พระเครื่อง

วัดคณิกาผล วัดที่เป็นผลได้มาจากหญิงโลมเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเปลี่ยนชื่อ "วัดบ้านสังกัน" ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๙๔ หมู่ ๔ บ้านสังกัน ต.สำโรงพลัน อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดสิเรียมพุทธาราม” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนไปตามชื่อของนักแสดงชื่อดัง คือ นางสิภาภัสส์ หรือ สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์

  หลังจากข่าวการเปลี่ยนชื่อวัดถูกเผยแพร่ออกตามสื่อต่างๆ มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงความเหมาะสมของชื่อดังกล่าว และสิ่งหนึ่งจะติดไปกับวัดแห่งนี้ตลอดไป คือ "ประวัติทางด้านดีและด้านลบของผู้อุปถัมภ์สร้างวัด เช่นเดียวกับวัดอื่นๆ ที่ใช้ชื่อคนมาตั้งเป็นชื่อวัด"

 ทั้งนี้นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า โดยปกติเวลาที่จะมีการเปลี่ยนชื่อวัด โดยใช้ชื่อผู้อุปถัมภ์ หรือผู้มีพระคุณกับวัด ซึ่งปีหนึ่งจะมีเป็นร้อยชื่อที่มีการขอเปลี่ยน โดยการจะเปลี่ยนชื่อวัดใดนั้นจะต้องผ่านที่ประชุมของมหาเถรสมาคม ซึ่งจะมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์เป็นผู้พิจารณาว่า ชื่อที่จะเปลี่ยนใหม่นั้น มีความหมายว่าอย่างไร และที่ประชุมคงได้ถกกันแล้ว ซึ่งการจะให้ความเห็นชอบชื่อวัดใดไปนั้น จะต้องเป็นในนามคณะกรรมการมหาเถรสมาคมที่พิจารณาตามเหตุผล

 เกณฑ์ในการตั้งชื่อวัดจะดูจากชื่อหมู่บ้านก่อน จากนั้นค่อยไล่ไปเป็นตำบล อำเภอ ถ้าตั้งชื่อต่างจากนี้ต้องมีเหตุผล เช่น ให้การอุปถัมภ์ เป็นบุคคลที่พึงเคารพ เช่น พระเถระผู้ใหญ่ที่มีส่วนร่วมในการก่อสร้างวัด หรือเพื่อเป็นที่ระลึกในการต่างๆ ทั้งนี้หากจะขอเปลี่ยนชื่อวัดใหม่นั้นจะต้องแนบเหตุผลมาด้วย เช่น ๑.ชื่อพ้องกัน ไม่เพราะ ๒.เป็นความเชื่อของชาวบ้านเปลี่ยนแล้วจะดี ส่วนกรณีของคุณสิเรียมนั้น ตนเองเดาว่าน่าจะเป็นด้วยเหตุผล ๑.โยมอุปถัมภ์ และ ๒.ชื่อวัดเดิมอาจมีความหมายในเชิงที่ไม่ดีจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่ซึ่งที่ตนเองได้รับทราบจากข่าวว่าชื่อวัดเดิมนั้นมีความหมายที่ไม่ดี จึงขอเปลี่ยนเป็นชื่อนี้แทน

 อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากเหตุผลประเด็นที่ว่า "ชื่อวัดบ้านสังกันไม่เป็นมงคล" เหตุผลเดียว สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และมหาเถรสมาคมอาจจะต้องเปลี่ยนชื่อวัดอีกนับร้อยๆ แห่ง และชื่อวัดแห่งหนึ่งที่มีชื่อและประวัติศาสตร์ไม่เป็นมงคล คือ "วัดคณิกาผล" อันแปลตรงตัวได้ว่า "วัดที่เป็นผลได้มาจากหญิงโลมเมือง เพราะรายได้หลักของยายแฟงนั้นก็คือได้จากการเป็นแม่เล้า เจ้าโสเภณี"

 แม้ว่าวัดแห่งนนี้สร้างมากกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว แต่คนรุ่นหลังยังคงจำประวัติด้านลบของผู้สร้างวัดได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ ในสมัยเมื่อครั้งสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงครองแผ่นดินสยามอยู่นั้น มีหญิงคนหนึ่งที่ชาวบ้านเรียกว่า ยายคุณท้าวแฟง หรือบางครั้งก็เรียกว่า ยายแฟง เฉยๆ ยายคุณท้าวแฟงนี้มีอาชีพเก็บตลาดเอาผลกำไร รวมทั้งเป็นแม่เล้าเจ้าของซ่องนางโลมด้วย

 ยายแฟงนั้นแกรู้ว่า ในหลวงทรงโปรดการทำบุญสร้างวัดแกจึงได้ทำการสร้างวัดด้วยเงินรายได้ของแกขึ้นมา เพื่อต้องการให้สะดุดสายพระเนตรของพระเจ้าแผ่นดินกับเขาด้วยเหมือนกัน ที่ตรอกแฟง ในแหล่งธุรกิจของพระนครสมัยนั้น พวกชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "วัดใหม่ยายแฟง" เมื่อสร้างเสร็จแล้ว แกก็ได้ทูลขอพระราชทานนามของวัดนั้น โปรดพระราชทานนามของวัดนั้นว่า "วัดคณิกาผล"

 ในการสมโภชน์วัด ยายแฟงได้ไปนิมนต์สมเด็จพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรังสี) ซึ่งสมัยนั้นสมเด็จฯ ท่านยังไม่มีสมณศักดิ์ คงเป็นเพียงแค่มหาโต พระมหาบาเรียนธรรมดาเท่านั้นให้มาเทศน์ฉลอง โดยมีความปรารถนาจะให้ท่านได้สรรเสริญผลบุญของตนต่อหน้าชุมชน แต่ผลก็ไม่ได้เป็นดังใจของยายแฟง เพราะพระมหาโต ท่านกลับเทศน์บอกแก่เจ้าภาพว่า "ในการที่เจ้าภาพได้จัดการทำบุญเช่นนี้นั้น เป็นการทำบุญที่มีเบื้องหลังอยู่หลายประการ เป็นเหตุให้เหมือนกับว่า ในเงินทำบุญ ๑ บาทนั้น ยายแฟงจะได้อานิสงส์เพียงแค่สลึงเฟื้องเท่านั้น"
 

หลักการตั้งชื่อวัดและที่มาของชื่อ
 ปัจจุบันมีผู้อุปถัมภ์วัดนับร้อยๆ คนที่อยากจะเปลี่ยนชื่อวัดตามชื่อตนเองและนามสกุล เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล แต่ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ต้องผ่านหลายขั้นตอน ทั้งนี้หากเทียบกับการขอเปลี่ยนชื่อนามสกุล แค่ไปยื่นเรื่องที่อำเภอก็สามารถเปลี่ยนชื่อได้แล้ว ส่วนการเปลี่ยนชื่อวัดมีหลายขั้นตอนและอาจจะต้องใช้เวลานับปี

 ในการเปลี่ยนและเพิ่มชื่อวัด กรมการศาสนาได้วางระเบียบปฏิบัติไว้สําหรับการพิจารณาดังนี้ ๑.วัดมีความประสงค์จะขอเปลี่ยนชื่อและเพิ่มชื่อ ต้องทําประวัติของวัดโดยละเอียด พร้อมทั้งแจ้งตําบล หมู่บ้าน และอําเภอที่ตั้งวัด และเหตุผลขอเปลี่ยนชื่อไปยังเจ้าคณะอําเภอ และเจ้าคณะจังหวัด เมื่อเห็นชอบแล้วก็เสนอเรื่องราวขอความเห็นชอบไปยังนายอําเภอท้องที่ และผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาเห็นชอบ แล้วให้ส่งเรื่องไปยังกรมการศาสนา เพื่อดําเนินการขอเปลี่ยนและเพิ่มชื่อวัดต่อไป ๒.ถ้าเป็นวัดที่สร้างขึ้นภายหลัง พ.ศ. ๒๔๘๔ จะต้องส่งสําเนาหลักฐานการขอตั้งวัดอีกด้วย

  ๓.เมื่อดําเนินการตามข้อ ๑-๒ แล้ว กรมการศาสนาจะเสนอขอความเห็นไปยังเจ้าคณะตรวจการภาค เจ้าคณะธรรมยุตภาค และกรมศิลปากร เมื่อได้รับความเห็นชอบแล้วจึงจะนําเสนอคณะสังฆมนตรีพิจารณาอนุมัติ ๔.เมื่อคณะสังฆมนตรีมีมติอนุมัติให้เปลี่ยนและเพิ่มชื่อวัดแล้ว กรมการศาสนาจะได้ทําเป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนและเพิ่มชื่อวัดนั้น และแจ้งให้จังหวัดทราบต่อไป

 ส่วนการขนานนาม หรือตั้งชื่อวัดต่างๆ ที่ปรากฏนามเพื่อเรียกขานกันนั้น มีที่มาแห่งการตั้งชื่อกันดังนี้  ๑.ขนานนามตามสิ่งสำคัญที่เกี่ยวเนื่องพระพุทธเจ้า เช่น วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา ๒.ขนานนามตามฐานานุศักดิ์ของผู้สร้าง ผู้สร้างอุทิศให้ เช่น วัดราชบูรณะ อยุธยา ๓.ขนานนามตามเหตุการณ์ที่เป็นศุภนิยม เช่น วัดอรุณราชวราราม ธนบุรี

 ๔.ขนานนามตามชื่อวัดสำคัญแต่โบราณ เช่น วัดเวฬุวนาราม ๕.ขนานนามตามลักษณะสิ่งสำคัญภายในวัด เช่น วัดหลวงพ่อโต บางพลี จ.สมุทรปราการ ๖.ขนานนามตามชื่อตำบลที่ตั้ง หรือสภาพพื้นที่ตั้ง เช่น วัดไผ่ล้อม และ ๗.ขนานนามตามชื่อผู้สร้าง เช่น วัดใหม่ยายนุ้ย

 "เกณฑ์ในการตั้งชื่อวัดจะดูจากชื่อหมู่บ้านก่อน จากนั้นค่อยไล่ไปเป็นตำบล อำเภอ ถ้าตั้งชื่อต่างจากนี้ต้องมีเหตุผล เช่น ให้การอุปถัมภ์ เป็นบุคคลที่พึงเคารพ"

เรื่อง... "ไตรทพ ไกรงู"
ภาพ... "ศูนย์ภาพเนชั่น"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ