Lifestyle

เปิดใจ..."ดร.สิทธิชัย เอี่ยมสะอาด"นักวิจัยดีเด่นมข.ผู้จุดประกาย"ยาคุมกำเนิดชาย"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ดร.สิทธิชัยเอี่ยมสะอาด" นักวิจัยดีเด่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาเอนไซม์ในระบบสืบพันธุ์ของกุ้งและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมเพื่อเพิ่มผลผลิตลูกกุ้งและพัฒนาสู่ยาคุมกำเนิดชาย

"ดร.สิทธิชัยเอี่ยมสะอาด" อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ซึ่งเป็น1 ใน 6 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ในระดับดี ประจำปี 2553 จากสภาวิจัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า รางวัลที่ได้รับเป็นวิทยานิพนธ์ในสาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา เรื่อง บทบาทของไอโดรลิติกเอนไซม์ ในระบบสืบพันธุ์ของหนูเม้าส์และกุ้งกุลาดำ (Penaeus monodon) เป็นวิทยานิพนธ์ที่ทำให้ทราบกลไกสำคัญพื้นฐานหนึ่งในการทำงานของเอมไซม์ที่มีบทบาทในการกระบวนการปฏิสนธิทั้งในกุ้งและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมต่างๆ

สำหรับที่มาของการศึกษาเริ่มต้นจากปัญหาเรื่องไม่สามารถเพิ่มผลผลิตกุ้งกุลาดำให้มีปริมาณมากขึ้นตามความต้องการของเกษตรกรได้แม้จะมีการทดลองในหลายวิธี รวมทั้งวิธีการให้ไข่และสเปิร์มผสมกันในหลอดทดลองเพื่อเพิ่มผลผลิตลูกกุ้งกุลาดำ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เหตุนี้ จึงหันมาศึกษาระบบสืบพันธุ์พื้นฐานของกุ้งกุลาดำอย่างจริงจัง พบว่าในสเปิร์มของกุ้งกุลาดำมีเอนไซม์ที่มีบทบาทอย่างมากในการเจาะไข่ของกุ้งเพศเมีย

ขณะเดียวกันในการศึกษายังพบด้วยว่าในช่วงระหว่างการวางไข่ของกุ้งกุลาดำเพศเมียในท่อนำไข่จะมีเอนไซม์หลายชนิดออกมามากเช่นกัน ดังนั้นการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ในการเพิ่มปริมาณกุ้งกุลาดำจำเป็นต้องสร้างหรือเพิ่มเอนไซม์เหล่านี้ให้มีปริมาณมาก เพื่อให้สเปิร์มและไข่ของกุ้งกุลาดำมีโอกาสการผสมพันธุ์กันมากขึ้น โดยเรียกการปรากฏของเอ็นไซม์ในลักษณะนี้ว่า enzymatic activity

ดร.สิทธิชัยกล่าวอีกว่า ภายหลังจากศึกษาจากกุ้งกุลาดำแล้ว ได้ฝึกฝนและศึกษาเกี่ยวกับชีวเคมี และ activity ต่างๆของเอนไซม์ทริปซิน, ASA และPC4 ที่อยู่บนหัวสเปิร์ม โดยใช้ตัวยับยั้งที่มีความจำเพาะเจาะจง (specific inhibitors) ที่สังเคราะห์โดยนักเคมีโดยเบื้องต้นได้มีการศึกษาในสเปิร์มหนูทดลอง เพื่อจะนำเอาองค์ความรู้พื้นฐานนี้มาต่อยอดศึกษาในการพัฒนาไปสู่การผลิตยาคุมกำเนิดในเพศชายเนื่องจากปัจจุบันพบว่าผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดซึ่งเป็นฮอร์โมนสังเคราะห์จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ อาทิ มะเร็ง เป็นต้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้ฝ่ายหญิงเสี่ยงกับการเกิดโรคต่างๆ อันเกิดจากผลข้างเคียงจากการกินยาคุมกำเนิด จึงคิดว่าน่าจะมีการคุมกำเนิดในฝั่งผู้ชายแทน

โดยการประยุกต์ใช้ตัวยับยั้งเพื่อยับยั้งenzymatic activity เฉพาะที่บนหัวสเปิร์มเท่านั้น โดยไม่ไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมนในร่างกายเลย ในทางกลับกัน ถ้าต้องการให้เกิดการปฏิสนธิมากขึ้นก็ต้องทำให้เกิด enzymatic activity จำนวนมาก เพื่อเพิ่มการปฏิสนธิในชายที่มีภาวะบุตรยากนั่นเอง
อย่างไรก็ดีผลงานดังกล่าวยังเป็นการศึกษาในห้องแล็บ ซึ่งมีต้นทุนสูง ดังนั้นการพัฒนาไปสู่การผลิตยาคุมกำเนิดในชายจึงเป็นเรื่องของอนาคต หากใครสนใจนำองค์ความรู้นี้ไปต่อยอดผลิตในเชิงพาณิชย์เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของผู้หญิงอันเนื่องมาจากการกินยาคุมกำเนิดสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.สิทธิชัยเอี่ยมสะอาด ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร.08-5289-6363

           0 บัณพร บัณฑิต 0 รายงาน 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ