ข่าว

"ห่วง"อีสานใต้ป่วยซึมเศร้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รพ.จิตเวชโคราช ห่วง 4 จังหวัดอีสานใต้ ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 1 แสนคน ชี้ดื่มชาและกาแฟบ่อย มีผลกระตุ้นอาการกำเริบได้ พร้อมแนะนำอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

 

18 มิถุนายน  2562 นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า ระยะนี้มีความเป็นห่วงผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ซึ่งทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 1.4 ล้านคน 

 

เฉพาะที่ 4 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 9 ซึ่งอยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯ ประกอบด้วยนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ ยอดรวมจากเดือนมกราคม 2552 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2562 จำนวน 100,976 คน เข้าถึงบริการแล้วร้อยละ 66 จึงขอให้ผู้ที่มีอาการซึมเศร้าที่ยังไม่เข้ารักษาตัวซึ่งมีประมาณร้อยละ 30-40 อย่าอายหมอ ขอให้รีบไปรักษาที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านทุกแห่ง จะได้หายจากความทุกข์ทรมา

 

"นอกจากนี้ยังได้ให้ฝ่ายเชี่ยวชาญของโรงพยาบาลจิตเวชฯ วิเคราะห์ประเภทอาหารที่เป็นผลดีและเป็นผลเสียต่อโรคซึมเศร้าและยาที่ใช้รักษา เนื่องจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่จะฟื้นฟูอยู่ที่บ้าน และขณะนี้มีการโฆษณาอาหารต่างๆ ผ่านทางสื่อจำนวนมาก อาหารบางอย่างอาจมีสารที่มีผลขัดขวางกับฤทธิ์ยารักษาโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งโรงพยาบาลจิตเวชฯให้ความสำคัญเรื่องนี้มากเพื่อไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนใดๆ ซ้ำเติมผู้ป่วยอีก" นายแพทย์กิตต์กวี  กล่าว

 

 

นางจิรัฐิติกาล ดวงสา นักโภชนาการและหัวหน้ากลุ่มงานโภชนาการประจำ โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า อาหารที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าควรรับประทานเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพยารักษาของแพทย์ยิ่งขึ้น มี 5 กลุ่มและเครื่องดื่มอีก 2 ชนิด โดยอาหาร 5 กลุ่มประกอบด้วย 1.กลุ่มอาหารที่มีกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ คือโอเมก้า 3 ได้แก่ เนื้อปลาต่างๆ อาทิ ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน ทูน่า ปลาช่อน ปลาดุก ปลาสวายเนื้อขาว เป็นต้น

 

 "ห่วง"อีสานใต้ป่วยซึมเศร้า

 

2.ไข่ ซึ่งมีกรดอะมิโนที่สำคัญ โดยเฉพาะทริปโตเฟน (Tryptophan) และไทโรซีน (Tyrosine) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระโดยสารทริปโตเฟนจะช่วยสร้างสารซีโรโทนิน (Serotonin) ทำให้อารมณ์ดีและยังเปลี่ยนให้เป็นเมลาโทนิน (Melatonin) ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น 3.กลุ่มกล้วย จะมีแร่ธาตุโพแทสเซียมและมีสารทริปโตเฟน ช่วยบรรเทาให้ความดันโลหิตกลับสู่ภาวะสงบ ลดการเกิดภาวะเครียดและวิตกกังวล

 

4.กลุ่มคาร์โบไฮเดรทเชิงซ้อน อาทิ ข้าวกล้อง ลูกเดือย ข้าวโพด ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น จะช่วยสร้างสารซีโรโทนินในสมอง ช่วยให้ผ่อนคลายและ 5. กลุ่มเห็ดทุกชนิด จะมีธาตุเซเลเนียม(Celenium)สูง ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนแห่งความสุขลดอารมณ์ขุ่นมัวได้ 

             

ส่วนเครื่องดื่ม 2 ชนิดที่เป็นผลดีกับอารมณ์เป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ได้แก่ 1.น้ำอัญชันในดอกอัญชันจะมีสารแอนโทไซยานิน มีฤทธิ์กระตุ้นความจำ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ลดความกังวลและช่วยให้นอนหลับ และ 2.น้ำลำไยซึ่งมีสาร 2 ชนิดคือกรดแกลลิก (Gallicacid) ทำให้อารมณ์ดี ผ่อนคลาย และสารกาบาช่วยผ่อนคลายความเครียด และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

 

 "ห่วง"อีสานใต้ป่วยซึมเศร้า

 

สำหรับกลุ่มอาหารที่ผู้ป่วยซึมเศร้าห้ามรับประทาน เนื่องจากจะซ้ำเติมอาการป่วยหรือขัดขวางการดูดซึมยาที่รักษามี 2 ประเภท และเครื่องดื่มอีก 3 ชนิด โดยประเภทอาหารได้แก่ 1.อาหารที่มีน้ำตาลสูง หวานจัด เนื่องจากอาหารที่มีน้ำตาลสูงร่างกายจะดูดซึมได้เร็วกว่าปกติ ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอย่างรวดเร็วทำให้ร่างกายเกิดภาวะเครียด หากเผชิญเป็นประจำอาจจะนำมาสู่อาการหดหู่ซึมเศร้า

 

2.อาหารประเภทไส้กรอก และถั่วปากอ้า ซึ่งมีสารไทรามีนสูง สามารถทำปฏิกิริยากับยารักษาโรคซึมเศร้าบางชนิด เช่น ยาเซเลจิลีน(Selegiline) จะส่งผลให้มีสภาวะความดันโลหิตสูงได้  เครื่องดื่ม 3 ชนิด ที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ควรดื่มเป็นอย่างยิ่ง คือ 1.ชา-กาแฟ เนื่องจากมีปริมาณคาเฟอีนสูง ทำให้นอนไม่หลับกระสับกระส่าย หากดื่มเกินกว่า 2 แก้วต่อวัน จะทำให้ปริมาณคาเฟอีนในร่างกายสูงทำให้วิตกกังวล ใจสั่นและเครียดเพิ่มขึ้น 2.น้ำอัดลมโดยเฉพาะน้ำอัดลมประเภทสีดำ เนื่องจากมีทั้งปริมาณคาเฟอีน น้ำตาลสูง  และไดเอต

 

"มีงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาด้านประสาทวิทยาในต่างประเทศพบว่า กลุ่มผู้บริโภคเครื่องดื่มที่มีสารให้ความหวานแทนน้ำตาล 4 กระป๋อง หรือ 4 แก้วต่อวัน จะมีความเสี่ยงเกิดโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนปกติ 3 เท่า ผู้ป่วยซึมเศร้าจึงควรเลี่ยงดื่มจะดีที่สุด และ 3.น้ำผลไม้บางชนิดเช่น น้ำในตระกูลส้ม เสาวรส น้ำองุ่นหรือเกรฟฟรุต เป็นต้น อาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษา ทำให้ตัวยาไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการรักษาเท่าที่ควร" นางจิรัฐิติกาลฯ กล่าว

 

 


 
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ