Lifestyle

ไหว้หลวงพ่อทันใจแล้วไปชมวิถีชุมชนปกาเกอะญอ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่อง/ภาพ โดย ประเสริฐ เทพศรี

          เมื่อคราวที่เดินทางมาที่ จ.ตาก ในงานแถลงข่าว “TAK SKY TRAIL วิ่งใต้ฟ้า หลังคาตาก” ณ เขื่อนภูมิพล จึงมีโอกาสได้ไปไหว้พระขอพร และเที่ยวชมวิถีชุมชนที่น่าสนใจภายใน จ.ตาก วัดแรกที่ได้ไปชื่อว่า "วัดพระบรมธาตุบ้านตาก" ตั้งอยู่ที่ ต.เกาะตะเภา อ.บ้านตาก เดิมวัดแห่งนี้เป็นเมืองตากเก่า ก่อนที่จะย้ายตัวเมืองไปอยู่ที่ ต.ระแหง ตัวเมืองตากในปัจจุบัน ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร อันมีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี เสด็จล่องเรือไปเมืองลำพูน หยุดพักบริเวณแห่งนี้ พบว่าเป็นเมืองร้าง จึงได้สั่งให้ฟื้นฟูบูรณะเมืองแห่งนี้ จนกลายเป็นชุมชนเมืองตาก

ไหว้หลวงพ่อทันใจแล้วไปชมวิถีชุมชนปกาเกอะญอ

เจดีย์ชเวดากองของวัดมองจากมุมสูง

ไหว้หลวงพ่อทันใจแล้วไปชมวิถีชุมชนปกาเกอะญอ

หลวงพ่อทันใจของวัดพระบรมธาตุบ้านตาก

          “วัดพระบรมธาตุบ้านตาก” ยังปรากฏในศิลาจารึของพ่อขุนรามคำแหง ที่ทรงกระทำยุทธหัตถี ชนะศึกเจ้าเมืองฉอด บนเนินเขาใกล้กับพระบรมธาตุ ประมาณ 500 เมตร ต่อมา พระครูพิทักษ์พระบรมธาตุ (ทองอยู่) ได้ไปนมัสการพระธาตุชเวดากอง ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า ท่านจึงได้จำมาก่อสร้างองค์พระเจดีย์ เหมือนเจดีย์ชเวดากองล้อมคลุมองค์เก่าไว้ ปิดทองสวยงาม ต่อมาทางวัดมีความประสงค์จะสร้างพระพุทธรูปขึ้นสัก 1 องค์ และศรัทธาญาติโยมได้พร้อมใจร่วมกันนุ่งขาว ห่มขาว เริ่มก่อพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน ปางมารวิชัย หน้าตัก 32 นิ้ว และลงรักปิดทองคำเปลว โดยได้ตั้งชื่อว่า “พระเจ้าทันใจ” เพราะทำเสร็จเร็วทันใจ ต่อมามีญาติโยมได้มาตั้งจิตอธิษฐาน ขออะไรก็ได้สมความปรารถนา ทุกสิ่งทุกประการ นับเวลาจนปัจจุบันประมาณ 200 กว่าปีมาแล้ว

ไหว้หลวงพ่อทันใจแล้วไปชมวิถีชุมชนปกาเกอะญอ

ศิลปะแบบล้านนา เต็มไปด้วยสีม่วงตัดทอง         

ไหว้หลวงพ่อทันใจแล้วไปชมวิถีชุมชนปกาเกอะญอ

สิงห์สีม่วงวัดไทยสามัคคี

          ไหว้ขอพรพระเจ้าทันใจแล้วเราออกเดินทางไปอีกวัด “วัดไทยสามัคคี” เดิมมีชื่อว่า “วัดเหนือ” หรือ “วัดใหม่” ตั้งอยู่บ้านแม่กื้ดหลวง หมู่ 1 ต.แม่กาษา อ.แม่สอด สร้างเมื่อปี 2482 ถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่อีกแห่ง ตั้งอยู่ในหมู่บ้านไทยสามัคคี ซึ่งเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวนำร่องไกลจากตัว อ.แม่สอด มาทาง อ.แม่ระมาด เพียง 8 กม. วัดแห่งนี้มีความโดดเด่นในเรื่องความงดงามด้านประติมากรรมและสถาปัตยกรรมตามแบบล้านนา ตลอดจนถึงวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี ธรรมชาติป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ วิถีชีวิตชาวบ้านชนบทและความมีไมตรีจิตที่ดีของชาวบ้านที่นี่ ทำให้ทุกวันนี้วัดไทยสามัคคีเป็นที่รู้จักของพุทธศาสนิกชนทั่วไปตลอดจนถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาทำบุญและท่องเที่ยวกันอย่างไม่ขาดสาย สิ่งสำคัญวัดนี้ยังมี “พระเจ้าทันใจรัตนมุงเมือง”

ไหว้หลวงพ่อทันใจแล้วไปชมวิถีชุมชนปกาเกอะญอ

หลวงพ่อทันใจของวัดไทยสามัคคี

          “พระเจ้าทันใจรัตนมุงเมือง” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกพระเจ้าทันใจนั้น เพราะพิธีการสร้างไม่เหมือนพระพุทธรูปทั่วไป กล่าวคือ การทำพิธีปั้นองค์พระ มีกำหนดการที่สลับซับซ้อนมากมายตามพิธีการแบบล้านนาไทย ที่พระอริยสงฆ์ได้ผูกไว้ เช่น กำหนดเวลาในการปั้นต้องแล้วเสร็จภายในวันเดียว ก่อนพระอาทิตย์ตกดิน ตลอดพิธีปั้นต้องทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ตลอดจนเสร็จแล้วต้องทำพิธีเบิกเนตรตลอดทั้งคืนตามพิธีล้านนา วัสดุอุปกรณ์ในการจัดสร้าง ต้องสะอาดบริสุทธิ์ พร้อมมวลสารต่างๆ อันเป็นมงคล ที่แปลกคือ พระเจ้าทันใจมีหัวใจ และอวัยวะภายใน ที่ทำด้วยเงินแท้อยู่ข้างใน พร้อมทั้งกระดูกที่ทำจากไม้มงคลของล้านนา พระเจ้าทันใจ หรือ หลวงพ่อทันใจ จึงเป็นที่เคารพกราบไหว้สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป เมื่อมีโอกาสแล้วมักจะมากราบขอพรให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต มีความเชื่อว่า จะสำเร็จโดย “ทันใจ"

          ....เบื่อวัดกันยังครับ ลองเปลี่ยนไปเที่ยว “ชุมชน” กันบ้าง...

ไหว้หลวงพ่อทันใจแล้วไปชมวิถีชุมชนปกาเกอะญอ

เด็กๆ ในชุมชนปกาเกอะญอใส่ชุดประจำเผ่า

          “ชุมชนปกาเกอะญอ” ที่บ้านป่าไร่เหนือ อ.แม่ระมาด จ.ตาก เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ที่ยังคงเอกลักษณ์วิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้ คือ บรรยากาศที่บ้านป่าไร่เหนือ ใน อ.แม่ระมาด ได้รับการส่งเสริมให้เข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวบนพื้นฐานชุมชนเพื่อชุมชน รูปแบบโฮมสเตย์ท่ามกลางสายน้ำและป่าไม้ จึงยังคงวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักไม้ไผ่ยกพื้นสูง ที่มุงด้วยใบตองตึง รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน ส่วนงานฝีมือที่เกี่ยวกับการตัดเย็บและถักทอเสื้อผ้าของชาวปกาเกอะญอ ก็นำมาสาธิตให้นักท่องเที่ยวได้ชม นอกจากนี้ยังมีการบอกเล่าถึงความเชื่อที่ดีงามระหว่างคนกับต้นไม้ ที่เรียกว่า “ต้นสะดือ” ด้วย เพราะเป็นต้นไม้ต้นเดียวในชุมชน ที่เปรียบเสมือนผู้พิทักษ์รักษาทุกชีวิตให้เติบโตอย่างแข็งแรง โดยที่มาของต้นสะดือ เมื่อก่อนเมื่อมีทารกเกิดใหม่ก็จะนำรก (สายสะดือ) นำใส่กระบอกไม้ไผ่แล้วนำไปแขวนไว้บนต้นไม้ต้นนี้

          ยังมีอีกหนึ่งวัด ที่มีความสวยงามได้รับอิทธิพลศิลปะแบบไทยใหญ่ของพม่า จึงมีความงดงาม และวิจิตรบรรจง ขอติดเอาไว้ก่อน ค่อยมานำเสนอให้ท่านได้อ่านกันอีกในคราวหน้า สำหรับสัปดาห์นี้หากใครมีโอกาสได้เดินทางไปยัง จ.ตาก อย่าลืมไปไหว้ขอพร “หลวงพ่อทันใจ” ของทั้งสองวัดนี้นะครับ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ