรียนที่เข้าข่ายการทุจริตโครงการอาหารกลางวันนักเรียน ที่ตรวจพบ คือ การซื้อวัตถุดิบไม่ครบ ยกตัวอย่าง 1 วันต้องซื้อวัตถุดิบ จำนวน 1 หมื่นบาท  แต่ซื้อเพียง 5 พันบาท  เงินส่วนต่างที่เหลือ  บางโรงเรียนไม่สามารถชี้แจงได้ และบางโรงเรียนนำเงินส่วนต่างไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ทั้งที่ตามระเบียบหากมีเงินเหลือต้องส่งคืนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

 

 

 

นอกจากนี้ ยังพบโรงเรียนขยายโอกาสบางแห่ง ที่มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ด้วย กลับนำอาหารมาเลี้ยงนักเรียนทั้งหมด รวมถึงครูในโรงเรียนด้วย ทั้งที่โครงการอาหารกลางวันนักเรียน จัดขึ้นสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาเท่านั้น ทำให้ประเภทรายการอาหาร แทนที่จะมีเมนูอาหาร หรือกับข้าว 2 อย่าง แต่นักเรียนได้อาหารเพียง 1 เมนูรวมข้าวเปล่า  เป็นเหตุให้อาหารกลางวันที่มีคุณค่าไม่ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ  ส่งผลกระทบต่อภาวะทุพโภชนาการของเด็กนักเรียน  ทั้งหมดนี้คือพฤติการณ์ที่ ป.ป.ช.ทำการตรวจสอบพบ กระทั่งนำไปสู่การตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนโรงเรียน  4 แห่ง  ที่เข้าข่ายการกระทำทุจริตอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม  สำหรับเรื่องนี้  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้เคยทำหนังสือด่วนที่สุดถึงสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด กำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน  ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ปีที่แล้ว เนื้อหาในหนังสือระบุว่า การทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็กนักเรียน  เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว  ขอให้จังหวัดกำชับไปยัง อปท. ที่มีสถานศึกษาในสังกัด ดังนี้

1.ถือปฏิบัติตามแนวทางการตรวจสอบด้านการเงิน การคลัง การพัสดุ และการบัญชีของสถานศึกษาสังกัด อปท. ตลอดจนแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบบัญชีการเงินของ อปท. อย่างเคร่งครัด

 

 

 

2.เพื่อความโปร่งใส และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ให้ปิดประกาศรายการอาหาร และจำนวน หรือปริมาตรวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ประกอบอาหารในแต่ละวัน ให้ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนทราบ โดยพิจารณาปิดประกาศเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน ตามความเหมาะสม

3.ขอให้ผู้บริหารท้องถิ่น หมั่นตรวจติดตามการจัดซื้อจัดจ้างอาหารกลางวันของสถานศึกษาในสังกัดให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยการแต่งตั้งคณะทำงานสุ่มตรวจ หรือผู้บริหารท้องถิ่นลงพื้นที่สุ่มตรวจด้วยตนเอง เป็นระยะและ 

4.แต่งตั้งกรรมการตรวจรับพัสดุ ให้มีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนบุคลากรมาทำหน้าที่ เว้นแต่มีข้อจำกัดด้านบุคลากรในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

 

 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ