ข่าว

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชี้ กัญชาเพื่อการแพทย์ประโยชน์ผู้ป่วย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คลิปภาพข่าวโดย...มานิตย์ สนับบุญ

 

               26 ก.ย. 61  ผู้สื่อข่าว จ.ปราจีนบุรี รายงานว่า หลังคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. .... และร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด การพิจารณาเนื้อหาการถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภท 5 เพื่อใช้ทางการแพทย์เท่านั้น โดยล่าสุดเตรียมล่ารายชื่อเสนอร่างกฎหมายตามเนื้อหาให้เสร็จในสัปดาห์นี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยอีกจำนวนมาก

 

 

 

               ภญ.ดร.สุภาพร ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้บุกเบิกและพัฒนาวงการสมุนไพรไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า “เป็นสิ่งที่โชคดีที่ตอนนี้ประเทศไทยกำลังมีความพยายามที่จะถอดกัญชาออกจากยาเสพติด ซึ่งเรื่องของกัญชาเป็นเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ แต่ก็ไม่น่าทันเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสพติด แต่ก็มีความพยายามของ สนช. กลุ่มหนึ่ง ซึ่งขอบคุณอย่างมากที่จะเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมายเล็กๆ เป็น พ.ร.บ.กัญชา โดยเฉพาะกัญชาเพื่อการแพทย์ เป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมรอคอย

               ตนเองในฐานะคนที่ทำงานด้านสมุนไพร ก็รอเสมอว่าเมื่อไรที่ประเทศไทยจะมียาดีๆ เราผลิตสารเคมีแต่ไม่มีโรงงานผลิตสารเคมี แต่เรามีพืชที่ผลิตสารเคมีเก่งๆ เสมือนโรงงานที่มีประสิทธิภาพ ถ้าเราใช้อย่างเหมาะสม เราจะประหยัดค่ายาไปมากมายมหาศาล ซึ่งก็เป็นความหวังว่า ถ้าเกิดว่า พ.ร.บ.กัญชา ออกมา ก็จะทำให้ประเทศไทยสามารถจะมียาจากสมุนไพร มีสารเคมีที่ปลูกในบ้านเรา

               บ้านเราเองมีสายพันธุ์กัญชา มีแสงแดดที่เพียงพอ ต้นทุนการผลิตจะถูกกว่า ฮอลันดา , อเมริกา ที่ปัจจุบันเขามีการวิจัยพัฒนายาต้านมะเร็งจากกัญชา แต่ว่าบ้านเรายังไม่ได้เริ่มต้น ทั้งที่ กัญชา เป็นชื่อที่ตระกูลไทเรียกเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นไทย ในรัฐอัสสัม , ไทยใหญ่ , ไทยพาเจในอินเดีย ซึ่งเหล่านี้ก็เรียก กัญชา ว่า “กัญชา”

 

 

 

               แสดงว่ากัญชาคู่เผ่าพันธุ์ไทยมานาน เรารู้จักใช้ว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ อย่างมาใส่หม้อต้มแกง ก็ทำให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้น และไม่เป็นพิษอะไร เพราะสารในกัญชาละลายในน้ำมัน ละลายน้ำได้ปริมาณเล็กน้อย ไม่มีผลอะไร

               และเรื่องการนำกัญชามาเป็นยา ในตำรับยามีมากมาย อย่างน้อยยานอนหลับ การนอนหลับก็เป็นปัญหาของคนในสังคมปัจจุบัน กัญชา สมอเทศ รากชะพลู เป็นส่วนผสมที่คนสมัยก่อนเอามาต้มกินเป็นยานอนหลับ

               ประโยชน์ของกัญชามีตั้งแต่ ยาต้านมะเร็ง , ยาแก้ปวด , ต้านอาเจียน , ทำให้หลับสบาย ช่วยการทำงานของระบบทางเดินอาหาร เป็นประโยชน์ของกัญชา รวมถึงการติดเชื้อที่ทำให้เกิดท้องเสียด้วย

               เพราะฉะนั้น การที่จะมี พ.ร.บ.กัญชา เพื่อพัฒนาเป็นยาทางการแพทย์ ที่มีความพยายามจะผลักดันให้ทันสภาฯ ในชุดนี้ เราเองขอให้กำลังใจ และฝากความหวังไว้ เพราะว่ากัญชาคือ อิสรภาพทางยาในระดับหนึ่งทีเดียว เพราะว่ายาต้านมะเร็งที่ติดสิทธิบัตรแพงมาก เป็นหมื่นๆ ล้านบาท ถ้าเกิดเราสามารถจะพัฒนายาจากกัญชาได้ เราก็หวังว่าจะช่วยประเทศชาติได้อย่างมหาศาล จะทำให้มียาเกิดขึ้นในประเทศ รวมถึงยาในตำรับสมุนไพรแผนไทยด้วย หวังว่าอีกไม่นานเราจะมีกัญชาใช้ทางการแพทย์” ภญ.ดร.สุภาพร กล่าว

               ภญ.ดร.สุภาพร กล่าวต่อไปว่า “ที่ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร เราได้มีการศึกษาค้นคว้าว่าคนสมัยก่อนใช้ประโยชน์จากกัญชาอะไรบ้าง และปัจจุบันมีการใช้กัญชาอย่างไรบ้าง ทั้งในระดับการเป็นอาหาร เช่น ในช็อกโกแลต เพื่อผ่านการผ่อนคลาย รวมไปถึงพัฒนาศึกษาขึ้นเป็นยา เราก็ติดตามความก้าวหน้าในต่างประเทศ ซึ่งก็จะเห็นว่าในแคนาดาที่มีแต่หิมะ เขาก็สามารถควบคุมปัจจัยการผลิต การผลิตกัญชาให้มีอัลคาลอยในสิ่งที่ตนเองต้องการได้ มีการศึกษาวิจัยพัฒนาตั้งแต่ศึกษาพันธุ์ วิธีการปลูก เกิดสาระสำคัญ สกัดสาร ปริมาณที่ใช้ การใช้ในโรคต่างๆ รวมไปถึงการปรับปรุงโครงสร้างของสารในกัญชาเพื่อลดอาการข้างเคียง

 

 

 

               เราต้องตามเขาว่าเขาทำอะไรบ้าง จึงเห็นได้ว่าเราหาวิธีใช้ประโยชน์ต่อยอดใช้งานวิจัยร่วมกันได้ หวังว่าสักวันหนึ่งเราจะเป็นส่วนหนึ่ง เป็นผู้กอบกู้การใช้ประโยชน์จากกัญชากลับมา”

               ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติม ในทางการแพทย์ กัญชา มีประโยชน์ในการรักษาโรคและบรรเทาอาการได้หลากหลาย แก้อาการไอ อ่อนล้า โรคข้อ กัญชาใช้บรรเทาหอบหืด เพราะขยายหลอดลมและลดการหดตัวของหลอดลม แก้อาการสั่นเพ้อ ปวดหัวไมเกรน และปวดประจำเดือน แม้การใช้จะลดลงเมื่อมีการสังเคราะห์ยากล่อมประสาท และยาแก้ปวดอื่น หรือกระทั่งโรคมะเร็ง กัญชาก็ยังถูกนำมาใช้เพื่อรักษาผลข้างเคียง ป้องกันการคลื่นไส้อาเจียนจากการทำเคมีบำบัด ใช้เป็นสารกระตุ้นความอยากอาหาร กัญชาจะช่วยชะลอน้ำหนักลดในโรคมะเร็ง และโรคเอดส์ หรือการใช้รักษาโรคต้อหิน นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสรรพคุณพืชกัญชา

               กัญชา จัดเป็นพืชล้มลุกประเภทหญ้า ขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ลำต้นสูงประมาณ 2 - 4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5 - 8 แฉก คล้ายใบมันสำปะหลัง ที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่คนนำมาเสพได้แก่ส่วนของกิ่ง ก้าน ใบ และยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้ง แล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบๆ

 

 

 

               จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบ และขณะจุดสูบจะมีกลิ่นเหมือนหญ้าแห้งไหม้ไฟ หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยวหรือผสมลงในอาหารรับประทาน ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบ นอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้ว ยังอาจพบในรูปของ "น้ำมันกัญชา" (Hashish Oil) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลายๆ ครั้ง จึงได้เป็นนำมันกัญชาที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงถึง 20 - 60 % หรืออาจพบในลักษณะของ "ยางกัญชา" (Hashish) เป็นยางแห้งที่ได้จากใบ และยอดช่อดอกกัญชา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีฤทธิ์แรงกว่ากัญชาสด และมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประมาณ 4 - 8 %

               สารออกฤทธิ์ที่อยู่ในกัญชามีหลายชนิด แต่สารที่สำคัญที่สุดที่มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกาย อารมณ์ และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol) หรือ THC ที่มีอยู่มากในส่วนของยอดช่อดอกกัญชา สาร THC นี้ในเบื้องต้นจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพตื่นเต้น ช่างพูด และหัวเราะตลอดเวลา ต่อมาจะกดประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้าอย่างอ่อนๆ เซื่องซึม และง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากๆ จะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้

 

 

 

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชี้ กัญชาเพื่อการแพทย์ประโยชน์ผู้ป่วย

 

 

 

รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ชี้ กัญชาเพื่อการแพทย์ประโยชน์ผู้ป่วย

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ