ข่าว

วิเคราะห์ทฤษฎีคลื่นแผ่นดินไหวตึกสูงกทม.ยังเสี่ยง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วิเคราะห์ทฤษฎีคลื่นแผ่นดินไหว ตึกสูงกทม.ยังเสี่ยง

             เหตุการณ์แผ่นดินไหว 7.8 ในประเทศเนปาลสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง เหตุโศกนาฏกรรมเกิดขึ้น แม้จนถึงขณะนี้จะมีนานาประเทศทั่วโลกระดมให้ความช่วยเหลือชาวนปาลอย่างต่อเนื่อง แต่ในด้านความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิตของประชาชนชาวเนปาลมีการคาดคะเนกันว่า ตัวเลขการเสียชีวิตอาจจะแตะหลักหมื่น เนื่องจากยังมีอีกหลายพื้นที่ของเนปาลที่การช่วยเหลือยังเข้าไม่ไปถึง

             จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่พรากชีวิตประชาชนชาวเนปาลหลายพันคนครั้งนี้ ทำให้ทั่วโลกต่างหวาดวิตกไปต่างๆ นานาว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ไม่ต่างไปจากประเทศไทย เพราะหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวที่เนปาลพบว่า หลายฝ่ายออกมาตั้งข้อสังเกตว่า "ไทยมีสิทธิจะเป็นเหยื่อของแผ่นดินไหวได้หรือไม่"
 
             เกี่ยวกับความกังวลดังกล่าว รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวระดับ 7.8 ทางตอนกลางของประเทศเนปาลที่สร้างความเสียหายร้ายแรงในกรุงกาฐมาณฑุ และเมืองโพคารา ไม่น่าจะส่งผลกระทบใดๆ ต่อประเทศไทย โดยเฉพาะสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ใน กทม.คงไม่มีผลกระทบใดๆ แต่ส่วนตัวมีความเป็นห่วงว่า หากเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในประเทศพม่า หรือทางพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีรอยเลื่อนของแผ่นเปลือกโลก อาจส่งแรงสั่นสะเทือนมายังพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครพื้นที่เป็นดินอ่อน

             "ตามทฤษฑีของคลื่นแผ่นดินไหว เมื่อวิ่งมาเจอดินอ่อนคลื่นจะเพิ่มความรุนแรงเป็น 2 เท่า ตรงนี้นับว่าเป็นผลกระทบ อย่างเช่นแผ่นดินไหวที่พม่าระดับ 5 ผ่านเชียงรายลงมา เมื่อถึงกรุงเทพมหานครอาจจะเหลือระดับ 1 แต่เมื่อมาเจอดินอ่อนอาจจะเพิ่มเป็นระดับ 1.8 ได้"

             รศ.สิริวัฒน์ อธิบายต่อว่า กรุงเทพมหานครมีชั้นดินอ่อน ดังนั้นหากมองในแง่ผลกระทบต่อสิ่งปลูกสร้าง รวมถึงตึกสูง เมื่อได้รับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวจะทำให้สิ่งปลูกสร้างโดยเฉพาะตึกสูงที่มีความสูงตั้งแต่ 10 ชั้นขึ้นไป จะเกิดความยืดหยุ่น แรงกระแทกจากแผ่นดินไหวจะกระจายทั่วตึกจะเกิดการสั่นไหว แต่ตึกสูงที่ก่อสร้้างหลังปี 2540 คงไม่น่าห่วง เพราะเรามีกฎหมายกำหนดให้การออกแบบและก่อสร้างให้รองรับแผ่นดินไหวอยู่แล้ว จึงไม่น่าห่วง

             "ที่น่าห่วงก็คือ ตึกที่ก่อสร้างก่อนปี 2540 จากการสำรวจพบว่ามีประมาณ 500 ตึก  เพราะตึกเหล่านี้ไม่ได้ถูกออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหว เนื่องจากก่อสร้างก่อนกฎหมายบังคับ จึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบหากเกิดแผ่นดินไหวจนเกิดความเสียหายได้ แต่อาคารเหล่านี้สามารถขออนุญาตเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารให้รองรับแผ่นดินไหวเพิ่มเติมได้ ซึ่งควรเร่งดำเนินการ  นอกจากตึกสูงแล้ว คืออาคารบ้านเรือนที่มีขนาดการก่อสร้างที่มีความสูง 3 ชั้นลงมา ส่วนมากโครงสร้างจะไม่ค่อยแข็งแรง หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงเสี่ยงที่จะพังเสียหายได้ง่าย” รศ.สิริวัฒน์ กล่าว

             เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย แสดงความกังวลว่า นอกจากตึกสูงที่ก่อสร้างก่อนปี 2540 แล้ว ประชาชนที่พักอาศัยในอาคารที่มีความสูงต่ำกว่า 3 ชั้นลงมา ควรจะระมัดระวัง ซึ่งอาคารที่มีความสูงน้อยกว่า 3 ชั้น มีโอกาสเสียหายได้มากกว่าตึกสูงมากกว่า เพราะแรงกระแทกจากแผ่นดินไหวจะผลักฐานรากโครงสร้างอาคารเป็น 10 ตัน แต่หากเป็นตึกสูงแรงกระแทกจะกระจายไปยังชั้นต่างๆ ดังนั้นอาคารยิ่งมีจำนวนมากชั้นแรงกระแทกจะยิ่งน้อยลง ทำให้ความเสียหายไม่รุนแรง ดังนั้นอาคารที่ไม่สูงนักจะได้รับความเสียหายมากกว่า เพราะการกระจายของแรงกระแทกจะทำได้น้อย

             "ยกตัวอย่างกรณีแผ่นดินไหวที่เชียงราย เมื่อเจอแรงแผ่นดินไหวจะสังเกตได้ว่า บ้านชั้นเดียวที่ประชาชนอาศัยนั้น พังเสียหายอย่างมาก แต่ตึกสูงอย่างโรงพยาบาลพบเพียงความสั่นไหวของตึกเท่านั้น" เลขาธิการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กล่าว

             สอดคล้องกับข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว "สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" โดยยกข้อมูลจากการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากแผ่นดินไหว 6.3 ที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อปี 2557 โดยผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์เหตุแผ่นดินไหวภาคเหนือและการสร้างมาตรการป้องกัน และตั้งรับในระดับภาพรวมของประเทศ ซึ่งผลจากการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายทีมวิจัยพบโครงสร้างอาคารสาธารณะและบ้านเรือนหลายแห่งในภาคเหนือเสียหาย โดยพบความเสียหายใน อ.แม่ลาว มากที่สุด และพบว่า อาคารที่ต่ำกว่า 15 เมตร ที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของกฎกระทรวง และไม่ได้ออกแบบโดยวิศวกรมีความเสียหายจำนวนมาก บางส่วนถล่มตามหลังเหตุแผ่นดินไหว เนื่องจากโครงสร้างเสียหาย

             ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวบอกว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ภาคเหนือในครั้งนั้นสร้างความเสียหายมากมาย และความสั่นสะเทือนยังรู้สึกได้ไปถึงกรุงเทพฯ ที่ตั้งอยู่บนดินอ่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าห่วงว่า หากเกิดแผ่นดินไหวที่แรงกว่านี้ และใกล้กว่าจะส่งผลเสียมากกว่านี้ โดยมีรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ที่อยู่ห่างออกไปเพียง 200-300 กิโลเมตร ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องอันตรายมากหากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในพื้นที่ใกล้ๆ เพราะกรุงเทพฯ ตั้งอยู่บนพื้นดินอ่อนที่สามารถขยายแรงแผ่นดินไหวได้ถึง 3-4 เท่า

             ปัจจุบันไทยมีตึกสูงในกรุงเทพฯ ที่มีความสูงตั้งแต่ 150 เมตรขึ้นไปประมาณกว่า 70 แห่ง โดยส่วนใหญ่จะสร้างเสร็จในปี 2540 ซึ่งตึกดังกล่าวก่อสร้างตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ในปี 2540 เพื่อรองรับแรงสั่นสะเทือนหากเกิดแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า ในจำนวนตึกสูงดังกล่าวพบว่ามีประมาณ 5-6 แห่ง ที่สร้างเสร็จก่อนปี 2540 จึงเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมากหากเกิดเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง...

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ