ข่าว

"เห็ดฟางกองเตี้ย" ลงทุนน้อยประหยัดเนื้อที่รายได้งาม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คลิปข่าวโดย...บุญพิมพ์ ใบยา

 

               26 กันยายน 2561  บริเวณที่ดินว่างเปล่า พื้นที่ 55 ตารางวา กลุ่มเกษตรกร หมู่ 1 บ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่างช่วยกันคนละไม้ละมือ หลังว่างจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี เพื่อรวมกลุ่มสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยให้กับครอบครัว ชุมชน นำภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมมาปรับ “การเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย” ประสบผลสำเร็จ สร้างรายได้งาม พ่อค้าแม่ค้าแห่จองคิวรับซื้อผลผลิต

 

 

 

               นายอริยะ นพเทศน์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านหาดสองแคว กล่าวว่า หลังกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนงบประมาณจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ตามโครงการสร้างรายได้ให้เกษตรกรรายย่อย ตำบลละ 300,000 บาท ชาวนาตำบลหาดสองแคว 7 หมู่บ้าน จึงรวมกลุ่มเสนอโครงการ เฉลี่ยหมู่บ้านละ 60,000 บาท โดยชาวนาหมู่ 1 เห็นว่า หลังเก็บเกี่ยวข้าวในแปลงนา มีฟางข้าวเป็นจำนวนมาก จึงนำมาเป็นวัตถุดิบในการเพาะเห็ดฟาง โดยไม่ต้องเผาตอซังข้าวให้เกิดมลพิษและทำลายดินให้เสื่อมสภาพ ซึ่งเป็นการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย ตามภูมิปัญญา ที่ประหยัด เน้นวัสดุในท้องถิ่น และดูแลง่าย ส่วนความต้องการของตลาด มีสูงตลอดทั้งปี

               สำหรับการเพาะเห็ดฟางกองเตี้ย ง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก นำฟางข้าวมาแช่น้ำประมาณ 2 คืน เพื่อให้เกิดการอุ้มน้ำ จากนั้นทำแบบกองฟาง ขนาด 45 X 120 เซนติเมตร หรือตามขนาดของแปลงที่ยกร่องขึ้นมา แล้วนำฟางข้าวใส่อัดให้แน่น สูงประมาณ 5 นิ้ว ใส่เชื้อเห็ดฟาง เศษขี้ฝ้าย หรือนุ่น มีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดี และมูลวัวตากแห้ง เป็นอาหารของเชื้อเห็ดฟาง โดยจะโรยตามขอบ ทำจำนวน 4 ชั้น นำเชื้อเห็ดฟางกองเตี้ยที่ได้ วางบนปลูกที่ขึ้นร่องไว้ คล้ายแปลงปลูกผักทั่วๆ ไป

               ความยาวของแปลงแล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งกลุ่มมีเนื้อที่จำกัด 55 ตารางวา จึงทำแปลงยาว 15 เมตร จำนวน 8 แปลงๆ ละ 10 กอง ใช้ไม้ไผ่ทำเป็นซี่ปักลงดิน คลุมด้วยพลาสติกใสคล้ายโดมขนาดเล็ก และใช้ฟางข้าวคลุมอีกชั้นเพื่อกันแสงแดด และพลาสติกใสจะกันไม่ให้ความชื้นในกองเห็ดระเหย จากนั้น 10 วัน เห็ดฟางกองเตี้ยก็จะให้ผลผลิต

 

 

 

               นายอริยะ กล่าวว่า เพาะเห็ดฟางกองเตี้ย ต้นทุนต่ำ ไม่ต้องสร้างโรงเรือน ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่เยอะ และเป็นการเพาะเห็ดแบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษ เพียงแต่มาปรับให้เข้ากับพื้นที่ ผลผลิตที่เก็บได้เฉลี่ยแปลงละ 3 กิโลกรัม หรือวันละ 20 กิโลกรัม แบ่งให้สมาชิกรับประทานในครัวเรือน เป็นอาหารปลอดภัย ทั้งๆ ที่เห็ดฟางเป็นเห็ดเศรษฐกิจ ราคาแพง หากชาวบ้านรวมกลุ่มเพาะสามารถลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เหลือจึงนำขายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท เพื่อนำเงินมาต่อยอด และขยายพื้นที่เพาะเห็ด เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้าตลาดนัดต้องจองคิวรับซื้อ ผลผลิตมีไม่เพียงพอ ยอดจองมากกว่าวันละ 50 กิโลกรัม เฉพาะตำบลหาดสองแคว

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ