ข่าว

เร่งเกี่ยวข้าวพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำโมเดล 61

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เกษตรกรเร่งเกี่ยวข้าวพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำโมเดล 61 คาดปีนี้รองรับน้ำหลากได้ 550 ล้าน ลบ.ม.

 

               1 ส.ค. 61  ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำโมเดล 2561 พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปีของจังหวัดพิษณุโลก และสุโขทัย ในปีนี้ค่อนข้างโชคดี ยังไม่ประสบปัญหาน้ำหลากท่วมตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่นาข้าว ในเขต 2 จังหวัด ด้วยปริมาณน้ำฝนและน้ำเหนือที่บ่าลงมาสู่แม่น้ำยมมีปริมาณไม่มากเหมือนปีที่ผ่านมา

 

 

 

               ขณะนี้ สภาพพื้นที่อยู่ระหว่างดำเนินการเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรได้เร่งว่าจ้างรถเกี่ยวข้าวลงพื้นที่เต็มท้องทุ่งไปหมด ทั้งในเขตตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอบางระกำ อำเภอพรหมพิราม รถเกี่ยวข้าวเร่งเกี่ยวข้าวให้เกษตรกรนำไปจำหน่ายกับโรงสี ปัจจุบันเก็บเกี่ยวไปแล้วประมาณ 30% คาดว่ากลางเดือนสิงหาคมนี้ จะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เกิน 50% และหากไม่มีฝนตกหนักในเขตจังหวัดแพร่ สุโขทัย และพิษณุโลก พื้นที่นาข้าวในเขตลุ่มต่ำนี้จะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในปีนี้

               นายชำนาญ ชูเที่ยง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน เปิดเผยว่า พื้นที่ดำเนินการโครงการบางระกำโมเดล ปื 2561 จำนวน 382,000 ไร่ ใน อำเภอพรหมพิราม อำเภอเมือง อำเภอบางระกำ อำเภอวัดโบสถ์ (บางส่วน) และอำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ข้อมูล ณ 24 ก.ค. 61 เก็บเกี่ยวแล้ว 120,579 ไร่ (31.55%) อยูระหว่างเก็บเกี่ยว คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อน 15 ส.ค. จำนวน 210,693 ไร่ (55.15%) และเก็บเกี่ยวหลัง 15 ส.ค. จำนวน 50,908 ไร่ (13.30%) แต่ไม่มีผลกระทบ เพราะเป็นพื้นที่ดอนที่อยู่พื้นที่ตอนบนในเขต อ.กงไกรลาศ ส่วนใหญ่ และ อ.พรหมพิราม

               ดังนั้น โดยสรุป หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตหมดแล้วเดือนสิงหาคม 2561 คาดว่า พื้นที่ลุ่มต่ำที่จะใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำหลาก 382,000 ไร่ (เฉพาะพื้นที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำยมในเขตชลประทาน) จะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ ภายใน 15 ส.ค. ตามแผน และจะสามารถรองรับปริมาณน้ำหลากและชะลอการระบายน้ำได้สูงสุด 550 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ ปริมาณน้ำจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำจากลุ่มน้ำยมตอนบนของจังหวัดสุโขทัย และแพร่ และสถานการณ์น้ำในช่วงวิกฤติของแม่น้ำยมในแต่ละช่วง

 

 

 

               ปัจจุบัน การบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากเกษตรกรอยู่ระหว่างเก็บเกี่ยวและรอเก็บเกี่ยว จึงไม่มีการใช้น้ำทางโครงการฯ ยมน่าน จึงบริหารจัดการโดยพร่องน้ำในคลองเมม เพื่อรองรับปริมาณน้ำหลาก และปริมาณฝนตกชุกในพื้นที่ เพื่อไม่ไห้กระทบกับพื้นที่เกษตรที่รอเก็บเกี่ยวผลผลิต

               นายศิริ เพ็งจันทร์ 64 ปี ชาวนาหมู่ 12 ตำบลบ้านกร่าง อำเภอเมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่า ปีนี้ฝนตกไม่มาก ในพื้นที่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย ข้าวถึงเวลาเก็บเกี่ยวพอดี แต่ในพื้นที่ก็ต้องเร่งจ้างรถมาเกี่ยวข้าว เพราะเกรงว่าหากฝนตกจะประสบปัญหาความชื้นสูง ข้าวที่เกี่ยวและนำไปขายท่าข้าว โรงสี จะได้ราคาต่ำ ปัจจุบันสามารถขายข้าวได้ในราคาตันละ 6,000 - 6,200 บาท แต่อาจประสบปัญหาหากฝนตกข้าวมีความชื้นสูง จะขายได้ในราคาประมาณตันละ 5,800 บาท

               สำหรับปริมาณน้ำในคลองเมม หรือ แม่น้ำยมสายเก่า ช่วงไหลผ่านอำเภอพรหมพิราม อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอบางระกำ อยู่ในเกณฑ์ระดับพึงพอใจ ระดับน้ำปานกลางค่อนข้างต่ำ ไม่มีผลกระทบน้ำล้นตลิ่งเข้ามาท่วมพื้นที่นาข้าวเหมือนช่วงเวลาเดียวกันปี 2560 ชลประทานได้เร่งพร่องน้ำจากคลองเมมออกสู่แม่น้ำยม เพื่อบรรเทาผลกระทบ หากมีฝนตกชุกหนาแน่นในเขตจังหวัดแพร่ สุโขทัย และพิษณุโลก

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ