ข่าว

วัดช้างเผือก จ.ลำปาง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

วัดช้างเผือก จ.ลำปาง : พันเรื่องถิ่นแผ่นดินไทย โดยศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ และคณะ

           ในปีพ.ศ.2448 เมื่อครั้งที่จังหวัดลำปางเป็นศูนย์กลางการทำอุตสาหกรรมป่าไม้ของประเทศสยามนั้น เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย ลำดับที่ 10 ทรงเลี้ยงช้างไว้เพื่อใช้งานในการทำอุตสาหกรรมป่าไม้  เป็นจำนวนถึง 300 เชือก โดยในปีนั้นช้างของพระองค์ได้ตกลูกมาเป็นช้างพลายเชือกหนึ่ง มีลักษณะงดงามถูกต้องตามตำราคชลักษณ์ว่าเป็น “ช้างเผือก” จึงได้ทรงมีหนังสือไปกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

            ครั้นเมื่อช้างสำคัญมีอายุครบ 1 ปี จึงทรงนำช้างลงเรือเพื่อนำไปน้อมเกล้าฯ ถวายที่กรุงเทพฯ โดยครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีขึ้นระวางช้างเผือก ตามโบราณราชประเพณี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม  พ.ศ.2449 ณ พระราชวังดุสิต โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามช้างสำคัญนั้นว่า “พระเสวตร์อุดมวารณ บรมคชาธารประเสริฐศักดิ์ฯ” ในการนี้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ 1และนาฬิกาทองคำ มีอักษรจปร.แด่ เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ด้วย

            อนึ่งในปีที่ช้างเผือกเกิดนั้น เป็นปีเดียวกับที่เจ้าราชบุตร พระโอรสองค์แรกของ เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ทรงมีพระประสูติกาล จึงพระราชทานนามเจ้าราชบุตรพระองค์นั้นว่า “เจ้าบุญสารเศวตร์” อันมีความหมายว่า พระเจ้าช้างเผือก และเจ้าราชบุตรบุญสารเศวตร์พระองค์นี้ ถือเป็นเจ้านายฝ่ายเหนือพระองค์หนึ่ง แห่งราชวงศ์ทิพย์จักราธิวงศ์ (เชื้อเจ็ดตน) ตลอดจนถือได้ว่า เป็นชาวลำปางคนแรก ที่เสด็จไปทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ

            โดยครั้งนั้นมีเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่มีพระชันษารุ่นราวคราวเดียวกันอีก 2 พระองค์ ได้ตามเสด็จไปทรงศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดด้วย คือ “เจ้าพงษ์ธาดา” และ “เจ้ารัษทาธร” ซึ่งทั้ง 2 พระองค์เป็นเจ้าราชบุตร พระโอรสของ “เจ้าจักรคำขจรศักดิ์” เจ้าผู้ครองนครลำพูน อย่างไรก็ตามการศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของเจ้าบุญสารเศวตร์ มีเหตุให้ต้องยุติลง โดยยังไม่ทันรับปริญญา อันเนื่องมาจากการถึงแก่พิราลัยของพระบิดา เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2465

            เจ้าบุญสารเศวตร์จึงต้องเสด็จกลับมาเพื่อการพระศพ และดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมป่าไม้ที่มีเป็นจำนวนมากของพระบิดา ครั้นต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับราชการในกรมทางหลวง ภายใต้การบังคับบัญชาของ “พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน” โดยทรงเป็นผู้สร้างทางสายแพร่-น่านที่ใช้ในปัจจุบันนี้ สำหรับบริเวณที่เลี้ยงช้าง อันเป็นสถานที่เกิดของช้างเผือก ที่ตั้งอยู่ ต.ทุ่งฝาย อ.เมือง จ.ลำปางนั้น ภายหลังเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต ได้ทรงสร้างขึ้นเป็นวัดเมื่อ 12 มีนาคม พ.ศ.2464 และพระราชทานนามว่า “วัดช้างเผือก” แต่นั้นมา

            พรุ่งนี้เล่าเรื่อง “พระเจ้าอินทร์แป๋ง วัดข่วงกอม” ครับ

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ