ข่าว

เหล้าพื้นบ้าน...โกอินเตอร์

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหล้าพื้นบ้าน...โกอินเตอร์ เพิ่มมูลค่าข้าว-อาหารไทย? : โดย...วีณา จันทร์เรือง

                         ปัจจุบันสินค้าโอท็อปของไทยได้รับความนิยมแพร่หลายทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุราหรือเหล้าพื้นบ้านที่นำมาใส่บรรจุภัณฑ์ หรือแพ็กเกจจิ้งให้สวยงามเป็นหนึ่งในสินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือ "โอท็อป" สินค้ายอดนิยมของคนไทยมานานเกินสิบปีแล้ว แต่ทว่าพัฒนาการของสุราพื้นบ้านของไทยเหมือนจะชะงักงันอยู่แค่นั้น ซึ่งผิดกับเหล้าพื้นบ้านของชาติอื่น เช่น "สาเก" ของประเทศญี่ปุ่น หรือ "วอดก้า" ของประเทศรัสเซีย ที่กลายเป็นของขึ้นหิ้งและโกอินเตอร์ไปนานแล้ว
 
                         เรื่องการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าโอท็อปของไทยนั้น "ผดุง ลิ้มเจริญรัตน์" เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้นำเสนอไอเดียการพัฒนาเหล้าพื้นบ้านของไทยให้ก้าวไกลไปสู่ระดับอินเตอร์เหมือนผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชาติอื่นบ้าง โดยเขามองว่า เหล้าพื้นบ้านของไทยชนิดต่างๆ ที่มีอยู่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยมาแต่สมัยโบราณ แต่ยังไม่มีการพัฒนาในเรื่องบรรจุภัณฑ์ (แพ็กเกจจิ้ง) และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเท่าที่ควร จึงทำให้เสียโอกาสในการแข่งขันกับสินค้าต่างชาติ
 
                         เขายกตัวอย่าง "กระแช่" ที่เหมือนเหล้าสาเกของญี่ปุ่น ก็เลยมาคิดว่า ถ้าจะเปลี่ยนจากสาเกญี่ปุ่นมาเป็นกระแช่ไทย หรือ "อุ" โดยใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ "ทับศัพท์" ไปเลย และที่สำคัญคือ ถ้าสามารถหาบรรจุภัณฑ์เป็นถ้วยเบญจรงค์ หรือขวดเซรามิกสวยๆ บรรจุลงไป แล้วเติมสารแต่งกลิ่นลงไปสักหน่อย เช่น กลิ่นข้าวเหนียว, กลิ่นรำข้าว หรือกลิ่นผลไม้ชนิดต่างๆ แล้วบรรจุแพ็กเกจจิ้งดีๆ เสร็จแล้วก็นำไปวางขายที่ "สนามบินสุวรรณภูมิ" เพื่อให้คนต่างชาติที่เดินทางมาไทยสามารถเลือกซื้อได้เลย โดยอาจมีคำแนะนำว่า อุ หรือกระแช่ สามารถรับประทานกับอาหารไทยชนิดใดได้บ้าง
 
                         "เหมือนกับฝรั่งที่เอาไวน์มากินกับเนื้อ โดยเราอาจแนะนำเขา เช่น แกงไก่ กินคู่กับอุ หรือกระแช่ เป็นต้น ซึ่งฝรั่งเขาถือบรรยากาศเป็นเรื่องใหญ่และถ้าเขาเห็นเราบรรจุใส่ขวดเบญจรงค์ เผลอๆ เขาจะดื่มเสร็จแล้วเก็บขวดเบญจรงค์ไว้ด้วยซ้ำ"
 
                         "ผดุง" กล่าวว่า ปัจจุบันไทยสามารถเก็บภาษีได้จากสุราพื้นบ้านประเภทอุหรือกระแช่ ปีละหลายร้อยล้านบาท แต่ถ้าสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพมาตรฐานสากลก็จะทำให้ช่วยเพิ่มรายได้จากภาษีให้แก่ประเทศชาติได้อย่างมหาศาล ดังนั้นจึงประสานให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ทำการกลั่นแอลกอฮอล์ให้มีความบริสุทธิ์ 100% ซึ่งโดยปกติแล้วแอลกอฮอล์จะมี 2 ชั้น คือ เมทิลแอลกอฮอล์ และเอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งแอลกอฮอล์ที่กินไม่ได้ คือ เมทิลแอลกอฮอล์ ก็ให้เอาไปทำยาล้างแผล ส่วนเอทิลแอลกอฮอล์ที่ดื่มได้ก็แยกออกมา ซึ่งจะทำให้ได้แอลกอฮอล์ที่มีความบริสุทธิ์มากขึ้น
 
                         "เดิมทีที่เราต้มเหล้าพื้นบ้านจากข้าวเหนียว หรือข้าวเจ้า เราใช้กรรมวิธีแบบชาวบ้าน คือ ต้มเสร็จแล้วดื่มกันเลย แต่พอเก็บไว้สัก 2-3 วัน ก็จะดื่มไม่ได้ เพราะมันเริ่มบูด พอดื่มก็จะท้องเสีย ซึ่งสาเกของญี่ปุ่นก็ใช้กรรมวิธีเดียวกับเรา แต่เขาผ่านการกลั่นกรองมาอย่างดี และแยกแอลกอฮอล์ออก ทำให้เหล้าประจำชาติกลายเป็นสินค้าระดับอินเตอร์ไปแล้ว" ผดุง กล่าว
 
                         ส่วนเรื่องแพ็กเกจจิ้ง ไม่ค่อยห่วงมากนัก เพราะเวลาไปต่างจังหวัด ชาวบ้านมักจะโชว์ว่ามีไวน์ชั้นดีและติดฉลากสวยงามมาก เพราะเมื่อก่อนเน้นการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งทำให้ฉลากสวยงามาก เหมือนไวน์ขวดละเป็นหมื่นบาท เพราะมัวแต่เพิ่มมูลค่าฉลาก แต่ไม่ได้พัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานมากขึ้น
 
                         "ผมเลยให้ไอเดียชาวบ้านไปว่า คุณเห็นกระเช้าของขวัญมั้ย เมื่อก่อนเราใส่ไวน์หรือเหล้าเข้าไป แต่ปัจจุบันค่านิยมสังคมเราเริ่มเปลี่ยนไปว่า ให้เหล้าเท่ากับแช่ง ทำไมเราถึงไม่พัฒนาเป็นน้ำผลไม้ ใส่ขวดแชมเปญสวยๆ บรรจุลงไปในกระเช้าแทนเหล้า" ผดุง กล่าว 
 
                         ส่วนความคืบหน้าในการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์นั้น "ผดุง" ยอมรับว่า ปัจจุบันขั้นตอนการพัฒนาสินค้าโอท็อปยังไม่ได้ทำอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก แต่ก็เริ่มพัฒนาบ้างแล้ว โดยให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ไปกลั่นแอลกอฮอล์ให้บริสุทธิ์จนได้เหล้าที่มีความแรง 40 ดีกรี แล้วเติมกลิ่น เช่น กลิ่นรำข้าว, กลิ่นอ้อย หรืออื่นๆ ลงไป เหมือนวอดก้าของรัสเซีย ที่มีการพัฒนาเรื่องกลิ่นชนิดต่างๆ มากมาย 
 
                         สำหรับขั้นตอนต่อไปคงจะต้องมีการศึกษากันอย่างจริงจังว่า เราจะต่อยอดแนวความคิดนี้ไปอีกได้อย่างไร เช่น ถ้าเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้ง แล้วรับประทานคู่กับอาหารไทยๆ จะเข้ากันได้หรือเปล่า หรืออาจจะลดดีกรีลง ซึ่งเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญเรื่องสุราพื้นบ้านที่จะต้องวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจังกันในอนาคต เพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
 
                         เมื่อถามถึงกระแสการรณรงค์ให้เลิกดื่มเหล้า รวมทั้งกระเช้าของขวัญที่บรรจุเหล้าด้วยนั้น "ผดุง" มองว่า ไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะสามารถที่จะเน้นการส่งออกไปขายต่างประเทศได้หรือเน้นขายให้ชาวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองไทยได้ รวมทั้ง "ร้านอาหารไทย" ในต่างแดน ที่มีอยู่หลายพันแห่งทุกประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางในการกระจายสินค้าโอท็อปของไทยได้อีกเป็นจำนวนมาก
 
                         ผดุง สรุปว่า แนวคิดเรื่องการนำสุราพื้นบ้านมาบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดทั้งมวลนี้ สุดท้ายแล้วก็คือ การ "เพิ่มมูลค่า" ให้แก่ "ข้าวไทย" นั่นเอง เพราะแทนที่จะนำเอาข้าวไปขายเป็นเกวียนแบบเดิม ก็จะสามารถขายได้ราคามากขึ้นหรืออาจแปรรูปไปทำผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เช่น จมูกข้าวกาบาไลท์ ที่ จ.ยโสธร ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านในพื้นที่ปลูกข้าวได้เกวียนละไม่ถึง 20,000 บาท แต่ตอนนี้ชาวบ้านเพิ่มมูลค่าได้เกวียนละ 40,000 บาทแล้ว 
 
                         เมื่อถามว่า กระทรวงมหาดไทยมาเกี่ยวข้องกับสินค้าโอท็อปได้อย่างไร เพราะเนื้องานน่าจะตรงกับกระทรวงด้านเศรษฐกิจโดยตรงมากกว่า ซึ่งเลขานุการ รมว.มหาดไทย ตอบได้อย่างน่าคิดว่า 
 
                         "ผมคิดว่า สินค้าโอท็อป คือ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ เท่ากับว่า 1 ผลิตภัณฑ์ 1 ชุมชน ทั้งนี้ เรื่องของชุมชนเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว ผมจึงคิดว่า ถ้าเราจะเน้นการวางขายสินค้าทั้งหมดในประเทศคงจะเป็นไปไม่ได้แน่นอน ดังนั้นเราจึงควรจะเน้นเรื่องคุณภาพของสินค้า เพื่อให้สินค้าชุมชนของไทยสามารถโกอินเตอร์ได้ และให้เป็นที่รู้จักในระดับโลก" ผดุง กล่าว
 
 
.........................
 
(เหล้าพื้นบ้าน...โกอินเตอร์ เพิ่มมูลค่าข้าว-อาหารไทย? : โดย...วีณา จันทร์เรือง)
 
 
 
logoline

ข่าวที่น่าสนใจ