ข่าว

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แถลงปิด ศอร.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผบ.ศอร. แถลงปิดศูนย์ฯ เป็นทางการ ผบ.ซีล ยืนยัน '13 หมูป่า' ดำน้ำออกมาด้วยเครื่องมือพิเศษ ซีลประกบข้างเหมือนไข่ในหินตลอดเส้นทาง

               11 ก.ค. 61  เมื่อเวลา 18.00 น. ที่ อบต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย  นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการกองอำนวยการค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ศอร.) พร้อมด้วย พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ , นายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ , นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช , นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย , นายสุขชัย เจรียงประเสริฐ เกษตรจังหวัดเชียงราย , พลตำรวจตรี ชูรัตน์ ปานเหง้า รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้ร่วมกันแถลงปิดศูนย์บัญชาการกองอำนวยการค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน พร้อมรายละเอียดการดำเนินการทุกส่วนปฏิบัติการ ทุกขั้นตอน และแนวทางหลังจากนี้ โดยมีการถ่ายทอดสดผ่านรายการเดินหน้าประเทศไทยด้วย

 

 

 

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แถลงปิด ศอร.

 

 

 

               นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้อำนวยการศูนย์บัญชาการค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ปฏิบัติการครั้งนี้สำเร็จลุล่วงลงได้ด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงติดตามห่วงใยและชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ ทรงพระราชทานทั้งกำลังใจ อาหาร และสิ่งของ โดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดหาอุปกรณ์ที่ไม่สามารถจัดหาซื้อตามระบบราชการได้ทันเวลา เพื่อให้สามารถนำมาใช้ในการกู้ภัยได้ทันเหตุการณ์ ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ทั้งในและต่างประเทศ

               เหตุการณ์ครั้งนี้เลยคำว่ากู้ภัยไปแล้ว มันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในความสามัคคีปรองดองของมวลมนุษยชาติ คนที่อยู่ตรงนี้ไม่มีใครสนใจว่าใครจะมีเชื้อชาติไหน นับถือศาสนาใด เป้าหมายของทุกคนคือช่วยชีวิตเด็กๆ ให้ปลอดภัยกลับมาทุกคน ทำงานโดยทลายกำแพงและปราศจากชั้นยศ เพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายเดียวกัน การปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้ประสบความสำเร็จลงได้ โดยได้เปิดรับผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ทั้งความร่วมมือ ความหวังดี เทคโนโลยี และความรู้ โดยอาศัยขีดความสามารถของทุกประเทศทั่วโลก นำมาบูรณาการเป็นประชารัฐ ที่ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก ในฐานะตัวแทนของรัฐบาลไทย ขอขอบพระคุณทุกภาคส่วน ประสบการณ์ครั้งนี้ช่วยเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสแห่งความร่วมมือ อันนำไปสู่ความสำเร็จในการกู้ภัย

 

 

 

               ทั้งนี้ แม้ว่าศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย จะปิดลง แม้ภารกิจค้นหาและกู้ภัยจะเสร็จสิ้น แต่ยังคงมีภารกิจที่ยังคงดำเนินการต่อไป ทั้งการฟื้นฟูพื้นที่ การจัดระบบเตือนภัย โดยจะมีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ครั้งนี้และปฏิบัติการ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ โดยทุกหน่วยงานจะต้องนำปัญหามาพูดคุย ว่าได้ปฏิบัติการแก้ปัญหาอย่างไร หากในอนาคตเกิดมีปัญหาที่มีลักษณะคล้ายกันก็จะนำแนวทางการแก้ปัญหาครั้งนี้ไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น

               รวมถึงการแก้ปัญหาเรือกสวนไร่นาด้วย ซึ่งเรื่องนี้ผู้รับผิดชอบคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพูดคุยในรายละเอียดต่อไป ปฏิบัติการครั้งนี้ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ต้องขออภัยสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศ ในเรื่องข้อมูลข่าวสาร เนื่องจากเป็นสถานการณ์ในภาวะวิกฤติ อาจจะได้รับข้อมูลข่าวสารล่าช้า แต่เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาระดับสากล ที่มีกระบวนการตรวจสอบกลั่นกรองก่อนนำเสนอ

               อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดของเด็กๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมีและผู้ฝึกสอน และเขาเหล่านี้ก็ไม่ใช่ฮีโร่ แต่เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เชื่อมั่นว่าวิกฤติในครั้งนี้จะเป็นเหตุให้เด็กและผู้ปกครองได้เห็นถึงความมีน้ำใจของคนทั่วโลก และเชื่อว่าเมื่อเขาเหล่านั้นทราบถึงความห่วงใยของคนทั้งโลกที่มีต่อเขา ก็จะหล่อหลอมจิตใจให้เขาเป็นคนดีให้สมกับที่สังคมให้การช่วยเหลือ ในวันข้างหน้าเมื่อเด็กได้รับการฟื้นฟูสภาพทุกอย่างแล้ว จะประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายคนใหม่ ให้สื่อมวลชนได้พบปะ 1 ครั้ง เพื่อบรรเทาความกังวล หลังจากให้ประสานโดยตรงกับผู้ปกครอง ทั้งนี้ ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้ปกครองตามความเหมาะสม

 

 

 

               ปฏิบัติการครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้ เพราะได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศด้วย สำหรับการตอบแทนมิตรไมตรีของอาสาสมัครและชาวต่างชาติที่มาร่วมงาน จะประสานผู้ว่าราชการจังหวัดคนใหม่ เพื่อรวบรวมข้อมูลความช่วยเหลือมิตรไมตรีจากต่างประเทศ เพื่อจะตอบแทนน้ำใจของท่านเหล่านั้นต่อไป

               หลังจากปฏิบัติการแล้วเสร็จจะรวบรวมอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อจัดทำเป็นนิทรรศการที่มีชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้ ในสถานที่ท่องเที่ยว โดยจะประสานหน่วยงานที่ช่วยเหลือ เพื่อรวบรวมอุปกรณ์ที่ใช้แล้วและไม่สามารถนำกลับไปใช้ได้ เพื่อรวบรวมเป็นองค์ความรู้ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

               บนความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น ก็มีสิ่งหนึ่งที่เสียใจอย่างสูงสุด คือการเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ของ จ่าแซม หรือ จ่าเอก สมาน กุนัน อดีตหน่วยซีล เชื่อว่าคนไทยทุกคนก็รู้สึกอย่างเดียวกัน ทุกคนจะจดจำวีรกรรมครั้งนี้ในฐานะวีรบุรุษถ้ำหลวงที่เสียสละชีพเพื่อช่วยชีวิตผู้อื่น ตราบนานเท่านาน

               นอกจากนี้ได้รับทราบว่า นายกรัฐมนตรีได้รับโทรศัพท์จาก นางจูลี่ บิชอป รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย ได้โทรศัพท์มาแสดงความยินดีกับความสำเร็จของปฏิบัติการครั้งนี้ ตอนหนึ่งของบทสนทนาได้บอกว่า บิดาของนายแพทย์ริชาร์ด แฮริส บุคคลสำคัญในการนำเด็กๆ ออกมาจากถ้ำ ได้เสียชีวิตเมื่อคืนที่ผ่านมา และนายแพทย์ริชาร์ดได้เดินทางกลับทันที ในนามของผู้บัญชาการเหตุการณ์ฯ และในฐานะตัวแทนคนไทยทั้งประเทศ ของแสดงความเสียใจและขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้

 

 

 

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แถลงปิด ศอร.

 

 

 

               พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กล่าวว่า ก่อนอื่นขอบอกว่า ตนไม่ใช่ฮีโร่ แต่มีหลายคนเป็นฮีโร่ งานนี้สำเร็จได้ด้วยพวกเราทุกคน ซึ่งกำลังพลจากหน่วยซีล มีภารกิจและได้รับการฝึกมาในลักษณะนี้เป็นประจำ และมีสโลแกนว่า “กองทัพเรือจะไม่ทิ้งประชาชน” เมื่อมีคำขอจากเชียงรายให้ส่งกำลังพลไปช่วย กองทัพเรือก็สั่งการมาโดยทันที โดยชุดแรกระดมพลมาด่วนตอน 00.00 น. (25 มิ.ย.) ถึงตอนเกือบ 02.00 น. จำนวน 20 นาย และได้เข้าไปตอน 04.00 น. เข้าถ้ำไปจนถึงสามแยก ซึ่งหน่วยกู้ภัยเดิมเข้าไปไม่ได้ เนื่องจากช่องทางถูกปิด เมื่อทะลุช่องทางไปแล้ว ได้ดำไปจนถึงพัทยาบีช เห็นแต่รอยเท้าเด็กแต่ไม่พบตัว จากนั้นดำน้ำต่อไป แต่สภาพของถ้ำที่ไม่เคยเจอมาก่อน รวมถึงเป็นถ้ำที่มืดมาก ต้องถอยกลับไปเตรียมอุปกรณ์ใหม่ และมีฝนตกหนักมาก จึงต้องถอยจากสามแยกไปจนถึงโถงสาม

 

 

 

               ตนได้รับรายงานมาเรื่อยๆ ก็สงสัยว่าทำไมเข้าไปไม่ได้ จึงขออนุญาตบินมาเอง และลงไปดู ตั้งแต่ 6 โมงเย็น ลุยเรื่องการสูบน้ำออก ลุยทั้งคืนแต่สู้น้ำไม่ได้ ต้องนำกำลังพลถอยร่นออกมา ตนเองออกได้ตอน 10.00 น. ได้ขอให้ ทร. ส่งกำลังพลมาเรื่อยๆ แต่สู้น้ำไม่ได้ ถอยร่นจนถึงปากถ้ำ ความหวังเหลือนิดเดียวเพราะระดับน้ำสูง ทำให้คิดว่าจะเข้าไปช่วยได้อย่างไร และเด็กจะอยู่ในสภาพอิดโรยขนาดไหน แต่ไม่ละความพยายาม และได้มีหน่วยอื่นนำเครื่องสูบน้ำเข้ามา ทั้งรัฐและเอกชน สู้กับน้ำมา 2 - 3 วัน แต่น้ำลดแค่วันละ 1 - 2 ซม. แต่ก็ได้เข้าไปดูจนถึงโถงสาม พบว่ามีที่ว่างที่จะตั้งกองบัญชาการส่วนหน้าได้ แต่การเข้าไปจากปากถ้ำสาหัสพอสมควร ทั้งเดินเท้า ลุยน้ำ และปีน แต่จำเป็นต้องสู้ ไม่เช่นนั้นไม่มีความหวังในการช่วย สุดท้ายตัดสินใจจะสู้กับน้ำ โดยต้องหาขวดอากาศมาเป็นจำนวนมาก ในช่วงแรกได้รับการบริจาคจากเอกชน 200 ขวด ได้พระราชทาน 200 ขวด รวมเป็น 400 ขวด รวมถึงอุปกรณ์ดำน้ำและนักดำน้ำร่วมกันนำขวดอากาศวางเรียงในน้ำ แต่ละคนเอาขวดอากาศไปคนละ 3 ขวด เป็นวันแรกที่ตั้งมั่นว่าจะช่วยเด็กให้ได้ โชคดีที่มีเพื่อนนานาชาติมาช่วย เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน และสหภาพยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มสุดท้ายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดำน้ำโดยตรง หลังจากนั้นก็หารือกันว่ามีแผนว่าจะทำอย่างไรถึงจะหาเด็กเจอ ประเมินว่าเด็กอาจจะเลี้ยวซ้ายจากสามแยก สุดท้ายแล้วโชคดีที่ทุกคนช่วยกันต่อระยะเชือกเข้าไป และมีนักดำน้ำอังกฤษได้เจอกับน้องที่อยู่ในถ้ำและถ่ายภาพมาให้ดู และเป็นที่น่าสนใจว่าน้องอยู่ได้อย่างไร นักดำน้ำบอกเมื่อไปถึงก็พบเด็กวิ่งลงมา

 

 

 

               หลังจากพบเด็กได้ส่งซีล 4 คน โดย 1 ในนั้นคือ พ.ท.ภาคย์ โลหานชุน ซึ่งผ่านหลายหลักสูตรพิเศษ และมีความรู้ด้านเวชศาสตร์ใต้น้ำ ต่อมาส่งซีลอีก 3 คน เข้าไป หลังจากวันนั้นเข้าไปอยู่กับเด็กในถ้ำ พร้อมประเมินและคาดว่าเด็กอยู่ได้เป็นเดือน และพยายามหาช่องทางต่างๆ ในการเข้าถึงและพาออก แต่ยังเจอข้อจำกัด เพราะอากาศน้อยลง ออกซิเจนน้อยลง ตอนที่เหลือ 15% ทำให้วิตกกังวลมาก จึงพยายามหาวิธีเติมออกซิเจน แต่มีฝนตกลงมาทำให้ต้านทานไม่ได้ เนื่องจากธรรมชาตินั้นต่อสู้ยาก แต่จะทำเต็มที่แม้น้ำเต็มถ้ำ พร้อมประเมินว่าเจาะภูเขาได้หรือไม่ เพราะหินหนา 500 เมตร เหมือนงมเข็มในมหาสมุทร จะใช้เวลากี่วัน ก็มีข้อจำกัด จึงคุยกันว่าจะทำอย่างไร สุดท้ายนักดำน้ำมืออาชีพจากทั้งโลกที่รวมตัวกันอยู่ตรงนั้นจึงได้วางแผน และนำเด็กออกมาได้ครบ รวมทั้งซีลที่อยู่กับเด็กด้วย ซึ่งเป็นภารกิจที่ยากมาก ไม่เคยเจอมาก่อน ต้องเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาบุคลากร เพื่อรับมือภัยพิบัติได้หลายรูปแบบ ต้องเตรียมคนให้พร้อม กองทัพเรือจะไม่ทิ้งประชาชน

 

 

 

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แถลงปิด ศอร.

 

 

 

               นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าออกซิเจนเหลือ 12 จะทำให้ช็อก ซึม โคม่า จึงบีบทำให้เราต้องรีบทำงานแข่งกับเวลามากขึ้น คนปกติต้องใช้ออกซิเจน 21 ในการหายใจ อีกเรื่องคือ น้ำกำลังจะมา ฤดูฝนภาคเหนือน้ำมาเยอะมาก พื้นที่ที่เด็กอยู่จะลดลงไปเรื่อยๆ เครดิต ดำน้ำนานาชาติ ซีล แต่มีอีกมากมาย เบื้องหลังคือ ทีมสูบน้ำ ต้องสูบเท่าใดจึงจะทำงานได้ ซีลขอแค่สูบให้เพียงโผล่ศีรษะขึ้นมาได้ แต่น้ำลดเพียงแค่วันละ 1 ซม. จึงไม่รอ และจะเข้าปฏิบัติงาน แต่ต้องรอสภาพให้พร้อม จนถึงวันดีเดย์ น้ำลดเยอะ สามารถโผล่ศีรษะได้ มีที่แห้งให้ขึ้นไปยืนเพื่อเปลี่ยนถังอากาศได้ ในวันศุกร์ เสาร์ ที่ผ่านมาน้ำลดถึง 38 ซม. สูบทั้งหมดเกือบล้าน ลบ.ม. น้ำทั้งหมดในถ้ำ 5 แสน ลบ.ม. จะเบนออกได้หมื่นกว่า แต่ก็ยังมีส่วนนึงเข้ามาเติม เมื่อวานหลังเสร็จก็มีน้ำเข้าไปเติมเยอะมาก นอกจากนี้ยังมีอีกทีมเดินอยู่บนดอย เจอร้อยกว่าหลุม เจาะได้ 18 หลุม แต่ก็ไม่สามารถเจาะทะลุได้ ต้องใช้เวลานานมาก เด็กต้องรอนานเท่าไหร่ และขอปรบมือให้กับทีมในสนามทุกคน

               นายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ระบุว่า ได้รับการมอบหมายให้เป็น รพ.หลักของปฏิบัติการนี้ แต่ขอขอบคุณทุกคน สธ. ที่ให้การสนับสนุนเป็นกำลังใจ สำหรับผู้ป่วยทุกคนใน รพ. ไม่ได้รับผลกระทบ ในวันแรกเด็กมาถึง รพ. 4 คน วันที่สองอีก 4 คน คืนวันอังคาร อีก 5 คน พร้อมหน่วยซีลอีก 4 คน ทุกคนอาการปลอดภัย ปอดอักเสบเล็กน้อย 3 ราย เบื้องต้น คาดว่าต้องอยู่ รพ. 7 - 10 วัน จะประเมินเป็นระยะ และพักฟื้นที่บ้านอีกอย่างน้อย 30 วัน

 

 

 

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แถลงปิด ศอร.

 

 

 

               ความคืบหน้าของเด็กในวันนี้ นายแพทย์ไชยเวช ระบุว่า เพิ่งได้รับอนุญาตจากทุกฝ่ายในนำภาพวิดีโอของทีมหมูป่าที่อยู่ รพ. มาคลายความกังวล และครอบครัวได้เข้าเยี่ยมแล้ว สุขภาพกายใจดี ทุกคนถอดน้ำเกลือแล้ว อาหารเกือบปกติ แต่ยังต้องตรวจอย่างใกล้ชิด และในเรื่องจิตใจต้องเยียวยาทั้งเด็ก ครอบครัว การตอบสนอง และเข้าสังคม โดยนายณรงค์ศักดิ์ได้กล่าวเสริมว่า ไม่ต้องกังวล

 

 

 

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แถลงปิด ศอร.

 

 

 

               นายจงคล้าย วรพงศธร รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า การปรับสภาพป่า ฟื้นฟู ขอกล่าวถึงเพียงเล็กน้อยถึงภารกิจว่า ตั้งแต่วันแรกเป็นหน่วยงานสนับสนุน เป็นเครื่องจักรเล็กที่พยายามทำให้เครื่องจักรใหญ่ เช่น ซีล เคลื่อนไหวได้ มีหน้าที่หลักหาโพรง เจ้าหน้าที่จากหลายฝ่าย นกนางแอ่น มีเพียง 2 โพรงเท่านั้นที่ต้องฟื้นฟู นอกนั้นไม่มีปัญหา นอกจากนั้นได้สำรวจลำห้วย ระยะแรกต้องมีข้อมูลวิชาการที่ดีที่สุดมาใช้ ได้สำรวจจากผู้เชี่ยวชาญ หากสังเกตด้วยตาจะไม่ทราบเลยว่าน้ำไหลไปไหน กรมธรณีได้ใช้อุปกรณ์สำรวจน้ำว่าน้ำไปทางไหนบ้าง คาดว่าน้ำไหลเข้าไป ห้วยน้ำดั้ง ผาหมี ตัดสินใจทันที เพราะน้ำจะเข้าไปวันละ 1,800 ลบ.ม. แบบค่อยๆ เข้าไป ส่วนหนึ่งไปเจอกันในถ้ำ หลังสำรวจก็อาศัยกำลังจากหลายฝ่ายโดยเฉพาะชาวบ้านผาหมี ขอกำลังร้อยคน แต่มา 200 คน จึงได้กำชับว่าสื่ออย่าตามไป เพราะจะทำงานยาก คนเยอะ แต่ถือว่าเป็นการทำงานบูรณาการที่แท้จริง ทั้งราชการ หน่วยงาน เอกชน ชาวบ้าน ใช้ท่อเทปล่อน 7 เส้น ยาว 2.8 กม. สามารถนำน้ำออกมาได้

               นายจงคล้าย กล่าวอีกว่า พยายามจะช่วยหน่วยซีลด้วยการแบกถังและอุปกรณ์เข้าไป มีคนทำงานเบื้องหลังหลายหน่วยงาน แต่เป้าหมายเดียวกัน รวมใจเป็นหนึ่งคือช่วยน้อง 13 คน สามารถดูดน้ำออกไปวันละ 6,000 ลบ.ม. ทำงานกันตลอด 24 ชม. ถึงฝนตกก็ไม่กลัว มีสายรัดไว้ และมีท่อระบาย

               ด้านการฟื้นฟู รมว.ทรัพฯ สั่งการว่า เตรียมแผนฟื้นฟูให้ดี เพราะเชื่อว่าน้องออกมาได้แน่ เชื่อศักยภาพของหน่วยซีล จึงได้เริ่มหาข้อมูล เช่น โพรง ลำห้วย ต้องการให้ระบบนิเวศกลับคืนสู่ธรรมชาติดังเดิม ฟื้นฟูในถ้ำ บนถ้ำ ปรับภูมิทัศน์ กำหนดการรองรับผู้มาเยือน ต้องมีนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเข้าไปแน่นอน คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร และในวันที่ 25 ก.ค. นี้ รมว. จะมาพื้นที่ด้วยตนเอง ต้องมาถามคนในพื้นที่ด้วย ตอนนี้เริ่มทำแผนระยะสั้น ปิดถ้ำตั้งแต่ 10.00 น. ของวันนี้ ไม่มีการเข้าออก มีเจ้าหน้าที่ดูแล 24 ชม.

 

 

 

               “สรุปว่าหน่วยงานใดก็แล้วแต่ การทำงานจะปิดทองหน้าหรือหลังพระ ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ หน้าพระก็สำคัญ หลังพระก็ช่วยให้พระเต็ม มีเป้าหมายเดียวกันคือการนำเด็กออกมา ถือว่าเป็นการได้พระที่สวยที่สุด” นายจงคล้าย กล่าว

               นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ตนมองว่าเป็นภัยพิบัติ ซึ่ง ปภ. ได้ประสานกับผู้ว่าฯ ให้เป็นพื้นที่ประสบภัยและให้เป็นเขตช่วยเหลือ เนื่องจากต้องใช้วิธีการทางเทคนิคบางอย่างที่อาจจะต้องละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือทำลายสิ่งแวดล้อม

               นายกอบชัย ระบุว่า เพื่อให้หน่วยงานเข้าไปทำงานได้อย่างที่ดีสุด และสามารถใช้งบประมาณทางราชการส่วนกลางได้อย่างเต็มที่ ภารกิจนี้จำเป็นต้องใช้เทคนิคอย่างมากในหลายเรื่อง ยังต้องมีนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงได้อนุมัติให้ทำนอกเหนือระเบียบได้ เนื่องจากเป็นสถานการณ์พิเศษที่ทั้งโลกจับตาอยู่ โดยต้องหาช่องทางและแผนที่ดีที่สุดในการค้นหาและนำเด็กออกมา

               การระบายน้ำนับเป็นเรื่องสำคัญที่กรมชลฯ ได้ทำการเบนทางน้ำออกบริเวณหน้าถ้ำ โดยหนองน้ำพุที่อยู่หน้าถ้ำหากสูบมากๆ อาจลดน้ำใต้ดินได้ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายหลักคือการระบายน้ำภายในถ้ำเพื่อพาเด็กออกมา ในการระบายน้ำต้องใช้เครื่องมือมากมาย เห็นได้ว่าต้องใช้เครื่องสูบหอยโข่ง และพญานาค แต่เมื่อเข้าถ้ำไปแล้วไม่สามารถใช้ได้เพราะมีขนาดใหญ่ ต้องใช้ไดโว่ในบริเวณที่คับแคบ เพื่อสูบน้ำให้มีปริมาณที่หน่วยงานสามารถปฏิบัติงานได้ ทั้งนี้ ต้องอาศัยสภาพอากาศ น้ำ และร่างกายเด็กให้มีความพร้อม

 

 

 

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แถลงปิด ศอร.

 

 

 

               นายกอบชัย ได้กล่าวสรุปว่า การค้นหาทางโพรงยังไม่สำเร็จ ตรงนี้เป็นอีเอที เรามี ปภ.จังหวัด ในฐานะเลขาของผู้ว่าฯ ได้นำคนจากส่วนกลางมาสนับสนุนมากขึ้น การเขียนแผนโครงสร้างและแผนฟื้นฟูหลังค้นพบ ไม่ว่าสภาพสิ่งแวดล้อมและสิ่งก่อสร้างที่เสียหาย รวมถึงที่ดินการเกษตร ซึ่งได้ขออนุมัติเพิ่มแล้ว และได้ชี้แจงฝ่ายเอกชน ไม่ว่า ปตท. หรือหน่วยงานอื่นๆ จำเป็นต้องค้างวัสดุที่เหลือไว้เช่นเดิมจนกว่าจะฟื้นฟูสภาพถ้ำเสร็จสิ้น พร้อมเน้นย้ำว่า ภัยพิบัติครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ต้องถอดบทเรียนในระดับประเทศ ต้องหามาตรการรับรอง จะทำเป็นแผนเฉพาะให้แต่ละภูมิภาคนำไปปรับใช้ได้

               นายสุขชัย เจรียงประเสริฐ ผู้บังคับการเกษตรจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กษ. ให้ความช่วยเหลือเรื่องที่นาภายหลังการกู้ภัยในถ้ำแล้ว โดยกรมชลได้ส่งเครื่องสูบน้ำมาช่วยและมีสำรอง 20 เครื่อง ทั้งนี้ มีแผนระดมเยียวยาเบื้องต้นเพื่อช่วยเหลือด้านเมล็ดพืชให้เสร็จ และมีรายได้หลังน้ำลด รวมถึงได้สำรวจความเห็นประชาชน ในการมอบเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมถึงเรื่องเชื้อราในพืช นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำในวันที่ 3 อีกเครื่อง และสามารถกู้นาขึ้นมาได้ภายใน 2 - 3 วัน โดยมีกรรมการไปสำรวจจริงกับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตำรวจ เพื่อประเมินในส่วนที่จะจ่ายเงินเยียวยา ทั้งนี้ สำรวจแล้วพบว่ามีที่นาเสียหาย และจะมีบันทึกไปปิดประกาศ จะมีการประชุมก่อนเสนอไปยัง ผจว.

               นายสุขชัย คาดว่า สามารถจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาได้ภายในสิ้นเดือน ก.ค. นี้ ด้วยเงินกว่า 50 ล้านบาท สำหรับเรื่องการเยียวยาด้วยเมล็ดพันธุ์ ได้รับมอบหมายให้มอบปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรจำเป็นต้องใช้ในการเพาะปลูก เรียนว่าพื้นที่น้ำท่วมเป็นที่นาทั้งหมด โดยในวันที่ 12 ก.ค. นี้ เวลา 10.00 น. จะเริ่มจ่ายเงินชดเชยที่ วัดสันกุเลย หมู่ 5 ต.บ้านนา จ.เชียงราย

 

 

 

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แถลงปิด ศอร.

 

 

 

               นพ.ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้เปิดเผยข้อมูลพร้อมนำคลิปภาพล่าสุดที่ได้ถ่ายใน รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นภาพของเด็กๆ ทีมหมูป่าและโค้ช รวมทั้งเจ้าหน้าที่ซีลและแพทย์ ที่กำลังรักษาตัว สร้างเสียงฮือฮา ในห้องแถลงข่าวอย่างมาก เนื่องจากเป็นภาพที่ไม่เคยมีใครได้เห็น และไม่มีใครได้เห็นภาพของเด็กเลยตั้งแต่ในถ้ำ โดยสื่อมวลชนทุกสำนักต่างพากันบันทึกภาพ ซึ่งเชื่อว่าเป็นภาพที่จะสร้างความประทับใจอย่างมากให้กับประชาชนทั้งโลก

               นพ.ไชยเวช กล่าวว่า สำหรับในภารกิจที่ได้รับนั้น ยืนยันได้ว่า มาตรฐานที่ใช้นั้นเป็นไปตามทฤษฎีอย่างชัดเจน ซึ่งในระหว่างปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือนั้น ผู้ป่วยยังไม่ได้ผลกระทบเพิ่มเติม สำหรับผู้ป่วยชุดแรก 4 คน กลุ่มที่ 2 อีก 4 คน กลุ่มที่ 3 อีก 5 คน อยู่ระหว่างการรักษา ทุกคนอยู่ในระดับปลอดภัย มีอาการบาดเจ็บเล็กน้อย แต่ยังคงต้องรอผลเลือดยืนยันหลังจากนี้ สำหรับซีลและแพทย์ 4 คนนั้น ร่างกายแข็งแรงดีมาก แต่เบื้องต้นทุกคนยังต้องอยู่ใน รพ. 7 - 10 วัน และจะขอประเมินสภาพร่างกายเป็นระยะๆ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามผลต่อเนื่องอีก 30 วัน

               โดยขณะนี้ ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองของน้องๆ ให้เปิดเผยภาพล่าสุดของน้องๆ ได้ เป็นคลิปภาพสำหรับ 5 คนสุดท้ายเมื่อคืนนี้ ซึ่งจะเห็นว่ามีสุขภาพดี ฟื้นเร็วกว่า 2 กลุ่มแรก ทุกคนยกไม้ยกมือโบกให้ดูได้ แต่ทุกท่านต้องอยู่ในการควบคุมโรคตามมาตรฐานก่อน ต่อจากเรื่องร่างกายเป็นเรื่องของจิตใจ ซึ่งทางญาติก็ได้เข้าเยี่ยมแล้ว แต่ยังเป็นการเยี่ยมผ่านกระจก ซึ่งคลิปดังกล่าวเพิ่งถ่ายมาเมื่อบ่ายนี้

 

 

 

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แถลงปิด ศอร.

 

 

 

               พล.ต.ต.ชูรัตน์ ปานเหง้า รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวว่า ตร.ได้ร่วมปฏิบัติสามส่วน ทั้งอำนวยการ ปฏิบัติการ และสนับสนุน โดยมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 922 นาย โดยได้ระดมกำลังตั้งแต่ระดับโรงพักจนถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยมีอุปกรณ์สนับสนุนที่สำคัญคือ เฮลิคอปเตอร์ 10 ลำ รถโรงพยาบาล 7 คัน รถยนต์ 144 คัน และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากมาย

               สำหรับหน่วยปฏิบัติการนั้น พล.ต.ต.ชูรัตน์ กล่าวว่า ได้มีการวางกำลังรักษาความปลอดภัยในบริเวณที่เกิดเหตุ และดูแลการจราจร เนื่องจากถนนพหลโยธินมีระยะทาง 5 กม. มีความคับแคบ จำเป็นต้องมีการจัดทางเดินรถเพียงทางเดียว และมีทางออก 3 ทาง เนื่องจากไม่มีที่จอดรถ พื้นดินเหลว จึงต้องมีการขยายพื้นที่ โดยมีหัวท้ายเป็นที่จอด ฮ. ลำเลียงผู้ป่วย เพื่ออำนวยความสะดวก เนื่องจากรถที่ขนาดไม่กว้าง จำเป็นต้องเป็นรถที่มาทำงานเท่านั้น เช่น รถขนาดใหญ่ ทั้งของสื่อหรือรถสูบน้ำต่างๆ รวมถึงยังมีจุดคัดกรองบริการและด่านขึ้นมา ยังมีการจัดระเบียบสื่อที่มีจำนวนมาก ทำให้เป็นส่วนไปสู่ความสำเร็จในระยะเวลาสั้น รวมถึงสภาพ น้ำ อากาศ

               ด้านอาญชกรรมได้มีการป้องกัน เกิด 3 เหตุ ดำเนินคดี 2 ราย หลังจบภารกิจได้ร่วมกับอุทยานฯ และทหาร เพื่อตรวจสิ่งของไม่ให้หายและนำกลับอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะการดูแลต่างชาติ 15 ชาติ 97 คน ได้จัดกำลังตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และ ตร.ท่องเที่ยว ในการปฏิบัติหน้าที่รวมถึงส่งตัวยังที่พักทุกวัน ชาวต่างชาติที่ได้เข้ามาปฏิบัติการครั้งนี้ นับเป็นพระราชอาคันตุกะ ต้องดำเนินการเป็นอย่างดี นับตั้งแต่ต้นทางในประเทศไทยจนถึงต่างประเทศ

 

 

 

               ภารกิจตำรวจที่เป็นการสนับสนุนบนอากาศได้มีการตรวจสอบกับ ปภ. ไม่จำเป็นต้องใช้โดรน ทั้งนี้ ตชด.พลร่ม ปดส. คอยดูเรื่องโพรงน้ำ ตร.ก็มีเครื่องปั่นไฟจากกรุงเทพฯ ไปสูบน้ำ ยังมีการปฏิบัติด้านแพทย์สนามพร้อมอุปกรณ์ในการเคลื่อนย้ายส่งกลับ ฮ. 2 ลำ มีอุปกรณ์ครบครัน ทำให้สามารถนำผู้ประสบภัยไปยัง รพ.เชียงรายฯ ได้อย่างรวดเร็ว และขอกล่าวขอบคุณในนามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

               นอกเหนือจากนี้ยังมีหน่วยที่เข้ามาช่วยเหลือกับทางตำรวจ อีกรวมทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน พร้อมกล่าวคำคมปิดท้าย “หลายเชื้อชาติ หลากภาษา ต่างหน้าที่ หากร่วมใจกันสามัคคี ก็ประสบความสำเร็จได้”

 

 

 

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แถลงปิด ศอร.

 

 

 

               ต่อมาเวลา 20.00 น. ที่ อบต.โป่งผา ในช่วงการตอบคำถามหลังรายงานแถลงจาก ศอร.  พลเรือตรี อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ ได้ตอบคำถามสื่อเรื่องการลำเลียงตัวโค้ชและเด็กในทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 จากเนินนมสาวมายังโถง 3 โดยระบุเป็นการดำน้ำพร้อมมีเจ้าหน้าที่ประกบออกมา

               พล.ร.ต.อาภากร ได้กล่าวว่า ที่เนินนมสาวมีการเตรียมอุปกรณ์เสื้อป้องกันความหนาว หรือ เวสสูท พร้อมเครื่องช่วยหายใจชนิดครอบเต็มหน้าแบบพิเศษ ซึ่งจะปล่อยอากาศออกมาตลอดเวลาโดยไม่ต้องหายใจ ซึ่งนับเป็นวิทยาการใหม่ที่ตนยังต้องเรียนรู้ ทั้งนี้ เมื่อเด็กแต่ละคนดำน้ำลงไปพร้อมขวดอากาศมีการปรับความกดอากาศจะทำให้ไม่ลอยขึ้นมาและง่ายต่อการนำตัวออกมา นับว่าตั้งแต่เนินนมสาว เด็กๆ ไม่จำเป็นต้องดำน้ำ เพียงแค่หายใจ

               พล.ร.ต.อาภากร กล่าวต่ออีกว่า เจ้าหน้าที่หน่วยซีลอีก 2 คน จะตามประกบตัวเด็กมาจนกระทั่งถึงโถงที่ 3 ทั้งนี้ ทีมงานไม่อยากให้เดิน จึงนำใส่เปลตามภาพที่ปรากฏให้เห็นว่าเด็กไม่สามารถขยับเขยื้อนตัวได้ ทั้งนี้ การลำเลียงจากโถง 3 ไปยังโถง 1 ต้องใช้คนถึงหลักร้อย ทำให้เด็กมีสภาพเป็นเหมือนไข่ในหิน โดยจะมีการตรวจสอบอุณหภูมิร่างกายตลอดตามแต่ละจุดที่กำหนด โดยนายณรงค์ศักดิ์ กล่าวเสริมว่า ที่ต้องคลุมผ้าห่มฟอยล์เพราะหากอุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียล อาจทำให้หลับ และอาจเป็นอันตราย

 

 

 

ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ แถลงปิด ศอร.

 

 

 

               สำหรับข้อสงสัยที่ว่า จะเลือกนำใครออกมาก่อนหรือหลังอย่างไรนั้น พล.ร.ต.อาภากร ตอบกลับว่า ก็ให้เลือกกันเอง ทั้งนี้ ก็อยู่ที่ความพร้อมของเด็กด้วย และยังเผยต่ออีกว่า โค้ชเอกไม่ใช่คนสุดท้ายที่ออกมาจากถ้ำหลวงในการลำเลียงชุดที่ 3 เมื่อวานนี้ ทั้งนี้ ตนไม่ทราบรายละเอียดว่ามีการใช้ยากับเด็กระหว่างลำเลียงออกจากถ้ำเพื่อระงับอาการตื่นตระหนกหรือไม่ แต่ทราบว่าทีมงานมีความเป็นมืออาชีพระดับโลก จึงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง

               จากนั้น หลังการตอบคำถามที่มากมายของสื่อจากหลายสำนัก พล.ร.ต.อาภากร กล่าวปิดท้ายว่า หากมีข้อสงสัยให้ไปชมวิธีการด้วยตัวเองที่สัตหีบกับตน

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ