Lifestyle

ปวดรุมๆในกระบอกตา มึนศีรษะ ปวดขมับ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปวดรุมๆในกระบอกตา มึนศีรษะ ปวดขมับ คอลัมน์...  เสียงเตือนจากร่างกาย

 

 

 

 
          สวัสดีท่านผู้อ่านทุกท่านค่ะ สำหรับฉบับนี้ผู้เขียนมีประสบการณ์เกี่ยวกับเคสที่น่าสนใจอีกเคสหนึ่ง ที่อยากจะเล่าให้ท่านฟัง เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากค่ะเพราะเคสที่มาพบผู้เขียนนั้นอายุเพียง 21 ปี พึ่งเรียนจบและยังไม่ได้ทำงาน แต่เคสนี้มีปัญหามากมายจากเสียงร่างกายที่เขาบอกมาค่ะ ขออนุญาตเล่าให้ฟังคร่าวๆ นะคะ

 

 

 

          เคสมาด้วยอาการปวดกระบอกตา และปวดขมับ มึนศีรษะเรื้อรัง เป็นมานานกว่า 2 ปีแล้ว ปวดตลอดเวลา จะมากเวลาที่ต้องหอบหิ้วของหนัก หรือต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ นั่งอ่านหนังสือ ไปพบแพทย์ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ได้รับการรักษาด้วยการกินยามาตลอด เคสเล่าว่าในช่วง 2–3 เดือนแรกๆ อาการก็ดีขึ้น แต่หลังๆ ต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้น เพราะอาการไม่ดีขึ้นแพทย์จึงส่งเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (Magnetic resonance imaging / MRI) แต่ก็ไม่พบความผิดปกติใดๆ เคสจึงต้องบรรเทาอาการที่ตนเป็นด้วยการกินยามาตลอด ซึ่งอาการตอนนี้จากการกินยาต่อเนื่องนานทำให้ต้องเป็นโรคกระเพาะอาหารตามมา และมีอาการหายใจขัดๆ ร่วมกับการเป็นภูมิแพ้อากาศบ่อยๆ เหนื่อยง่าย ส่วนที่รุนแรงมากก็จะเป็นอาการปวดกระบอกตาและขมับ ร่วมกับอาการมึนศีรษะ
    

          ฟังดูแล้วน่าตกใจใช่ไหมคะ เป็นตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ พอจบก็ยังไม่ได้ทำงาน แต่กลับต้องมาเสียเงินค่ารักษา พยาบาลแต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่านั้นสำหรับเคสนี้คือเรื่องต้นเหตุของอาการที่เป็น ตัวเคสเองมีความเชื่อว่าอาการของตนอยู่ที่คอ ขมับหรือกระบอกตาเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆแล้วอาการดังกล่าวมีสาเหตุที่แท้จริงมาจากแนวของกระดูกหน้าแข้งที่มีการบิดหมุน จากการที่คุณพ่อพยายามดัดขาให้ตรงตั้งแต่ยังเด็กเพราะกลัวลูกโตขึ้นขาจะโก่งเหมือนคนในครอบครัวที่ขาโก่งทุกคน และคงเป็นการดัดที่มากเกินไปรวมทั้งไม่รู้หลักการทางกายวิภาคศาสตร์ จึงทำให้กระดูกหน้าแข้งผิดรูป บิดไปอีกด้านหนึ่ง ส่งผลให้เข่าด้านใน-ด้านนอก รับน้ำหนักตัวไม่สมดุล เกิดการบิดต่อเนื่องมาถึงข้อสะโพก กระดูกเชิงกราน กระดูกสันหลังและกระดูกคอบิดหมุนผิดรูป ส่งผลต่อให้กล้ามเนื้อที่อยู่ใต้ฐานกระโหลก เกิดการเกร็งตัวค้างและเรื้อรัง (หรือเรียกโรค Myofascial syndrome) ดึงรั้งไปที่กล้ามเนื้อบริเวณขมับ มีผลต่อหลอดเลือด-เส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณขมับและบริเวณตา ซึ่งทอดผ่านเส้นใยกล้ามเนื้อเหล่านี้ เมื่อเกิดการเกร็งตัวมากกว่าปกติ จึงส่งผลให้ไปจำกัดการไหลเวียนของเลือดและเส้นประสาท กลุ่มอาการเหล่านี้เกิดจากการไหลเวียนของระบบเลือดและเส้นประสาทไม่ดีนั่นเอง เพราะเซลล์ต่างๆ ในร่างกายเราถูกหล่อเลี้ยงด้วยอาหารและอากาศที่มากับระบบการไหลเวียน เมื่อไม่มีเลือดไปเลี้ยงก็เกิดการคั่งของเสีย เลือดดีก็ไม่ถ่ายเท ปล่อยไว้นานจึงทำให้ร่างกายแสดงอาการให้ทราบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น นั่นก็คือแสดงออกมาในรูปอาการเจ็บปวดต่างๆนั่นเอง และสำหรับเคสนี้ยังตรวจพบว่าหลังค่อมมาก อาจเป็นผลจากตัวสูงกว่าเพื่อนในกลุ่ม ตอนเรียนอยู่จึงยืนหลังงุ้มมาตลอด และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีผลต่อการหายใจ เป็นภูมิแพ้บ่อยๆ ด้วยเพราะเมื่อหลังค่อมไหล่งุ้มก็มักทำให้ปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ระบบการไหลเวียนของอากาศก็ถูกจำกัดลง ฯลฯ


     

          หลายๆ ท่านที่อาจจะมีอาการเหมือนเช่นเคสนี้ คือ ปวดกระบอกตา ปวดขมับ มึนศีรษะ แล้วจัดการตัวเองด้วยการกินยา แต่หากเป็นบ่อย เป็นเรื้อรังมานาน การกินยาก็อาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาได้ถูกจุด แถมอาจพ่วงหลายโรคตามมา อาการกลุ่มนี้ผู้ที่เป็นเรื้อรังอาจรู้สึกปวดตลอดเวลาก็เป็นได้ แต่เนื่องจากร่างกายจะเกิดความเคยชินในการรับรู้ความเจ็บปวดนั้น จึงทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นไร ยังทนได้อยู่ จึงไม่กระตือรือร้นไม่ดิ้นรนหาแนวทางในการดูแลรักษาตัวเอง หรือบางเคสมักมีอาการเฉพาะภาวะที่มีสิ่งเร้า ไปกระตุ้นตรงที่เป็นจุดอ่อน ซึ่งก็จะทำให้รู้สึกปวดมาก เช่น การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องนาน หิ้วของหนักๆ มีภาวะเครียด นั่งขับรถนาน นั่งอ่านหนังสือ เขียนหนังสือต่อเนื่อง ฯลฯ บางเคสบอกผู้เขียนว่าเวลาที่ปวดมาก เหมือนตาหนักแทบจะปิดลงให้ได้ ปวดแทบลืมตาไม่ขึ้น ตาพล่ามัว มองภาพไม่ชัด รู้สึกหัวจะระเบิดออกมา รู้สึกเหมือนหัวหนักมากขึ้นเป็นสิบๆเท่า รู้สึกเหมือนมีสิ่งลี้ลับมาบีบศีรษะหรือบีบขมับไว้ เหมือนมีใครมานั่งทับบนหัว หรือนั่งบนบ่าฯลฯ นี่เป็นเสียงเตือนจากร่างกายของหลายเคส ที่ได้ถ่ายทอดให้ผู้เขียนฟัง อาจเป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาจึงมีหลายท่านพยายามจะบอกไปในแนวอำนาจลี้ลับ เลยลืมมองความจริงด้านกลไกการทำงานและความเชื่อมโยงของระบบโครงสร้างร่างกายที่ทำให้มีอาการต่างๆดังที่กล่าวมาได้ 

          นอกเหนือจากความไม่สมดุลของระบบโครงสร้างร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัวมากจนไปจำกัดการไหลเวียนแล้ว บางเคสที่เป็นเรื้อรังมานาน มักพบว่าอาการที่ปวดกระบอกตา ปวดขมับ หรือมึนศีรษะ เป็นผลจากอาการปวดร้าวของการติดยึดของข้อต่อกระดูกแต่ละชิ้น (Zygapophyseal Joint/Facet joint)โดยเฉพาะกระดูกคอชิ้นที่ 1 (Atlas) 2 (Axis) และ 3 ที่วางเรียงกันอยู่ ใต้ฐานกระโหลก ข้อต่อของกระดูกคอแต่ละชิ้นนั้น จะมีเส้นเอ็นที่เกาะระหว่างกระดูก เพื่อให้ข้อต่อมีความมั่นคง และส่วนที่เป็นเส้นเอ็นนี้ก็จะแผ่ตัวเชื่อมไปกับกล้ามเนื้อคอที่แผ่มาบริเวณข้างๆ กกหู กล้ามเนื้อมัดลึกด้านหลังคอ เมื่อมีการบิดหมุนหรือยึดแน่น เกร็งตัวมากกว่าปกติก็จะทำให้ความตึงตัวเหล่านี้เกิดเป็นอาการปวดร้าวไปตามแนวของเยื่อหุ้มกล้ามเนื้อ หรือตามแนวการทอดผ่านของเส้นประสาทและเส้นเลือด จึงทำให้เกิดอาการต่างๆดังที่กล่าวข้างต้นได้เช่นเดียวกัน เป็นอย่างไรบ้างคะท่านผู้อ่าน เพียงปวดคอ กระบอกตาแทบไม่น่าเชื่อว่าจะมีต้นตอเชื่อมโยงมาจากกระดูกหน้าแข้งเลยที่เดียวค่ะ แล้วร่างกายของท่านล่ะคะเคยมีเสียงเตือนเหมือนเคสข้างต้นหรือเปล่า? หากมีก็อย่าปล่อยให้เรื้อรัง จนกลายเป็นลุกลามไปทั้งตัวนะคะ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นคงยากและใช้เวลานานในการดูแลรักษา อีกสิ่งหนึ่งที่อยากบอกท่านผู้อ่านก็คือ การดูแลร่างกายอย่างเดียวนั้นไม่ใช่การได้มาซึ่งสุขภาพดีอย่างแท้จริง อย่าลืมว่าการเป็นมนุษย์ได้สมบูรณ์ต้องประกอบกันทั้งร่างกายและจิตใจ จึงควรต้องดูแลจิตใจด้วย เพราะอาการเจ็บปวดของร่างกาย ถ้ามีภาวะเครียดก็จะทำให้ความเจ็บปวดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นดูแลกายให้สมดุลแล้ว อย่าลืมดูแลจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสนะคะเพราะ  จิตใจที่แจ่มใส ย่อมอยู่ในร่างกายที่แข็งแรงค่ะ แล้วพบกันฉบับหน้านะคะ
     

          ขอเชิญร่วม Workshop “Ariya of Life สุขภาพดีวิถีอริยะ” เรียนรู้การสร้างสรรค์เมนูอาหารอร่อยเป็นได้ทั้งยารักษาโรคและบำรุงสุขภาพ กับเชฟหมอนัทจาก Ariya Organic Café เรียนรู้การสร้างสมดุลโครงสร้างร่างกายด้วย Deep Muscle Exercise กับ Ariya Wellness Center ในวันที่ 29 กันยายน 2562 เวลา 10.00-13.00 น.@Ariya Organic Café ชั้น 1 Life Center (อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ถ.สาทร สำรองที่นั่ง 09-2326-9636 ฟรี....15 ท่านเท่านั้น
     

          ***ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณเพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) โทรศัพท์ 09-2326-9636 www.ariyawellness.com Facebook: Ariya Wellness Center สถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ***

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ