ข่าว

พลิกฟื้น'ร่มบ่อสร้าง'ภูมิปัญญาท้องถิ่น

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

พลิกฟื้น'ร่มบ่อสร้าง'ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชียงใหม่ : โดย... อังคณา คำใสใย

                "ร่มบ่อสร้าง" สินค้าหัตถกรรมภูมิปัญญาขึ้นชื่อของ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ที่มีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่องกว่า 100 ปี ด้วยทักษะฝีมือของแรงงานที่ประณีตและชำนาญ ทำให้ร่มบ่อสร้างกลายเป็นที่รู้จักในกลุ่มของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเป็นสินค้าหัตถกรรมที่เชิดหน้าชูตาของเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันมนต์เสน่ห์ของหัตถกรรมร่มบ่อสร้างเริ่มจางหายไป เหตุจากค่าแรงสูงและขาดเยาวชนเข้ามาสานต่อภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ทำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

               "ถวิล บัวจีน" ประธานศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง อ.สันกำแพง เล่าว่า สิ่งที่กังวลมากที่สุดคือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะสานต่ออนาคตร่มบ่อสร้าง เพราะไม่มีคนรุ่นใหม่สนใจมาสานต่อธุรกิจดังกล่าว ซึ่งในศูนย์ของเขาเองแรงงานส่วนใหญ่มีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปีขึ้นไป แม้ว่า 8 ปีที่ผ่านมาจะสนับสนุนให้ลูกหลาน พนักงาน และชาวบ้านมาทำงานพิเศษในศูนย์เพื่อหารายได้ระหว่างปิดภาคเรียน แต่มีเด็กที่สามารถทำร่มได้จำนวนน้อย นอกจากนี้ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำที่สูงถึงวันละ 300 บาท และวัสดุที่นำมาผลิตร่มหายากขึ้นมาก รวมทั้งมีราคาสูงทำให้ต้นทุนการผลิตร่มบ่อสร้างเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ราคาผลิตภัณฑ์สูงขึ้นตามไปด้วย ขณะที่ยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง จากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ

               น.ส.กัณณิกา บัวจีน ทายาทรุ่นที่ 2 ผู้สืบทอดกิจการศูนย์หัตถกรรมร่มบ่อสร้าง กล่าวว่า ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวมีการแข่งขันกันสูง เมื่อส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่ม ต้องมีการปรับตัว ชูจุดขายให้นักท่องเที่ยวได้มาเห็นกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน นำเสนอความเป็นอยู่ วัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของร่มบ่อสร้างที่ทำจากไม้ไผ่ ลวดลายสวยงาม กรรมวิธีทางการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผลักดันให้ร่มบ่อสร้างเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง

               "หากร่มบ่อสร้างเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะทำให้ร่มมีเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ที่จะสามารถบอกแหล่งที่มาของร่มได้ เช่น ร่มคันนี้ทำโดยใคร บ้านอยู่ที่ไหน ตระกูลนี้ทำร่มกี่คน ไม้ไผ่มาจากไหน ชิ้นส่วนมาจากไหน เป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายธรรมชาติและมีการปลูกทดแทนเสมอ ซึ่งร่มของศูนย์เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะเป็นร่มโบราณจริงๆ เพื่อให้เป็นมรดกของหมู่บ้านบ่อสร้าง อ.สันกำแพง และอ.ดอยสะเก็ด" น.ส.กัณณิกา กล่าว

               อย่างไรก็ตามร่มบ่อสร้าง จ.เชียงใหม่ มีความเข็งแกร่งมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพราะบ้านบ่อสร้างเป็นหมู่บ้านที่มีการทำร่มชัดเจนที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ในส่วนของนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมศูนย์ ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวในโซนเอเชีย ซึ่งในช่วงโลว์ซีซั่นจะมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศอย่างน้อย 200 คนต่อวัน ส่วนช่วงไฮซีซั่นจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 1,000-3,000 คนต่อวัน ราคาร่มเริ่มต้นที่ 40 บาทไปจนถึงหลักหมื่นบาท

               "จันทร์ โชคงำเมือง" อายุ 70 ปี แรงงานเก่าแก่ในอุตสาหกรรมการทำร่มบ่อสร้าง เล่าว่า เขาเองมีความชำนาญในการทำซี่ร่ม ทำมาตั้งแต่อายุ 10 กว่าปี เนื่องจากสมัยก่อนไม่มีเงินเรียนหนังสือก็ต้องช่วยพ่อแม่ทำร่ม จึงมีความรู้เกี่ยวกับการทำร่มจากบรรพบุรุษ ซึ่งหลังจากนี้ถ้าไม่มีรุ่นยายแล้วก็ไม่รู้เหมือนกันว่าใครจะมาสานต่อร่มบ่อสร้าง เด็กสมัยนี้ก็ไม่สนใจแล้ว เรียนจบก็ไปทำงานในเมืองกันหมด

               ขณะที่นายสุรเชษฐ์ เรืองจันทร์ ประธานการท่องเที่ยวตำบลต้นเปา กล่าวว่า ทุกวันนี้สิ่งที่ทำให้ร่มบ่อสร้างอยู่ได้และคนในบ่อสร้างมีรายได้ เพราะว่า 1.การสั่งสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก 2.การขายร่มภายในประเทศ เช่น ร่มสนาม ร่มตกแต่ง ตามงานประเพณีหรือเทศกาลต่างๆ และ 3.การนำร่มมาใช้เพื่อโปรโมทชุมชน เช่น เทศกาลร่มบ่อสร้าง เทศกาลกระดาษสา อีกสิ่งหนึ่งที่ร่มบ่อสร้างยังไม่สูญหาย เนื่องจากยังมีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งที่ต้องการศึกษารากเหง้า ขนบธรรมเนียมของคนบ่อสร้าง หาความรู้จากการทำร่มและแสวงหาศิลปะ แม้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมีจำนวนน้อย แต่อนาคตหากมีจำนวนเพิ่มขึ้น ร่มบ่อสร้างก็จะยังไม่สูญหาย

                กลุ่มท่องเที่ยวตำบลต้นเปามีแผนยุทธศาสตร์ที่จะปรับปรุงร่มบ่อสร้างให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยการจัดเทศกาลระดับนานาชาติ คือ เทศกาลร่มโลก โดยการเชิญทุกประเทศที่มีการทำร่ม เช่น จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ลาว นำร่มมาแสดงด้วยกัน โดยให้บ้านบ่อสร้างเป็นศูนย์กลาง มีการแบ่งปันความรู้ด้านศิลปะ และอธิบายว่าร่มแต่ละประเทศมีความแตกต่างอะไรบ้าง เช่น ถ้าไม้ไผ่ ดิน น้ำ วิถีชีวิตแตกต่างกันก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างไปด้วย ถ้าเสร็จงานก็จะนำร่มของแต่ละประเทศมาจัดพิพิธภัณฑ์ร่มโลกที่ประเทศไทย

                นายภาสกร สุวรรณ์ทายาท ผู้ก่อตั้งอาชีพการทำร่มบ่อสร้างรุ่นแรก กล่าวว่า ทุกวันนี้ที่ร่มบ่อสร้างไม่มีการพัฒนา เนื่องจากผู้ประกอบการแปรสภาพสินค้าจากสินค้าไอเดีย เป็นสินค้าในเชิงธุรกิจมากขึ้น อีกทั้งปัญหาการแบ่งพรรคแบ่งพวกของนักการเมืองท้องถิ่นไม่เอื้ออำนวย จึงทำให้ไม่มีงบประมาณพัฒนาการท่องเที่ยวของบ้านบ่อสร้าง ท้ายที่สุดเมื่อถามว่าร่มบ่อสร้างจะอยู่ได้หรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับค่านิยมของคนในชาติว่าจะรักษา หวงแหนสมบัติของคนในชาติมากแค่ไหน ทุกฝ่ายต้องช่วยกันพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้น ส่งเสริม ฟื้นฟูให้ร่มบ่อสร้างเป็นร่มที่มีคุณภาพและให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ว่า ร่มบ่อสร้างจากประเทศไทยคือร่มที่ดีที่สุดในโลก

               
..................................................

(พลิกฟื้น'ร่มบ่อสร้าง'ภูมิปัญญาท้องถิ่นเชียงใหม่ : โดย... อังคณา คำใสใย )

                

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ