พระเครื่อง

ขุมทรัพย์แห่งการเยียวยา รศ.ดร.อมร แสงมณี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชีวิตเฉียดตายของนักอ่าน นักแปลและนักสัทศาสตร์คนนี้ เป็นไปตามครรลองที่ควรจะเป็น บทเรียนในชีวิตของเธอน่าสนใจมาก เธอค่อยๆ เข้าใจคำว่าสัจธรรมของชีวิต และยอมรับได้ว่าสรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง

  รศ.ดร.อมร แสงมณี อาจารย์สอนปริญญาโทและเอก วิชาสัทศาสตร์ การออกเสียงภาษาอังกฤษและภาษามลายู สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา หรืออดีตนักร้องวงกรรมาชน ผู้ต้องหาคดี ๖ ตุลา ๑๙ คือคนที่เรากล่าวถึง

 นอกจากเป็นอาจารย์สอนหนังสือ เธอยังมีผลงานแปลหนังสือ สุดทางทุกข์ โดยคล้อด อันชิน ธอมัส และภาพสวรรค์ภูฏาน สมบัติล้ำค่าแห่งแดนมังกรสายฟ้า ผลงานของสมเด็จพระราชินีแห่งภูฏาน อาชิ โดร์จี วังโม วังชุก และจัดรายการวิทยุ Dhamma World ทางคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม ๘๙.๒๕ เมกะเฮิรตซ์ ทุกวันจันทร์-พุธ เวลา ๑๗.๓๐-๑๘.๐๐ น. รวมถึงกำลังแปลและเขียนหนังสืออีกหลายเล่ม และในเดือนหน้าจะมีหนังสือแปลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงตนเองเรื่อง เจ็ดขุมทรัพย์ลับสุดยอด ผลงานของ Dr. john Demartini ออกวางจำหน่าย

 ย้อนไปในช่วงที่ลูกกระสุนและเสียงปืนรัวใส่นักศึกษายุค ๖ ตุลา เธอเป็นหนึ่งในนักศึกษาที่วิ่งหนีลูกกระสุน เกือบจะเดินทางเข้าป่า แต่เพราะพ่อเพื่อนเตือนสติจึงเปลี่ยนใจระหว่างนั่งอยู่ในขบวนรถไฟที่มุ่งหน้าสู่ภาคใต้ กลับมาเรียนต่อจนจบ

 “จำได้ว่าก่อนออกบ้านไปชุมนุม แม่บอกว่าอย่าไปเลย เพราะแม่ฟังวิทยุแล้วรู้สึกว่าน่าจะเกิดความรุนแรง แต่เราผูกพันกับหมู่คณะต้องไปร้องเพลง เพราะบ้านอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พอได้ยินเสียงปืนนัดแรกและนัดต่อไป...เรารู้เลยว่าวันนี้คงตายแน่ และความกลัวไม่เคยจางหาย“

 นั่นเป็นความกลัวตายที่เธอยังจำฝังใจ ทั้งๆ ที่รู้แก่ใจว่าหากชีวิตไม่ตายจากลูกกระสุน ก็ต้องตายแบบใดแบบหนึ่ง อาจารย์อมร เล่าต่อว่า หลังจากวันนั้นไม่เคยกลัวตายอีกเลย รู้สึกว่าชีวิตก็แค่นั้นเอง

 แม้เหตุการณ์จะผ่านมานาน แต่เธอไม่เคยลืม จนเมื่อทำงานเป็นอาจารย์สอนภาษา ต้องเดินทางไปทำงานในภาคใต้เพื่อศึกษาภาษามลายู

 “ไม่ว่าสถานการณ์การเมืองภาคใต้จะคุกรุ่นเพียงใด เราก็ยังลงไปภาคใต้ รู้สึกว่าถ้าเราจะต้องตาย ก็ตาย ผนวกกับความคิดทางสัจธรรม ทำให้ยอมรับในเส้นทางชีวิตเราได้ทุกอย่าง”

 อีกเหตุการณ์ที่เธอไม่เคยลืมคือ ตอนคลอดลูกคนที่สอง เด็กเอาขาออก หมอบอกว่าคุณมีทางเลือกเดียว ต้องผ่าตัด หมอให้เซ็นหนังสือก่อนผ่าตัด เธอบอกว่า มีความกลัว เพราะรู้เรื่องโรคหมอทำมาเยอะ

 “การบล็อกหลังคล้ายๆ การวิ่งหนีกระสุน ถามว่า กลัวไหม กลัว..แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ถามตัวเองว่า เรากลัวอะไร จุดที่แย่ที่สุดก็ผ่านมาแล้ว”

 เมื่อใดก็ตามที่ตกอยู่ในความกลัว เธอมักคิดว่ามันก็แค่นั้นเอง ทำให้จิตใจค่อยๆ สงบ เพราะชีวิตก็ผ่านเหตุการณ์เฉียดตายมาแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เธอทุกข์มากอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การเปลี่ยนแปลงด้านครอบครัว

 “แม้จะผ่านฉากโหดๆ ในชีวิตมาไม่ใช่น้อย แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตจากการหย่าร้าง รู้สึกเหมือนมีภูเขามาทับชีวิต ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ มีความทุกข์สุดๆ และที่จำได้ไม่เคยลืมเลือนเลยก็คือ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ นั้น เราเกิดความกลัวชนิดที่เรียกว่า กลัวสุดชีวิตก็ว่าได้ เพราะไม่ได้เตรียมใจไว้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน เราก็ได้ประจักษ์ว่า แท้จริงแล้วเรารู้สึกเสียหน้าต่างหาก เมื่อได้สติเราก็บอกตัวเองว่า ไม่เห็นต้องเสียหน้า เพราะชีวิตเรามีคุณค่ามหาศาล“ เธอย้ำว่าที่ผ่านจุดนั้นมาได้ เพราะธรรมะของพระพุทธเจ้า และการอ่านเรื่องราวที่ให้ข้อคิดดีๆ จากอินเทอร์เน็ต

 แม้อาจารย์อมรจะไม่ใช่นักปฏิบัติธรรมที่เดินเข้าออกวัด แต่เธอได้นำสิ่งที่อ่านและฟังมาใช้ในการดำเนินชีวิต

 “แม้จะโหยหาอาลัย เขาก็ไม่กลับมา ท่านติช นัท ฮันห์ บอกว่า ให้ยิ้มรับกับทุกอย่าง ชื่นชมยินดีในชีวิต แม้กระทั่งเดินในท้องทุ่งก็ยิ้มให้ดอกไม้”

 บทเรียนครั้งนี้ทำให้อาจารย์อมรรู้สึกขอบคุณกับการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ได้สูญเสียลูกชายคนโตจากอุบัติเหตุ เมื่อปี ๒๕๔๐ แต่ก็ไม่ได้รับบทเรียนใดๆ ได้แต่จมอยู่กับความเศร้า และวันเวลาค่อยๆ เยียวยาใจ แต่การแยกจากสามี คือจังหวะชีวิตที่เปลี่ยนไป

 “เราสะอื้น โดยไม่ต้องร้องไห้ ตอนนั้นชีวิตพลิกเลย ได้เห็นคุณค่าของตัวเอง ชีวิตเรามีศักยภาพในการทำอะไรอีกมากมาย เราเคยเขียนตำราวิชาสัทศาสตร์ให้คนอ่าน อ่านหนังสือเสียงให้คนตาบอด แล้วคนตาบอดชื่นชม ถ้าเป็นคนตาดีชมคงเฉยๆ เราทำอะไรได้อีกมากมาย ความเจ็บปวดที่ผ่านมาทำให้เราเข้าใจว่าทำไมคนถึงคิดฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีทางออก แต่เราเป็นนักวิชาการ ห้วงนั้นเราหาข้อมูลเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต และได้ค้นพบขุมทรัพย์แห่งการเยียวยา”

 เพราะเป็นนักอ่านที่ลุ่มลึก ชอบตีความและวิเคราะห์ ประกอบกับเป็นนักสัทศาสตร์ที่ให้ความสำคัญในการใช้ภาษา เธอจึงนำธรรมะของพระพุทธเจ้าและข้อเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจมาใช้ชีวิตตัวเองและให้ข้อคิดดีๆ กับคนฟังในรายการวิทยุที่เธอจัด

 “มนุษย์ต้องยืนด้วยตัวเอง เราก็ต้องเยียวยาตัวเอง ณ วินาทีที่เราพ้นจากความทุกข์ เราปวารณากับตัวเองว่า เมื่อเกษียณแล้ว จะหาทางเล่าขานเรื่องราวตัวเอง เพื่อจะบอกว่าเราสามารถพาตัวเองออกจากความทุกข์ได้ไม่ยากนัก”

 เมื่อพูดถึงการพาตัวเองออกจากความทุกข์ อาจารย์อมรเล่าถึงชีวิตตัวเองต่อว่า เราอ่านหนังสือที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าเยอะมาก และอ่านเรื่องราวจากชีวิตจริงของคนในเว็บ

  “ชีวิตนี้จะไม่มีวันลืมอินเทอร์เน็ตเลย การอ่านได้นำสิ่งล้ำค่ามาให้ชีวิต อย่างเรื่องของ Helen Keller ทั้งหูหนวกและตาบอดตั้งแต่อายุ ๑๘ เดือน แต่เธอมีครูที่แสนประเสริฐ ครู Ann Sullivan สอนให้ Helen เรียนภาษาด้วยการเอานิ้วขีดบนฝ่ามือของเธอ ครู Ann นั่งสอนทีละตัวตั้งแต่ A-Z ยกตัวอย่างคำว่า Stone ครูเอาก้อนหินให้ Helen กำ ทำให้เธอได้เรียนรู้ภาษา ปัจจุบัน Helen ได้กลายเป็นสตรีเหล็กของโลก ไม่มีใครไม่รู้จัก Helen ชีวิตเธอน่าสนใจมาก เธอเขียนเรื่องราวการต่อสู้ของเธอออกมาเป็นหนังสือ และเป็นเจ้าของคำคมที่ช่วยให้คนมีกำลังใจในการใช้ชีวิตมากมาย“

 อีกเรื่องที่อาจารย์อมรย้ำ ก็คือ ถ้าคุณอยู่ในวงวิชาการ แล้วคุณปฏิเสธโลกไซเบอร์ก็แปลว่า คุณเดินถอยหลัง เพราะหนังสือที่เข้าไปสืบค้นได้ในอินเทอร์เน็ต อ่านเท่าไหร่ก็ไม่หมด คุณอยากเรียนอะไรก็เข้าไปเรียนในอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา

 “แต่ถ้าคุณไม่แน่ใจว่า สิ่งที่อัพโหลดขึ้นบนเว็บจะมีประโยชน์ต่อใครจริง อย่าทำ เราเจอเว็บ เว็บ หนึ่งเกี่ยวกับการหย่าร้างบอกว่า เราจะต้องระทมทุกข์นานเท่าที่เราใช้ชีวิตคู่มา มันเป็นไปได้ยังไง แบบนี้ตายไปแล้ว ยังไม่เลิกระทมเลย อยากถามว่าทำเว็ปแบบนี้ขึ้นมาทำไม”

 หนึ่งในเรื่องราวที่อาจารย์อมรอยากทำเพื่อให้คนได้อ่าน คือ รวบรวมคำคมเรื่องราวข้อคิดดีๆ นำมาแปลด้วยสำนวนตัวเอง บันทึกเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพราะคำคมทั้งหลายส่วนใหญ่เปิดพจนานุกรมแปล ไม่ได้แปลองค์แห่งความหมาย

 “ที่คนเราทุกข์ เพราะเราเอาป้ายไปติดมันไว้ ถ้าเราเปลี่ยนป้ายใหม่ ชีวิตก็จะเปลี่ยนแปลง แม้วันหนึ่งคนรักจะหิ้วกระเป๋าจากไป แต่สักวันหนึ่งไม่ว่าเราหรือเขาก็ต้องจากไปนอนในโลง”

"เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ