ข่าว

ผังเมืองใหม่กรุงเทพมหานนคร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผังเมืองใหม่กรุงเทพมหานนคร ปรับเข้าสู่ระบบรางพิ่มความสะดวกในอนาคต

          สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร จัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) แล้วเสร็จ ปรับเข้าสู่ระบบรางหรือรถไฟฟ้า เพื่อพัฒนาและเพิ่มความสะดวกสบายในอนาคต เผยเปิดให้ผู้มีส่วนได้เสียตรวจดูร่างผังเมือง พร้อมยื่นคัดค้านได้ถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2555

          ผศ.ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ ผู้จัดการโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) เปิดเผยกับ "ทีมงานคุณภาพชีวิต" ว่า หลังจากคณะกรรมการผังเมืองให้ความเห็นชอบร่างผังเมืองแล้ว ก่อนประกาศบังคับใช้ในกฎกระทรวง กฎหมายผังเมืองเปิดโอกาสให้เจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครหรือเขตวางผังมีสิทธิตรวจดูแผงผัง ข้อกำหนด การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ถ้ามีผลกระทบไม่ว่าทางตรงทางอ้อม หากมีความเห็น ต้องการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิกข้อกำหนดส่วนไหน สามารถยื่นคำร้องคัดค้านได้ 

          สาระสำคัญของการปรับร่างผังเมืองรวมครั้งนี้ หลักใหญ่ คือ การปรับเข้าสู่ระบบรางของกรุงเทพมหานคร ผังเมืองฉบับที่ใช้บังคับในปัจจุบัน แผนของ สนข. ระบบราง มี 7 สายทาง ปรับเพิ่มเป็น 12 สายทาง ระยะทางเพิ่มขึ้นจาก 300 กม. เป็น 600 กม. ทำให้ผังเมืองปรับโครงสร้างการใช้ที่ดินตามไปด้วย 

          จากปี 2543 เป็นต้นมา เห็นชัดว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและการปลูกสร้างอาคารเข้าไปรวมตัวในระบบสายทางทั้งหมด รอบๆ สถานีรถไฟฟ้ามีการสร้างคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้น ส่วนบริเวณที่รถไฟฟ้ายังไปไม่ถึงมีการชะลอการพัฒนาลง ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนผังให้สัมพันธ์กันในโครงสร้างใหญ่ นอกจากเรื่องโครงสร้างรถไฟฟ้า บางกรณีมีการปรับเปลี่ยนแบบมีนัยยสำคัญ เช่น ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติแจ้งวัฒนะ มีการดึงดูดให้คนไปอยู่อาศัยมากขึ้น คนต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น รถติดมากขึ้น หรือการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ที่เกียกกาย มีการควบคุมการพัฒนาให้มีสภาพที่เหมาะสม ไม่ทำลายภาพลักษณ์ของศูนย์การปกครองของประเทศในอนาคต 

          เรื่องปัญหาน้ำท่วม ร่างผังเมืองฉบับนี้เริ่มดำเนินการวางผังตั้งแต่ปี 2543 ก่อนเกิดอุทกภัยใหญ่ปลายปี 2554 ซึ่งการวางผังสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์และให้ความสำคัญไม่ใช่เรื่องอุทกภัยใหญ่ แต่เป็นเรื่องภาวะโลกร้อน การละลายของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ และระดับน้ำทะเลยกตัวสูง ปรากฏการณ์ของภาวะโลกร้อน สิ่งที่หวาดวิตกคือการยกตัวของระดับน้ำทะเลไม่ใช่ปริมาณของน้ำฝนที่ตกในปริมาณที่สูงกว่าปกติ สิ่งที่กรุงเทพฯ ต้องเตรียมการรับคือ การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นปัญหาของภาวะโลกร้อน 

          ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่) มีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดแตกต่างจากผังเมืองฉบับที่บังคับใช้ปัจจุบัน หลายประการ อาทิเช่น การเพิ่มการควบคุมกิจการที่อาจขัดต่อสุขลักษณะ ความปลอดภัย และสวัสดิภาพของประชาชน 5 กิจกรรม หลักการของการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวม มองถึงผลกระทบด้านสุขลักษณะ ความปลอดภัย และสวัสดิภาพของสังคม เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ร้านรับซื้อของเก่า ร้านซื้อขายเครื่องจักรกลเก่า ร้านแก๊ส สถานบริการ อาบอบนวด

          หากแบ่งสีตามแผนผังร่างผังเมืองรวม ที่อยู่อาศัย ใช้สัญลักษณ์สี 3 ระดับ สีเหลืองเป็นบ้านจัดสรร บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ขนาดเล็ก ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลางมีสีเข้มขึ้นเล็กน้อย เช่น อาคารชุดขนาดสูงไม่เกิน 23 เมตร หรือ 8 ชั้น และสีน้ำตาล ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก มักอยู่ในเขตชั้นใน เป็นที่อยู่อาศัยอาคารสูงเป็นส่วนใหญ่ การใช้ประโยชน์ที่ดินจะมีข้อกำหนด เช่น ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ประเภท ย.3 ห้ามอะไรไม่ห้ามอะไร ต้องดูตารางข้อกำหนดซึ่งมีความสัมพันธ์กับผลกระทบในบริเวณดังกล่าว 

          การควบคุมขนาดของกิจกรรม แต่เดิมยึดกับกฎหมายควบคุมอาคาร จากการประเมินพบว่า มีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น อาคารขนาดใหญ่และอาคารขนาดใหญ่พิเศษห่างกัน 8,000 ตารางเมตร การควบคุมกิจกรรมกระโดดจากเล็กขึ้นมาใหญ่มาก ทำให้เกิดผลกระทบที่ควบคุมไม่อยู่ ดังนั้นจึงปรับเปลี่ยนวิธี แทนที่จะอ้างอิงกับกฎหมายควบคุมอาคาร เป็นการอ้างอิงตามขนาดพื้นที่ เช่น 1,000, 2000, 3000, 5000, 10,000 ตารางเมตร ทำให้การควบคุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

          เช่น ความกว้างของถนน ซอย เท่าไหร จึงสามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ โดยใช้เกณฑ์เขตทาง คือ ถนนทั้งหมดรวมกับทางเท้าและไหล่ทาง หรือพื้นที่กรรมสิทธิ์ฝั่งหนึ่งไปถึงพื้นที่กรรมสิทธิ์ฝั่งตรงข้าม 3 เกณฑ์ ได้แก่ 12, 16 และ 30 เมตร แต่ละเกณฑ์ อาคารประเภทไหนที่สามารถสร้างได้โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหากับบริเวณโดยรอบ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ที่เพิ่มเข้ามาในร่างผังเมืองรวมฉบับนี้ จากเดิมใช้เกณฑ์ 10 เมตร ซึ่งคณะกรรมการผังเมืองมีการพิจารณาเรื่องผลกระทบกับนักลงทุนและผู้อยู่อาศัยในซอยแคบ ขณะนี้มติคณะกรรมการผังเมืองให้ใช้ 10 เมตร เฉพาะอาคารที่อยู่อาศัย แต่อาคารพาณิชย์และอาคารสำนักงานให้ใช้ 12 เมตร 

          การใช้ประโยชน์ที่ดินตามความกว้างของเขตทาง ข้อกำหนดเดิมกำหนดไม่เกิน 200 เมตรจากกึ่งกลางถนน จึงกำหนดโดยโยงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สัมพันธ์กับขนาดของถนน ข้อกำหนดของร่างผังเมืองฉบับนี้กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับถนนกว้าง 12 เมตร กำหนดไม่เกิน 200 เมตรจากเขตทาง ถนนกว้าง 16 เมตร กำหนด 300 เมตร และถนนกว้าง 30 เมตร กำหนด 500 เมตร

          สำหรับ การควบคุมอัตราส่วนน้ำซึมผ่านได้ เป็นการแก้ไขปัญหาโลกร้อนวิธีหนึ่ง ให้มีพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างอากาศกับดิน เป็นเงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาแต่ไม่อยากให้เป็นภาระกับผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน เนื่องจากเดิมมีกฎหมายควบคุมพื้นที่ว่างในแปลงที่ดินส่วนบุคคล กฎหมายใหม่กำหนดว่าในพื้นที่ว่างในแปลงที่ดิน 50 เปอร์เซ็นต์ห้ามทำพื้นที่ดาดแข็ง ให้น้ำซึมได้ ปลูกต้นไม้เพื่อให้เกิดสีเขียว ช่วยลดความร้อนของกรุงเทพฯ ช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วม

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ