ข่าว

นาพู่ ต.ส่งเสริมไอโอดีนไก่ไข่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นาพู่ ต.ส่งเสริมไอโอดีนไก่ไข่...ลดปัญหาโรคเอ๋อในเด็กเป็นศูนย์ : ธนภัท กิจจาโกศล ... รายงาน

 

                           ช่วงเวลา 5 ปี ที่อบต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในพื้นที่เต็มรูปแบบ ตั้งแต่การปลูกผักพื้นบ้านและเลี้ยงไก่ไข่เสริมไอโอดีน เพื่อป้องกันโรคเอ๋อและปัญญาอ่อนของเด็กในชุมชนผ่านการสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือกองทุนสุขภาพตำบล ภายใต้งบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกลายเป็นชุมชนต้นแบบในปัจจุบันที่สามารถลดและแก้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนของประชากรได้ชัดเจน จากเดิมที่มีเด็กทั้งตำบลกว่า 20 คน ปัจจุบันไม่มีเด็กป่วยจากโรคนี้อีกเลย ส่วนเด็กที่มีภาวะโรคเอ๋อก็สามารถพัฒนาได้ สมองดี มีไอคิวดีขึ้น สามารถเดินและทำกิจกรรมในชุมชนได้ปกติ

                           "อำนวย อินทรธิราช" นายก อบต.นาพู่ บอกว่า เดิมพื้นที่นี้มีปัญหาประชากรขาดสารไอโอดีนจนมีตัวเลขเด็กที่เกิดมามีภาวะเป็นโรคเอ๋อและปัญญาอ่อน 20 คน แต่หลังจากที่ อบต.นาพู่ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ช่วยเหลือและให้ความรู้ชาวบ้านเกี่ยวกับปัญหาภาวะการขาดสารไอโอดีน ตั้งแต่ปี 2551 ผ่านมา 2 ปี ปัญหาเด็กขาดสารไอโอดีนได้รับการแก้ปัญหาเด็กที่เป็นโรคเอ๋อมีกล้ามเนื้อดีขึ้น สมองดี ไอคิวดี เดินได้และทำกิจกรรมได้ หลังบริโภคอาหารเสริมไอโอดีน จากการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนด้วยการสร้างต้นแบบการปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ไอโอดีนเพื่อนำมาบริโภคกันเอง

                           "เริ่มตั้งแต่หญิงตั้งครรภ์ เด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่วัยทำงาน รวมถึงผู้สูงอายุต้องได้รับอาหารที่มีไอโอดีนอย่างเหมาะสม สำหรับหญิงตั้งครรภ์ในตำบลนาพู่ทุกคนจะได้รับไข่ไก่เสริมไอโอดีนฟรี เพื่อส่งเสริมสุขภาพ ส่งผลให้ปัญหาการขาดสารไอโอดีนลดลงและหายไปจากพื้นที่ในที่สุด สถานการณ์ภาวะขาดสารไอโอดีนในพื้นที่เริ่มลดลงส่งผลดีแก่ประชนชนในหมู่บ้าน หลังเริ่มโครงการโดยมีการแจกแม่ไก่ไข่พันธ์ไข่ครัวเรือนละ 5 ตัว เลี้ยงด้วยอาหารที่เสริมไอโอดีนเข้าไปคนก็ได้บริโภคไข่ที่มีไอโอดีน ตัวเลขเด็กเป็นโรคเอ๋อหลังจากเริ่มโครงการมาจึงเป็นศูนย์ไม่มีคนป่วยในตำบลอีก ส่วนคนที่ป่วยก่อนหน้านี้ก็ได้รับการดูแลและมีภาวะที่ดีขึ้น" นายกอบต.นาพู่ กล่าวและว่า

                           การปลูกผักพื้นบ้านและเลี้ยงไก่ไข่เสริมไอโอดีนนั้น ผักที่ปลูกตามกรรมวิธีจะได้รับธาตุไอโอดีนนำไปสะสมในส่วนต่างๆ ของลำต้นในรูปของสารอินทรีย์ที่มีความคงตัวและไม่เสื่อมสลายเมื่อถูกความร้อน แสงแดดหรือการปรุงเป็นอาหาร ส่วนไก่ไข่ที่มีการเลี้ยงด้วยอาหารที่ผสมสารโพแทสเซียมไอโอเดทที่มีความเข้มข้นสูง ทำให้ได้ไข่ไก่ที่มีไอโอดีนเพิ่มสูงขึ้น เกิดความคงตัวของธาตุไอโอดีนในเซลล์ของไข่แดง สูตรอาหารเลี้ยงไก่ไข่ที่นำมาใช้ในพื้นที่ซึ่งชาวบ้านจะผสมอาหารไก่ไข่ตามสูตรและใช้เลี้ยงไก่ในแต่ละครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายค่าอาหารไก่เพียงวันละ 1 บาทต่อตัว ขณะที่ได้ไข่ไก่กลับมาบริโภคประมาณวันละ 4 ฟองต่อวันในแต่ละครัวเรือน

                           ขณะที่ "ปัณณวิทย์ สุภโภษ" พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนาพู่ ผู้ดูแลโครงการดังกล่าว เล่าว่า คนในหมู่บ้านจะได้รับการสนับสนุนไก่พันธ์ไข่ครัวเรือนละ 5 ตัว โดยมีการพัฒนาสูตรอาหารไก่ที่ผสมไอโอดีนเข้าไปเพื่อเลี้ยงจนไก่ออกไข่ เมื่อนำไข่มาตรวจสอบพบว่าปริมาณสารไอโอดีนในไข่ไก่สูงขึ้นจากปกติ 90 ไมโครกรัมต่อฟอง เพิ่มเป็น 160-200 ไมโครกรัมต่อฟอง ทำให้ครัวเรือนที่บริโภคไข่ไก่ที่เลี้ยงด้วยตนเองได้รับไอโอดีนที่เพียงพอ ส่วนไข่ที่เหลือจากบริโภคก็นำมาขายร่วมกับกลุ่มแม่บ้าน และอบต.มีรายได้เพิ่มขึ้น

                           "ผลเจาะส้นเท้าเด็กปี 2552-2556 ไม่พบภาวะการขาดสารไอโอดีนในเด็ก หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการสนับสนุนไข่เสริมไอโอดีนฟรีไม่พบภาวะบกพร่องไอโอดีนเช่นกัน ส่วนกลุ่มเด็กและผู้ป่วยที่ขาดสารไอโอดีนก่อนหน้าที่จะเริ่มโครงการพบว่าเมื่อบริโภคไข่ไก่เสริมไอโอดีนมีคุณภาพชีวีตดีขึ้น กลุ่มผู้สูงอายุกระฉับกระเฉงขึ้น ในปี2556 โครงการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในพื้นที่ อบต.นาพู่ ได้รับเงินสนับสนุน 125,000 บาท ในการเลี้ยงไก่ไข่เสริมไอโอดีน มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการเป็นหญิงตั้งครรภ์ 150 คน หญิงให้นมบุตร 112 คน เด็กอายุ 0-15 ปี 835 คน ที่ต้องบริโภคไข่เสริมไอโอดีนอย่างน้อย 3 ฟองต่อสัปดาห์ ประชาการในพื้นที่ทั้งหมด 12,513 คน ปัจจุบนไม่มีผู้ขาดสารไอโอดีนรายใหม่" นางปัณณวิทย์ กล่าว

                           ส่วน ด.ช.ธนดล นิสกุล อายุ 10 ปี นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านนาพู่ บอกว่า ที่บ้านเลี้ยงไก่ไข่ 12 ตัว ได้ไข่ไก่มาไว้กินทุกวัน วันละ 4-5 ฟอง ส่วนใหญ่แม่เก็บไว้กิน หรือบางครั้งมีเหลือก็เอาไปขายได้ฟองละ 5 บาท ที่บ้านมีด้วยกัน 4 คน เวลาที่ไม่มีอะไรทำกับข้าวส่วนใหญ่แม่ก็จะนำไข่มาทำอาหารให้กิน ข้อดีคือไม่ต้องซื้อทุกๆ บ้านก็เลี้ยงเหมือนๆ กัน คิดว่าเป็นโครงการที่ดีของ อบต.อยากให้ทำต่อไป

                           ด้าน "ประเวศ บุตรแก้ว" อาชีพช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในหมู่บ้านและทำนา บอกว่า ได้รับการสนับสนุนไก่พันธุ์ไข่มาครั้งละ 5 ตัว ซึ่งได้รับมา 2 รอบแล้ว 10 ตัว แต่เหลือแค่ 5 ตัว ไม่ต้องให้ยาอะไรมากนัก เลี้ยงง่าย ไก่จะไข่ให้กินทุกวัน โครงการนี้เป็นโครงการที่มีประโยชน์ ประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องซื้อหา ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น ซื้ออาหารไก่ที่เขาผสมไอโอดีนแล้วมาให้ไก่กินแค่วันละ 2 ขีดต่อวัน ได้ไข่วันละ 4-5 ฟอง มีลูก 3 คน ประหยัดค่าใช้จ่ายไปมาก มีไข่เดือนละ 100 กว่าฟอง ส่วนใหญ่จะเหลือก็แจกลูกหลานให้ไปกินกัน 

                           นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ใช้งบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ปีละประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อให้ชุมชน หรือ อบต.ทำโครง การดีๆ และนำไปเป็นต้นแบบใช้ในพื้นที่อื่นๆ เชื่อว่าเมื่อเห็นผลดีต่อสุขภาพและป้องกันโรคอย่างยั่งยืนน่าขยายไปพื้นที่อื่นๆ ด้วย โดย สปสช.มีกองทุนชุมชนที่นำไปดำเนินการร่วมกันได้ ซึ่งพบว่าชุมชนและท้องถิ่นมีศักยภาพในการทำงานมาก 

                           "แต่ละปี สปสช.ต้องเตรียมเงินไว้ 115,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของคนทั้งประเทศ ถ้าดูแลสุขภาพให้เจ็บป่วยน้อยลง คนในชุมชนแข็งแรง จะประหยัดเงินงบไปทำอย่างอื่นได้มาก การทำโครงการดีๆ เพื่อช่วยลดการเจ็บป่วยและเผยแพร่ไปสู่พื้นที่อื่นๆ ถือเป็นบุญกุศลและเป็นแนวทางที่ถูกต้อง" นพ.วินัยกล่าวและว่า

                           การขาดสารไอโอดีนเป็นปัญหาที่สำคัญนอกจากมีอาการคอพอกแล้วยังส่งผลกระทบร้ายแรงในทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ถึงอายุ 2-3 ปี ถ้ามารดาขาดสารไอโอดีนรุนแรงระยะตั้งครรภ์ จะทำให้การพัฒนาการของสมองทารกผิดปกติ เป็นสาเหตุลดความเฉลียวฉลาดและลดการพัฒนาสติปัญญาของเด็ก เมื่อขาดสารไอโอดีนรุนแรงจะทำให้เกิดภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนในมารดา อาจทำให้ทารกสมองพิการแต่กำเนิด เชื่องช้าร่างกายแคระแกร็น สมองทึบ เป็นสาเหตุของปัญญาอ่อนหรือที่เรียกว่าโรคเอ๋อ ซึ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนไอโอดีนมากที่สุด

                           สำหรับการส่งเสริมให้ประชาชนได้รับสารไอโอดีนอย่างเหมาะสมผ่านกลไกกองทุนสุขภาพตำบล อบต.นาพู่ อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี ที่เป็นกลไกระดับพื้นที่ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในท้องถิ่น เป็นต้นแบบในโครงการวิจัยนำร่องพื้นที่แห่งแรกในไทยที่ประสบความสำเร็จและสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ได้ทันที

 

 

---------------------------

(นาพู่ ต.ส่งเสริมไอโอดีนไก่ไข่...ลดปัญหาโรคเอ๋อในเด็กเป็นศูนย์ : ธนภัท กิจจาโกศล ... รายงาน)

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ