ข่าว

ปืนพญาตาณี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปืนพญาตาณี : พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย โดย ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์

           หากใครไปเที่ยวชมพระบรมมหาราชวัง และได้สักการะพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือ “พระเจ้าแก้วมรกต” ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ก็น่าจะหาโอกาสเดินข้ามถนนไปฝั่งกระทรวงกลาโหม ซึ่งด้านหน้าได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง แสดงปืนโบราณเอาไว้เป็นจำนวนมาก มีการจัดหมวดหมู่ มีป้ายแสดงผังที่ตั้ง และชื่อของปืนต่างๆ แสดงไว้ ในบรรดาปืนใหญ่โบราณที่ตั้งไว้ทั้งหมดในจำนวนนี้ มีกระบอกที่ใหญที่สุดกระบอกเดียวคือ “ปืนพญาตาณี” เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงเทพมหานครขึ้นเป็นราชธานีในปีพ.ศ.2325 ต่อมาอีก 4 ปี คือปีพ.ศ.2329 พม่าได้บุกหัวเมืองทางภาคใต้ของสยาม การนี้โปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสุรสีหนาท เสด็จไปบัญชาการบกับพม่า ครั้นเมื่อสามารถมีชัยเหนือกองทัพพม่าแล้ว ก็สามารถผนวกหัวเมืองภาคใต้ให้เป็นประเทศราช ของกรุงเทพฯ นับแต่นั้นมา และได้นำปืนพญาตาณีมาไว้ที่กรุงเทพฯ ในคราวนั้น

            ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวไว้ว่า ปืนกระบอกใหญ่ที่ได้มาแต่เมืองปัตตานีนั้น โปรดเกล้าฯ ให้ขัดสีท้ายสังข์ปืน ตกแต่งลวดลายขึ้นใหม่ และให้แกะสลักชื่อที่ท้ายปืนว่า “พญาตาณี” และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างปืน “นารายณ์สังหาร” ขึ้นมาไว้ให้เป็นคู่ของปืนพญาตาณี นอกจากนั้นให้สร้างปืนคู่อีก 6 กระบอก ที่โรงหล่อใกล้ประตูวิเศษไชยศรี ในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังได้นำมาไว้ที่หน้ากระทรวงกลาโหม จนถึงปัจจุบัน

            ประวัติการสร้างปืนพญาตาณี กล่าวกันว่า สร้างโดย “สุลต่านมุซาฟาร์ ชาห์” ราวพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งสุลต่านพระองค์นี้ เป็นพระองค์เดียวกับผู้ที่สร้างมัสยิดกรือเซะ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ชาวจีนที่หันมานับถือศาสนาอิสลาม ชื่อ “ลิ้มโต๊ะเคี่ยม” เป็นผู้สร้าง ซึ่งลิ้มโต๊ะเคี่ยมมีน้องสาวชื่อ “ลิ้มกอเหนี่ยว” ที่ผูกคอตายใกลักับมัสยิดกรือเซะ เพราะพี่ชายไม่ยอมกลับเมืองจีนด้วย ทุกวันนี้มีผู้คนนับถือกราบไหว้กันมาก

            ส่วนเมืองปัตตานีแต่โบราณนั้น เป็นชุมชนการค้า อยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรลังกาสุกะ ที่มีเมืองหลวงชื่อ “โกตามะลิฆัย” เนื่องจากเป็นเมืองท่าการค้าที่สำคัญ ภายหลังต่อมาได้มีพัฒนาการขึ้นเป็นนครรัฐ แทนลังกาสุกะ ถูกปกครองโดยสุลต่าน และรานีหลายพระองค์ที่ทรงอานุภาพ มีการปะทะสังสรรค์กับสยามมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ความยิ่งใหญ่ของนครรัฐปัตตานีในอดีตมี “ปืนพญาตาณี” เป็นวัตถุพยานที่สำคัญ ดังนั้นการแก้ปัญหา จ.ปัตตานี ในปัจจุบัน ควรยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ว่าด้วย “การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา”

            พรุ่งนี้เล่าเรื่อง “ตนกู อับดุล ราห์มัน” ผู้นำการเรียกร้องเอกราช และเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย ซึ่งท่านเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์กันครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ