ข่าว

ตะกั่วป่า เมืองท่าปริศนา

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ข่าวน้ำป่าไหลทะลักท่วมอำเภอตะกั่วป่าหนักที่สุดในรอบ 30 ปี เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา คงทำเอาใครหลายๆ คน โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงต้องหวาดผวากันไม่น้อย

   ความจริงแล้ว ตะกั่วป่า กับ น้ำ ก็ถือเป็นของคู่กัน หากจะยึดถือจากข้อสันนิษฐานของ รศ. ประพนธ์ เรืองณรงค์ ที่ว่า “ตะกั่ว” อาจมาจากภาษามลายูว่า “กัวลา” หรือ “กรา” ซึ่งหมายถึง “ปากน้ำ” ส่วนคำว่า “ป่า” น่าจะมาจาก “ปาเซร์” ในภาษาเดียวกัน หมายถึง “ดินทราย” กล่าวโดยรวมแล้ว ตะกั่วป่า แปลว่า ปากน้ำที่มีดินทรายนั่นเอง
 คนส่วนใหญ่มักคิดว่า ตะกั่วป่า หมายถึง แร่ตะกั่วที่ขุดได้จากในป่า เพราะฟังดูเผินๆ ก็เหมือนจะเป็นภาษาไทยที่เราเข้าใจได้ในทันที

 ก่อนที่ตะกั่วป่า จะมีสถานภาพเป็นอำเภอดังเช่นทุกวันนี้ เดิมเคยเป็นเมืองที่ขึ้นอยู่กับเมืองถลาง แล้วจึงมาขึ้นกับเมืองพังงา ต่อมาได้กลายเป็นหัวเมืองหนึ่งของมณฑลภูเก็ต แล้วจึงเปลี่ยนมาเป็น “จังหวัดตะกั่วป่า” ในที่สุด

 หลังจากนั้น ในสมัยรัชกาลที่ 7 เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก ทางการจึงจำเป็นต้องยุบจังหวัดบางแห่งเป็นอำเภอ หนึ่งในนั้นก็คือ จังหวัดตะกั่วป่า ซึ่งกลายเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดพังงามาจนถึงทุกวันนี้

 ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ มีผู้สันนิษฐานว่าตะกั่วป่า คือเมือง “ตะโกลา” หรือ “ตักโกลา” (แปลว่า “ต้นกะวาน") ตามที่ปรากฏในเอกสารโบราณ เช่น คัมภีร์มหานิทเทส และมิลินทปัญหา ราว พ.ศ.500

 นักวิชาการบางท่าน เช่น รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม ไม่เห็นด้วย โดยมีความเห็นว่า เมืองดังกล่าวน่าจะอยู่ใกล้กับลำน้ำที่ไหลออกทะเลในเขตอ่าวจังหวัดกระบี่มากกว่า อันนี้ก็คงต้องให้นักวิชาการค้นคว้าหาหลักฐานมาพิสูจน์ให้แน่ชัดกันต่อไป ที่แน่ๆ พื้นที่บริเวณเมืองตะกั่วป่า เคยเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ในสมัยโบราณ มีพ่อค้าชาวต่างชาติมาตั้งสถานีพักสินค้า และอาจเป็นแหล่งเหมืองแร่มาก่อนด้วย

 ตะกั่วป่า จึงเป็นท้องถิ่นอีกแห่งหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานและน่าสนใจในการศึกษาค้นคว้า เพราะยังมีปริศนาบางอย่างที่รอการค้นพบจวบจนทุกวันนี้

"เรือนอินทร์ หน้าพระลาน"

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ