ข่าว

ในหลวง ทรงขอบใจ ช่วยทีมหมูป่า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ในหลวงทรงขอบใจทุกคน ทุกฝ่ายที่ร่วมปฏิบัติการช่วยเหลือ 13 ชีวิตสมาชิกทีมหมูป่าสำเร็จ ด้านโค้ชเอก - 2 นักเตะจ่อได้สัญชาติไทย มท.ชี้คุณสมบัติเข้าข่าย

          เมื่อเวลา 19.19 น. วันที่ 13 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกรายการรวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย อัญเชิญข้อความพระราชกระแสรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถึงการปฏิบัติงานช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 ชีวิต ความว่า น่าชื่นชมยินดียิ่งนัก ที่ปฏิบัติการช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมีออกจากถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561
          เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นเรื่องสุดวิสัย และไม่มีผู้ใดคาดคิด ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือจึงต้องกระทำอย่างปัจจุบันและเร่งด่วน แต่ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างดีเยี่ยม และทุกภาคส่วนก็ระดมสรรพกำลังกันมาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ต่างยอมเสียสละกำลังกาย กำลังปัญญา กำลังทรัพย์ และยอมสละแม้ชีวิตของตน ส่วนผู้ประสบภัยเองนั้น ต่างก็ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุ ประกอบกันการที่ประชาชนทั่วโลกก็ส่งกำลังใจมายังผู้ประสบภัยและผู้ปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างท่วมท้น จึงกล่าวได้ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้แม้จะมีความยากลำบาก แต่ก็มีสิ่งที่ดีและมีคุณค่าบังเกิดขึ้นอย่างไม่อาจประมาณได้

          ข้าพเจ้าขอขอบใจทุกคนทุกฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจที่จะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า การบริหารจัดการที่ดี การใช้ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญ ให้พอเหมาะพอดีกับสถานการณ์ การปฏิบัติตนและปฏิบัติการอย่างรอบคอบ มีวินัย มีสติ ตลอดจนการรู้หน้าที่ของตน และปฏิบัติหน้าที่ให้ประสานส่งเสริมกับทุกคนทุกฝ่ายโดยเต็มกำลังเป็นเครื่องมืออย่างสำคัญ ที่จะสามารถนำไปใช้แก้ไขอุปสรรคปัญหา รวมทั้งพัฒนาบ้านเมืองของเราได้ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยความรักความปรารถนาดีต่อกันนั้น เป็นพลังยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้มวลมนุษยชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุกยั่งยืนตลอดไป

ในหลวง ทรงขอบใจ ช่วยทีมหมูป่า

 

 

3 หมูป่าลุ้นได้สัญชาติ

          จากกรณีสมาชิกทีมหมูป่า 13 ราย ได้รับการช่วยเหลือให้ออกมาจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ก่อนถูกส่งเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ล่าสุด ทั้งหมดอาการดีขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกันพบว่า นายเอกพล จันทะวงษ์ หรือโค้ชเอก อายุ 25 ปี นายพรชัย คำหลวง อายุ 16 ปี เด็กชายอดุลย์ สามออน อายุ 14 ปี และเด็กชายมงคล บุญเปี่ยม อายุ 13 ปี นอกจากนี้ยังมีสมาชิกหมูป่าอีกหลายคนอยู่ในสถานะบุคคลไร้สัญชาติ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งอยู่ระหว่างการขอสัญชาติไทย

ในหลวง ทรงขอบใจ ช่วยทีมหมูป่า แฟ้มภาพ
 

          ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต อธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการพิจารณาสัญชาติไทยให้เยาวชนทีมหมูป่า 3 คนที่ไม่มีสัญชาติไทยว่า ขณะนี้ทาง อ.แม่สาย จ.เชียงราย กำลังตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ โดยในส่วนของโค้ชเอกมีช่องทางอยู่ 2 แนวทางคือ การยื่นขอตามมาตรา 23 และมาตรา 7 ทวิ แม้ว่าโค้ชเอกจะไม่ได้มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคเพราะในกรณีของมาตรา 23 ต้องไปดูหลักฐานการเกิด ทราบว่าโค้ชเอกเกิดที่ อ.แม่สาย ส่วนหลักฐานอื่นๆ ต้องตรวจสอบทั้งของของบิดามารดา รวมถึงเอกสารการเกิดของทั้ง 3 คนว่าเกิดในประเทศไทยหรือไม่ และจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าบิดาของโค้ชเอกเป็นชนกลุ่มน้อยไทยลื้อ แต่จะเกิดในประเทศไทยหรือไม่นั้นต้องย้อนไปตรวจสอบทะเบียนประวัติการเกิดของบิดาโค้ชเอกว่าเกิดในประเทศไทยหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบพยานบุคคล แวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ว่าอยู่ในเงื่อนไขหรือไม่

ชี้มีโอกาสได้รับสัญชาติไทย

          “ผมเชื่อว่าหลังจากที่ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงและกลับบ้านได้แล้ว ผู้ปกครองของหมูป่าทั้ง 3 คน ก็จะมาดำเนินการยื่นหลักฐานต่างๆ ยืนยันว่า การพิจารณาการให้สัญชาติของโค้ชเอกและเยาวชนหมูป่าอีก 2 คน ไม่ได้ดำเนินการหลังจากเกิดกรณีติดถ้ำหลวง แต่ครอบครัวได้ยื่นขอสัญชาติไทยมาก่อนหน้านั้นนานแล้ว เพียงแต่ช่วงนี้เป็นจังหวะที่ได้นำเอกสารมาตราจสอบพิจารณาอีกครั้ง จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งหมดเบื้องต้น คาดว่าโค้ชเอกและหมูป่าอีก 2 คน มีโอกาสจะได้รับสัญชาติไทย” อธิบดี ปค. กล่าว

          ร.ต.ท.อาทิตย์ กล่าวว่า คุณสมบัติหลายอย่างเข้าข่ายระเบียบการขอสัญชาติของกระทรวงมหาดไทยทั้งหมด แต่ถึงอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายอำเภอแม่สาย เพราะรมว.มหาดไทย มอบอำนาจให้ นายอำเภอไปแล้ว ตามระเบียบของกระทรวงหากโค้ชเอกได้สัญชาติไทย ก็จะได้ถือบัตรประชาชนที่มีเลขนำหน้าเป็นเลข 7 เพราะระบบทะเบียนราษฎร์ได้จำแนกรหัสเลขบัตรประจำตัวประชาชนไว้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อบิดาที่เป็นชนกลุ่มน้อยที่ได้รับสัญชาติไทย มีบัตรประชาชนนำหน้าเลขเป็นเลข 6 ลูกที่เกิดมา ก็จะต้องถือบัตรประชาชนเลข 7 ซึ่งทั้งหมดเป็นรหัสจำแนกกลุ่มที่ได้รับสัญชาติไทย

          ทั้งนี้ยืนยันว่ากรณีนี้ไม่ใช่กรณีพิเศษถือเป็นกรณีปกติหลายจังหวัดหลายพื้นที่ก็พิจารณาให้สัญชาติไทย ซึ่งดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 ธันวาคม 2559

          ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายรัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุการพิจารณาให้สัญชาติผู้ช่วยโค้ชและนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอะคาเดมี่ที่ยังไม่มีสัญชาติไทย ต้องเป็นไปตามระเบียบ ซึ่งการดำเนินการต้องเท่าเทียมกันทั้งหมด

“โค้ชเอก” ยื่นขอสัญชาติก่อนติดถ้ำ

          นายสมศักดิ์ คณาคำ นายอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยว่า ก่อนที่นายเอกพล จันทะวงษ์ หรือโค้ชเอก และสมาชิกทีมหมูป่าอีก 3 คนกับเพื่อนๆ จะเข้าไปติดในถ้ำหลวง ได้ยื่นเรื่องขอสัญชาติไทยไว้แล้ว ซึ่งขั้นตอนอยู่ระหว่างตรวจสอบหาหลักฐานการเกิด สอบบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อยื่นเรื่องขออนุมัติสถานะต่อนายอำเภอ หากอายุต่ำกว่า 18 ปี นายอำเภอสามารถอนุมัติให้สัญชาติได้ แต่หากเกิน 18 ปี อย่างโค้ชเอก เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการรับรอง


ในหลวง ทรงขอบใจ ช่วยทีมหมูป่า
 

          ล่าสุดตรวจเช็กทุกคนที่กล่าวมาหลักฐานยังไม่ครบ ยังต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเขาเป็นใคร เกิดที่ไหน และต้องเป็นเจ้าตัว และพ่อแม่เท่านั้น ที่เข้ามาเขียนคำร้อง ยื่นเอกสารหลักฐาน พื้นที่ของอำเภอแม่สายเป็นอำเภอชายแดนโดยหลักแล้วก็จะมีการสู้รบกับประเทศเพื่อนบ้าน มีความยากจน คนต้องการหางานทำ การอพยพของผู้คนเข้ามาจึงเป็นเรื่องธรรมดา มี 3 หมื่นคนที่รอสถานะสัญชาติ บางคนเป็นคนไร้รากเง้า ไม่ปรากฏหลักฐาน สถานะใดใด

          ขณะนี้มีผู้ยื่นขอสัญชาติไทย 20,000-30,000 คน บางคนยื่นเรื่องมา 5-10 ปี แต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย เพราะเจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบรายละเอียดอย่างรอบคอบ รัดกุม และทัดเทียม ตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง

หลักเกณฑ์เบื้องต้นขอสัญชาติ

          นายวิทัศน์ เตชะบุญ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การขอสัญชาติเบื้องต้น ต้องเป็นบุคคลที่เกิดและอาศัยในไทยไม่ต่ำกว่า 10 ปี พ่อแม่ผู้ปกครอง หรือผู้ปกครองในสถานสงเคราะห์ ต้องเป็นผู้ขอสัญชาติและสถานสงเคราะห์ต้องขึ้นทะเบียนกับกรมกิจการเด็กและเยาวชน ซึ่งน้องๆ ทีมหมูป่าที่ไร้สัญชาติ ทราบว่ามีอายุ 13, 14 และ 16 ปี พ่อแม่เป็นชนกลุ่มน้อยชาวไทยใหญ่อาศัยอยู่ที่แม่สาย ซึ่งการตรวจสอบหากพบว่ามีเลขบัตร 13 หลักที่ขึ้นต้นด้วยเลข 0 ถือว่าอยู่ในกระบวนการที่ขึ้นทะเบียนไว้ ถ้าพยานหลักฐานครบถ้วนจะดำเนินการได้ภายใน 6 เดือน

มอบเสื้อสามารถให้ผู้ว่าฯ “ณรงค์ศักดิ์”

          นายพอล โรบิลลิอาร์ด เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เดินทางมาที่โรงแรมแม่โขงเดลตา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อมอบเสื้อสามารถและหมวกให้แก่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ในฐานะผู้บัญชาการร่วมการค้นหาผู้ประสบภัยวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เพื่อแสดงความยินดี และขอบคุณที่เห็นความสำคัญของทีมกู้ภัยจากออสเตรเลียรวมไปถึงทีมแพทย์ที่เข้ามาร่วมในการค้นหา

ในหลวง ทรงขอบใจ ช่วยทีมหมูป่า
 

          นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย เดินทางมาเพื่อขอบคุณที่ให้โอกาสทีมงานออสเตรเลียเข้ามาร่วมงานช่วย 13 หมูป่าออกจากถ้ำหลวง แต่ในความเป็นจริงแล้วทางเราต่างหากที่ต้องขอบคุณ เพราะถือว่าทีมดำน้ำของออสเตเลียและทีมแพทย์เป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติการในครังนี้จนสามารถค้นพบและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้ง 13 คนออกมาจากถ้ำสำเร็จ โดยการมาในครั้งนี้ท่านทูต ได้มอบเสื้อสามารถ โดยเป็นเสื้อโปโลสีเทา ปักโลโก้รูปจิงโจ้และข้อควมเชิดชูเกียรติที่อกด้านซ้าย อาร์มเสื้อด้านขวา เป็นธงชาติไทย-ออสเตรเลีย สื่อความหมายในการร่วมมือกันทั้ง 2 ประเทศ ส่วนอาร์มด้านซ้ายเป็นริบบิ้นไว้อาลัยให้จ่าแซม และด้านหลังเป็นข้อความว่าหมูป่าสู้ๆ พร้อมมอบหมวกของกรมตำรวจออสเตรเลียให้อีก 1 ใบ

ชวนซ้อมแผนร่วมรับมือภัยพิบัติ

          นายณรงค์ศักดิ์กล่าวต่อว่า ทางทูตออสเตรเลียได้เสนอความคิดในการฝึกร่วมในการกู้ภัยระดับประเทศเพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น รวมไปถึงเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งในช่วงแรกๆ อาจจะเป็นการฝึกร่วมระหว่างไทยกับออสเตรเลียก่อน โดยอาจจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพในการฝึก จากนั้นค่อยเริ่มขยายโดยการเชิญชาติต่างๆ เข้าร่วม ซึ่งเหตุการณ์ในถ้ำหลวงนี้ทำให้หลายประเทศตองถอดบทเรียนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือกู้ภัย และการวางมาตรการเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย


 

นายกฯ สั่งเร่งฟื้นฟูถ้ำหลวง

          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างการเยือนประเทศศรีลังกาอย่างเป็นทางการ ถึงการดำเนินการหลังจากช่วยเหลือเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่ารวม 13 คน ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ได้แล้ว ว่า จากนี้ต้องฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับสู่สภาพเดิมมากที่สุด รวมถึงส่วนที่ขุดและเจาะก็ต้องฟื้นฟูให้เสร็จเรียบร้อย เพราะเป็นทางน้ำไหลใต้ภูเขา และหากจะให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็ต้องพิจารณากันต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวปลอดภัย

ในหลวง ทรงขอบใจ ช่วยทีมหมูป่า แฟ้มภาพ
 

ให้จ.เชียงรายเตรียมจัดทำบุญ

          “สิ่งสำคัญขณะนี้คือ การดูแลและเยียวยาด้านจิตใจให้เด็ก ขออย่าไปยุ่งกับเด็กและโค้ชทั้ง 13 คนมากนัก และขอให้รักษาความรักความสามัคคีที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ไว้ อย่าให้สูญหายไป เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหวังให้คนไทยรักกันเช่นนี้ และรักษาสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ตลอดจนทุกฝ่ายและเกษตรกรที่เข้ามาช่วยเหลือ นี่คือประเทศไทยของเรา อย่าให้ใครมาแบ่งแยก ส่วนการทำบุญหลังจากนี้ จะให้จังหวัดเชียงรายเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนตัวผมอยากให้ทุกคนร่วมกันสวดมนต์เพื่อให้ชีวิตดีขึ้นและมีความปลอดภัย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

กรมอุทยานฯ เร่งจัดโซนนิ่ง

          นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงแผนการพัฒนาฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่า แผนการพัฒนาฟื้นฟูและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน แบ่งเป็น 3 ด้าน แต่ละด้านประกอบด้วยระยะเร่งด่วนและระยะระยะยาว โดยในระยะเร่งด่วนคือสิ่งที่จะทำทันที่นับจากนี้ ได้แก่ การแบ่งเขตการบริหารจัดการให้มีความชัดเจน โดยการกำหนด เขตบริการ อาคารสถานที่ ลานจอดรถ และห้องน้ำ เขตนันทนาการ ที่นั่งพัก สนามหญ้า และถ้ำต่างๆ เขตสงวน-หวงห้าม พื้นที่ป่าโดยรอบ ของพื้นที่วนอุทยานที่มีเปราะบาง และกำหนดขอบเขตการใช้ประโยชน์ ตลอดจนการเข้า–ออกภายในถ้ำหลวงจัดการให้มีความชัดเจน

ปรับปรุง-พัฒนาภูมิทัศน์

          นายธัญญา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีแผนการจัดให้มีอัตรากำลัง เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานเฉพาะด้าน การจัดให้มียานพาหนะจำนวน 3 คัน ได้แก่ รถขับเคลื่อน 4 ล้อ จำนวน 1 คัน รถเก็บขยะจำนวน 1 คัน รถกู้ภัยขนาดเล็ก จำนวน 1 คันระยะเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินการหลังจากนี้คือ การปรับปรุงและพัฒนาภูมิทัศน์ 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณแหล่งท่องเที่ยวถ้ำหลวงและบริเวณแหล่งท่องเที่ยวขุนน้ำนางนอน ด้วยการปลูกหญ้าจัดสวน จัดทำทางเดินเท้าจัดให้มีลานจอดรถ ที่นั่งพักบริเวณแหล่งท่องเที่ยวและป้ายสื่อความหมายต่างๆ ใช้งบประมาณจำนวน 3 ล้านบาท

พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติ

          นายธัญญากล่าวว่า การปรับปรุงพัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติภายในถ้ำหลวงระยะทาง 1,000 ม. พร้อมระบบสื่อความหมายต่างๆ และการปรับปรุงฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำบริเวณถ้ำทรายทองบริเวณขุนน้ำนางนอน ในส่วนการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่ดำเนินการค้นหาและกู้ภัยให้คืนสู่สภาพเดิมโดยการฟื้นฟู ตกแต่ง หรือปลูกต้นไม้ ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริเวณลานจอดเฮลิคอปเตอร์บ้านผาหมี 2.บริเวณหลุมหรือปล่องถ้ำ จำนวน 12 จุด 3.บริเวณที่มีการปิดกั้นเส้นทางน้ำและฝายจำนวน 5 จุด ใช้งบประมาณจำนวน 2 ล้านบาท

วางแผนฟื้นฟูระยะยาว

          นายธัญญา กล่าวว่า สำหรับการฟื้นฟูพื้นที่ระยะยาวจะมีการปรับปรุงและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างของวนอุทยาน โดยการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารที่ทำการวนอุทยานจำนวน 1 หลัง อาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่จำนวน 4 หลัง อาคารศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวจำนวน 1 หลัง ห้องน้ำ-ห้องสุขาจำนวน 1 หลัง และปรับปรุงซ่อมแซมโรงจอดรถจำนวน 1 หลัง การปรับปรุงและพัฒนาถนนลาดยางแบบมีไหล่ทาง และรางน้ำภายในและภายนอกของแหล่งท่องเที่ยววนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ระยะทาง 10 กม. โดยการปรับปรุงและพัฒนาถนนบริเวณแหล่งท่องเที่ยวถ้ำหลวง และแหล่งท่องเที่ยวขุนน้ำนางนอน ใช้งบประมาณจำนวน 20 ล้านบาท การปรับปรุงพัฒนาระบบสาธารณูปโภค โดยการปรับปรุงระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร และระบบประปาที่เชื่อมต่อจากระบบน้ำบาดาลบริเวณถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ซึ่งจะดำเนินการให้มีการออกแบบและคำนวณงบประมาณต่อไป

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการใช้งบประมาณการฟื้นฟูพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวงครั้งนี้ในเบื้องต้นใช้งบประมาณจำนวน 42,323,000 บาท แบ่งเป็นระยะเร่งด่วนจำนวน 15,820,000 บาท ระยะยาว จำนวน 26,500,000 บาท

          อย่างไรก็ตามสำหรับงบประมาณซึ่งประมาณการไว้แล้วในเบื้องต้น อาจจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้างในบางกิจกรรม เนื่องจากการขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาด้านต่างๆ จะต้องมีแบบแปลนสิ่งก่อสร้าง (ปร.4/ ปร.) ก่อน

เชิญหมูป่าดูบอลโลกที่กาตาร์

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ มีการโพสต์ระบุว่า เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นายจาตุรนต์ ไชยะคำ อุปทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ต้อนรับนาย Biju G ผู้จัดการทั่วไปบริษัท Grace Engineering and Technical Services W.L.L (ซึ่งเป็นบริษัทของชาวอินเดียในรัฐกาตาร์) และเจ้าหน้าที่ของบริษัทซึ่งเดินทางมานำส่งความยินดีและกำลังใจไปยังทีมฟุตบอลหมูป่าทั้ง 13 คน รวมถึงทีมเจ้าหน้าที่กู้ภัยจากทุกหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในภารกิจช่วยเหลือดังกล่าว พร้อมกับตั้งจิตอธิษฐานไปยัง จ.อ.สมาน กุนัน ที่เสียสละชีวิตในภารกิจดังกล่าว

          นอกจากนี้นาย Biju G ได้มอบหนังสือเชิญเพื่อสนับสนุนสมาชิกทีมฟุตบอลหมูป่าทั้ง 13 คน เดินทางไปชมการแข่งขันฟุตบอลโลกในปี ค.ศ.2022 (พ.ศ.2565) ที่รัฐกาตาร์ด้วย ในโอกาสดังกล่าวอุปทูตแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งสำหรับความมีไมตรีจิตและคำเชิญดังกล่าว ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตไทยได้ส่งหนังสือเชิญดังกล่าวผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปยังหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องแล้ว

ญี่ปุ่นส่งนกกระเรียนกระดาษ 1,000 ตัว

          นอกจากนี้เว็บไซต์สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูตไทยได้รับพัสดุที่ถูกส่งมาจากศูนย์คุ้มครองเด็กและเยาวชนแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น โดยภายในพัสดุประกอบด้วยนกกระเรียนกระดาษ 1,000 ตัว และแผ่นกระดาษขนาดใหญ่ที่เด็กๆ ชาวญี่ปุ่นร่วมกันเขียนข้อความอวยพร เป็นกำลังใจแก่ทีมหมูป่าทั้ง 13 คน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตไทยรู้สึกเป็นเกียรติและซาบซึ้งใจอย่างยิ่งที่ได้เป็นตัวแทนรับมอบของขวัญพิเศษนี้ โดยจะจัดส่งไปยังเยาวชนกลุ่มนี้ที่ จ.เชียงราย อย่างเร็วที่สุด

          นอกจากนี้สถานเอกอัครราชทูตไทยขอขอบคุณชาวญี่ปุ่นทุกคนที่รักและเป็นกำลังใจให้ประเทศไทยเสมอมา ทำให้เรายิ่งตระหนักว่าความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนไทยและญี่ปุ่นมีความแน่นแฟ้น ใกล้ชิด และเป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้ง 2 ประเทศในทุกมิติ

“13 หมูป่า” อาการดีขึ้น

          นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นพ.ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ว่าทีมแพทย์ พยาบาลและสหวิชาชีพยังคงให้การรักษาและควบคุมป้องกันโรคแก่น้องๆ นักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี่และโค้ชในหอผู้ป่วยชั้น 8 อย่างใกล้ชิด ล่าสุดเช้านี้ (13 ก.ค.) ทุกคนอาการดีขึ้นตามลำดับ ญาติสามารถเยี่ยมใกล้ชิด โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือก่อนและหลังเข้าเยี่ยม โดยกลุ่มที่ 1 จำนวน 4 คนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม อาการทั่วไปปกติไม่มีไข้ รับประทานอาหารปกติได้ ขับถ่ายปกติ ตรวจตาโดยจักษุแพทย์ผลปกติ สำหรับ 2 รายที่มีปัญหาปอดติดเชื้ออาการดีขึ้น ผลเอกซเรย์ปอดปกติ ผลการเพาะเชื้อในกระแสเลือดให้ผลลบ รอให้ยาปฏิชีวนะครบ 7 วัน

สุขภาพจิตใจดีไม่เครียด

          ส่วนกลุ่มที่ 2 จำนวน 4 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2561 อาการทั่วไปดี สัญญาณชีพปกติ ไม่มีไข้ รับประทานอาหารได้ดี ตรวจหูโดยแพทย์หูคอจมูก ผลปกติ รอให้ยาปฏิชีวนะครบ 7 วัน และกลุ่มที่ 3 จำนวน 5 คน เข้ารับการรักษาตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2561 อาการทั่วไปปกติ มีไข้ต่ำๆ สัญญาณชีพอื่นๆ ปกติ รับประทานอาหารได้ดี รายที่มีอาการปอดติดเชื้อเล็กน้อย อาการดีขึ้น ส่วน 3 รายยังให้ยารักษาภาวะติดเชื้อที่บริเวณหูชั้นกลางต่อ และรอให้ยาปฏิชีวนะครบ 7 วัน

          สำหรับการดูแลด้านจิตใจ ทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดี ไม่มีอาการเครียดหรือกังวลกับเหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งทีมจิตแพทย์ นักจิตวิทยาของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ได้ให้การดูแลทั้งผู้ป่วยและญาติมาตั้งแต่ต้น ประเมินติดตามอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาลทุกวัน และเตรียมแผนการดูแลต่อเนื่องเมื่อกลับบ้าน

สมัครจิตอาสาบิ๊กคลีนนิ่งถ้ำหลวง

          หลังเสร็จสิ้นภารกิจพา 13 หมูป่าออกจากถ้ำได้อย่างปลอดภัย ล่าสุด อบต.โป่งผา รับสมัครจิตอาสาทั้งในพื้นที่และทั่วประเทศ ร่วมบิ๊กคลีนนิ่ง ฟื้นฟูถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนที่จะเริ่มวันที่ 14 กรกฎาคม โดยมีชาวอำเภอแม่สาย และจังหวัดใกล้เคียงกว่า 1,000 คน เดินทางมาร่วมสมัคร ซึ่งจะได้รับพระราชทานหมวกสีฟ้า “เราทำความดีด้วยหัวใจ” และผ้าพันคอสีเหลือง เพื่อปฏิบัติกิจกรรมจิตอาสาตามความถนัดของแต่ละคน

ในหลวง ทรงขอบใจ ช่วยทีมหมูป่า

 

          ภารกิจหลักๆ ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ เพื่อให้สภาพธรรมชาติกลับมาสวยงามดังเดิม ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีอำเภอแม่สาย ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดดยตลอด 17 วันที่ผ่านมา จิตอาสาที่มาทุกคนล้วนมาด้วยความเต็มใจที่จะมาร่วมจิตอาสา

          ขณะเดียวกัน นายจงคล้าย วรพงศ์ธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าเเละพันธ์พืช จะระดมเจ้าหน้าที่อุทยานเข้าทำความสะอาดภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำน้ำนางนอน ทำความสะอาดรอบนอก รื้อถอนเต็นท์ ปรับพื้นผิวถนน ปลูกต้นไม้ที่เสียหาย ส่วนบริเวณด้านภายในถ้ำจะรื้อถอนอุปกรณ์บางส่วนที่นำออกมาได้ก่อน ไม่ต้องรอให้น้ำแห้ง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ