ข่าว

ฟื้นฟูสภาพน้ำคลองแม่ข่า เริ่มที่ต้นตอผุดบ่อบำบัดชุมชน ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ฟื้นฟูสภาพน้ำคลองแม่ข่า เริ่มที่ต้นตอผุดบ่อบำบัดชุมชน ? : โดย...ศุภชัย วิเศษสรรค์

 
                             ผ่านมาแล้วหลายทศวรรษที่ชาวเชียงใหม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำในคลองแม่ข่าเน่าเหม็นและถูกรุกล้ำจนทำให้สภาพคลองจากในอดีตที่เป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำ หล่อเลี้ยงชีวิตของคนเชียงใหม่มาอย่างยาวนานควบคู่กับแม่น้ำปิงกลับกลายสภาพเป็นรางรับน้ำเสียและขยะจำนวนมหึมา และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างช่วยแก้ปัญหา หวังคืนน้ำใสให้คลองแม่ข่าและช่วยให้ชาวเชียงใหม่ โดยเฉพาะคนที่มีบ้านเรือนอยู่ริมคลองไม่ต้องทนสูดดมกลิ่นเน่าเหม็นของน้ำในคลอง แต่ก็ปฏิเสธได้ยากว่า ปัญหาดังกล่าวถือเป็นปัญหาเรื้อรังมานานจนกระทั่งปัจจุบัน
 
                             นางศรีจันทร์ ห่านเกษตร ประธานชุมชนฟ้าใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ที่มีบ้านติดริมคลอง เล่าย้อนถึงคลองแม่ข่าในอดีตว่า เมื่อก่อนน้ำในคลองแม่ข่าและลำคลองคูไหวใสสะอาดชาวบ้านสามารถลงไปซักเสื้อผ้าและอาบน้ำในคลองได้ ในน้ำก็มีปู มีปลาอาศัยชุกชุม ชาวบ้านก็จับทำเป็นอาหารกินได้ปกติ แต่ปัจจุบันคลองแม่ข่าและคลองคูไหวสกปรกมากน้ำในคลองมีสีดำเข้มกลายเป็นน้ำเน่าเสีย ชาวบ้านต้องทนดมกลิ่นเหม็นตลอดจนกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว และมีขยะที่ถูกทิ้งจากชุมชนต่างๆ หรือขยะบางส่วนก็ทิ้งริมคลอง เมื่อเวลาฝนตก ขยะก็ไหลลงคลองหมด บางคนมักง่ายก็ทิ้งที่นอนขนาดใหญ่ บางทีก็เจอตู้ไม้เก่า เก้าอี้ไม้ที่ไม่ใช้แล้วถูกทิ้งลงคลอง เป็นต้น อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยแก้ปัญหาจริงๆ อยากให้น้ำใสสะอาดเหมือนเดิม คนที่อยู่ริมคลองจะได้ไม่ต้องทนกับกลิ่นเหม็นของน้ำเน่าอีก
 
                             ขณะที่ ผศ.ดร.วสันต์ จอมภักดี ประธานคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม บอกว่า ปัญหาหลักๆ คือ 1.ด้านกายภาพ กล่าวคือคลองแม่ข่าไม่ได้รับการดูแลรักษาตามแนวเขต ไม่มีการดูแลสิ่งก่อสร้างริมคลองที่มีอยู่ เช่น ทางเท้าสองฝั่งคลองในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ที่มีระยะยาวกว่า 2 กิโลเมตร เป็นต้น ที่ผ่านมาเมื่อไม่มีการดูแลรักษาและปล่อยปละละเลย ปัญหาก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นจนปัจจุบันทำให้สภาพสองฝั่งริมคลองถูกรุกล้ำบางพื้นที่มีการสร้างห้องครัวล้ำเข้าไปในคลอง เป็นต้น และ 2.ด้านคุณภาพน้ำ ปัจจุบันจะพบว่าคลองแม่ข่ากลายเป็นรางรับน้ำเสียที่ถูกปล่อยมาจากหลากหลายแห่ง ทั้งสถานประกอบการต่างๆ บ้านเรือนประชาชนและตลาดสด
 
                             สิ่งที่ควรทำอันดับแรกๆ คือ ขอคืนทางเท้าริมคลองแม่ข่าที่เทศบาลสร้างไว้ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ต้องปรับปรุงดูแลรักษาให้ใช้ประโยชน์ได้และต้องปฏิบัติการชิงพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องลงพื้นที่ขอคืนพื้นที่ที่ถูกรุกล้ำ ต้องให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมให้ได้ ซึ่งที่จริงแล้วประชาชนที่อยู่ริมคลองส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ทั้งรับกลิ่นเน่าเหม็นของน้ำในคลอง ส่วนใหญ่ประชาชนให้ความร่วมมืออยู่แล้ว หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่องเหล่านี้สร้างความเข้าใจให้แก่ชาวบ้าน มีงบประมาณสนับสนุน ซึ่งงบประมาณที่นำมาสนับสนุนถือว่าไม่สูงมากนัก และท้องถิ่นย่อมมีงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว หากทำได้ย่อมช่วยแก้ไขปัญหาได้
 
                             ผศ.ดร.วสันต์ บอกอีกว่า การปล่อยน้ำเสียลงคลองแม่ข่าต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ เช่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสนับสนุนงบประมาณให้แต่ละครัวเรือนหรือละชุมชนสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียหรือบ่อเกรอะ หรือบ่อซึม หากมีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียแบบนี้ได้ตั้งแต่ระดับครัวเรือนหรือชุมชนก็ช่วยดักน้ำเสียได้ในขั้นต้น ที่สำคัญตลาดสดต่างๆ ต้องมีการสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ท่อระบายน้ำ เพราะปริมาณน้ำเสียจากตลาดสดต่างๆ เมื่อรวมกันแล้วย่อมมากกว่าน้ำเสียจากบ้านเรือนประชาชน ท้องถิ่นต้องสนับสนุนงบประมาณและภาครัฐต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักและจริงจังถึงจะแก้ปัญหาได้ ส่วนเทศบาลต้องมีแผนสร้างระบบรับน้ำเสียที่ชัดเจน เพื่อรองรับและแก้ปัญหาให้ครบวงจรต่อไป
 
                             หากภาครัฐรณรงค์การแก้ปัญหาจากระดับรากหญ้าแทนที่จะมองไปที่โครงการใหญ่ใช้งบหลายร้อยหลายพันล้านบาท เช่น บ่อบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่ แล้วหันมาแก้ตรงจุด โดยอาจใช้งบประมาณประจำปีของท้องถิ่น เช่น งบประมาณขุดลอกคลองที่แก้ปัญหาไม่ถึงต้นตอปัญหาดัง แล้วนำมาเป็นงบสนับสนุนสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านและส่งเสริมสร้างบ่อเกรอะหรือบ่อซึมระดับครัวเรือนหรือชุมชนและบ่อบำบัดน้ำเสียตลาดต่างๆก็จะแก้ปัญหาตรงจุด หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขผิดทิศผิดทาง จะไม่แต่คลองแม่ข่าเท่านั้น คลองสายต่างๆ ก็จะกลายสภาพเป็นรางรับน้ำเสียและขยะจำนวนมาก ฉะนั้นหากแก้ปัญหาคลองแม่ข่าได้ตรงจุดก็จะเป็นแม่แบบการแก้ปัญหาคลองเน่าเสียให้ลำคลองอื่นๆได้ในอนาคต
 
                             ส่วน นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ยอมรับว่า ปัญหาคลองแม่ข่าเป็นปัญหาหมักหมมมานานต้องใช้เวลาแก้ไข ที่ผ่านมาจังหวัดได้ลงพื้นพร้อมทั้งจัดประชุมร่างแผนแม่บทพัฒนาและแก้ไขคลองแม่ข่าอย่างยั่งยืน ขณะนี้แผนดังกล่าวใกล้เสร็จแล้ว สำหรับแผนนี้จะเร่งแก้ปัญหาระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว แก้ปัญหาทั้งต้นน้ำ เริ่มจาก อ.แม่ริม ที่ปัญหาไม่รุนแรง กลางน้ำเขตตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีปัญหารุกล้ำและน้ำเน่าเสียรุนแรง และปลายน้ำพื้นที่ตอนใต้ของ อ.เมืองและพื้นที่ อ.หางดง ที่เป็นแหล่งรับน้ำก่อนไหลลงสู่แม่น้ำปิง จังหวัดจะของบประมาณส่วนกลางเข้าช่วยหวังว่าภายใน 1-2 ปีจากนี้จะทำให้คลองแม่ข่ามีน้ำใสตลอดปี
 
                             การดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าน่าพอใจ เพราะการแก้ปัญหาคืบหน้าตลอด อย่างน้อยปีนี้เป็นปีแรกที่ประชาชนลอยกระทงในคลองแม่ข่าได้ จากนี้ไปทุกหน่วยงานจะไปทำหน้าที่ของตนเองให้ดี เช่น การตรวจสอบโรงแรมและตรวจสอบหอพักต่างๆ ว่ามีการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงท่อระบายน้ำหรือไม่ ระบบบำบัดน้ำเสียของเทศบาลได้แยกน้ำเสียไปบำบัดหรือไม่ และสำรวจการรุกล้ำพื้นที่ที่อยู่ริมคลอง ที่สำคัญต้องสร้างจิตสำนึกให้คนที่ใช้ประโยชน์จากคลองแม่ข่า ให้ช่วยรักษาความสะอาด สร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน สร้างความเป็นเจ้าของคลองแม่ข่าร่วมกัน หากทุกภาคส่วนร่วมแก้ไขได้ตามแผนก็เชื่อว่าจะเป็นโครงการหนึ่งที่จะทำให้สำเร็จได้ในเวลาอันไม่นานนี้
 
                             ความฝันของชาวเชียงใหม่ที่ต้องการเห็นคลองแม่ข่าและคลองสาขาสายต่างๆ มีน้ำใส ไม่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ไม่มีขยะเต็มคลอง และไม่มีน้ำเน่าส่งกลิ่นเหม็นสร้างความทุกข์ให้ชาวบ้านจะเป็นจริงได้หรือไม่ คงต้องฝากความหวังไว้กับ จังหวัดเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงชาวบ้านที่ใช้ประโยชน์เองว่าจะดำเนินการจริงจังตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่และจะเกิดผลเป็นรูปธรรมได้อีกนานเพียงใดคงต้องติดตามต่อไป
 
 
 
 
 
 
--------------------------
 
(ฟื้นฟูสภาพน้ำคลองแม่ข่า เริ่มที่ต้นตอผุดบ่อบำบัดชุมชน ? : โดย...ศุภชัย วิเศษสรรค์)
 
 
 
 
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ